ในท่ามกลางการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่มีมากถึง 14 ประเด็น ที่ร่วมถึงเรื่อง “การปรับโครงสร้างของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” อยู่ด้วย จึงควรจะต้องทบทวนถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ต้องตอบสนองต่อประชาชน ก็คือการกำหนดทิศทาง นโยบายการบริหารเงินกองทุนให้สามารถจัดหาบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตแก่ประชาชนผู้มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยโครงสร้างปัจจุบัน มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 30 คน ประกอบด้วย

มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน

ปลัดกระทรวง และ ผอ.สำนักงบประมาณ ร่วม 8 คน

ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 คน

ผู้แทนองค์กรเอกชน 5 คน

ผู้แทนวิชาชีพ และสมาคม รพ.เอกชน ร่วม 5 คน

ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง 7 คน

เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเลขานุการ

เมื่อพิจารณาโดยไม่นับรวมประธาน คือ รมต.กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการที่ถือว่าเป็นกลางจะพบว่ามีเสียงของตัวแทนของประชาชนและท้องถิ่นอยู่ 8 ท่าน คิดเป็น ร้อยละ 28 ซึ่งมีเท่ากับเสียงของผู้จัดบริการ คือตัวแทนวิชาชีพ ร่วมไปถึงปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วม 8 คน คิดเป็น ร้อยละ 28 มีตัวแทนของผู้บริหารจัดการกองทุน 3 คน ได้แก่เลขาธิการ สปสช. ปลัดกระทรวงแรงงานฯ และปลัดกระทรวงการคลัง คิดเป็น ร้อยละ 10 และส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนส่วนราชการที่เหลืออีก 10 ท่าน คิดเป็น ร้อยละ 34 ตามภาพประกอบ

นับได้ว่าโครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน มีความสมดุลของตัวแทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของการกำหนดทิศทางนโยบายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ที่มีมาตรฐานอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มครองความยากจนที่เกิดจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน เช่น การอนุมัติร่างงบประมาณประจำปีของกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี การอนุมัติรูปแบบการจ่ายค่าบริการประเภทต่างๆ การอนุมัติแผนงานโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนระบบที่เกี่ยวข้อง และการกำกับติดตามประเมินผลการทำงานของเลขาธิการสปสช. เป็นต้น

จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเพิ่มตัวแทนของภาคผู้จัดบริการเข้ามาจนทำให้มีสัดส่วนมากกว่าเดิม เพราะจะทำให้เสียสมดุลเชิงโครงสร้างของคณะกรรมการนี้ไปจากเดิม เป็นการเพิ่มอำนาจผู้จัดบริการ ลดทอนอำนาจภาคประชาชน จนอาจกลายเป็นคณะกรรมการของผู้จัดบริการแทน ซึ่งเป็นการบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ในการตรา พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้.