บอร์ด สปสช.หนุน “แนวทางปฏิรูปห้องฉุกเฉิน” แยกจัดบริการนอกเวลาราชการ ผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง ใน 34 โรงพยาบาลนำร่อง ปี 63 ยกคุณภาพบริการ พร้อมเพิ่มรายการบริการใหม่ “บริการผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงนอกเวลาราชการ” ดูแลประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่ม ลดความขัดแย้งวินิจฉัยกรณีฉุกเฉิน
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอการใช้สิทธิบริการสาธารณสุข ตามนโยบาย “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ” นำเสนอโดย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นายอนุทิน กล่าวว่า ตามข้อเสนอ “แนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน” โดยกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 มีหลักการเพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วน ได้รับบริการมีคุณภาพมากขึ้น แยกการบริการเจ็บป่วยไม่รุนแรงและเจ็บป่วยทั่วไปออก และเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการที่ไม่ถึงเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนมีสิทธิเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ โดยมอบให้ สปสช.ร่วมพัฒนาระบบในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการบริการผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการ
ที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน โดยมีการออกประกาศตามข้อ 10 วรรคสอง ของข้อบังคับมาตรา 7 กำหนดเพิ่ม “เหตุสมควรอื่นเพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินและเพิ่มคุณภาพในการใช้บริการนอกเวลาราชการ” เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน กำหนดเงื่อนไขจัดบริการนอกเวลาราชการเฉพาะหน่วยบริการเฉพาะที่มีศักยภาพตามแนวทางบริการฉุกเฉินคุณภาพ โดยแยกจัดบริการเป็น 2 ห้องชัดเจน ตามมาตรฐาน คือ ห้องฉุกเฉินคุณภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีแดงและสีเหลือง) และห้องฉุกเฉินไม่รุนแรงเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลา พร้อมแยกระบบข้อมูลบริการนอกเวลาราชการ
นอกจากนี้ได้เพิ่มค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการเป็นรายการบริการใหม่ โดยกำหนดอัตราชดเชยค่าบริการ 150 บาทต่อครั้ง ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 (10 เดือน) คาดว่าจะมีการรับบริการประมาณ 1.05 ล้านครั้ง หรือร้อยละ 10 ของการรับบริการผู้ป่วยนอก ใช้งบประมาณไม่เกิน 157.50 ล้านบาท โดยจะเป็นการใช้เงินกองทุนรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมในการดำเนินการ
ด้าน นพ.การุณย์ กล่าวว่า การจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยในปีงบประมาณ 2563 มีโรงพยาบาลร่วมนำร่องจำนวน 34 แห่ง ซึ่งผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
“สปสช.มีนโยบายสนับสนุนการปฏิรูปห้องฉุกเฉินตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ห้องฉุกเฉินเป็นพื้นที่ดูแลเฉพาะรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น ขณะเดียวกันเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากช่วยลดความแออัดในห้องฉุกเฉินแล้วยังลดความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติในความเห็นที่ไม่ตรงกันกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน” นพ.การุณย์ กล่าว
- 55 views