เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ภสท) ได้สรุปข้อมูลจากเวทีเสวนาเสวนาเรื่อง “เภสัชกร และการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้องและปลอดภัย” เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2562 ที่เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยได้สรุปเป็นข้อเสนอแนะสู่สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย ดังต่อไปนี้
1.กัญชา มีสารสำคัญหลายตัว แต่สารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลักๆที่น่าสนใจในขณะนี้ มี 2 ตัว คือ THC ซึ่งทำให้เกิดความมึนเมามีมากในกัญชา กับ CBD ซึ่งไม่ทำให้มึนเมามีมากในกัญชง สารทั้ง 2 ตัว มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแตกต่างกัน และมีข้อควรระวังในการใช้ โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิผล และความปลอดภัยเป็นสำคัญ ในปัจจุบัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดกัญชาเป็นส่วนประกอบ เริ่มจาก การคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญที่ต้องการในปริมาณที่คงที่และเหมาะสม ศึกษาพัฒนาวิธีการสกัด เพื่อให้ได้สารสำคัญคือ THC และ CBD ในปริมาณสูง ลดปริมาณสารปนเปื้อน โดยต้องจำกัดเชื้อก่อโรค และโลหะหนักตามมาตรฐานอ้างอิง เช่น แคดเมี่ยม สารหนู ปรอท ตะกั่ว รวมถึงสารปราบศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลง ควบคู่ไปกับวางระบบการผลิตและควบคุมคุณภาพ
2.กัญชา มีทั้งคุณและโทษ มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า สามารถนำกัญชามาใช้ได้ในอาการต่อไปนี้ คือ ในผู้ป่วยมะเร็งช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น จากการลดอาการปวด ลดการอาเจียน ช่วยให้นอนหลับ, สามารถช่วยให้อาการในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และสมองเสื่อม(อัลไซเมอร์) ดีขึ้น ฯลฯ อย่างไรก็ตามพบว่า การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาอาจมีอาการข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง มีอาการมึนเมา อาเจียน หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ ที่จะสรุปได้ว่า สามารถนำกัญชามาใช้ได้ในการรักษาโรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังต่างๆ หากพบอาการข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ควรรายงานตรงไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
3.แนวทางเสนอแนะที่จะนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์สำหรับประเทศไทย คือ การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาจนได้แนวทางการใช้ที่เหมาะสมในประเทศไทยด้วยองค์ความรู้ที่ผสมผสานระหว่างเภสัชกรรมทั้งแผนปัจจุบัน และแผนไทย ซึ่งต้องมีการกำหนดทิศทาง และการวางแผนงาน Roadmap ที่เหมาะสม
4.แนวโน้มการพัฒนาเภสัชภัณฑ์ที่มีสารสกัดกัญชาในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ คือ มีโอกาสจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชาเป็นยา ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชงเป็นยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง
จึงควรมีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างเหมาะสม และมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ
5.การพัฒนายาจากกัญชาต้องมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีความปลอดภัย และมีความคงตัว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความคงตัว (Stability) เพื่อให้ทราบอายุที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ โดยปัจจุบันใช้การศึกษาผ่านสภาวะเร่ง เนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่กว่าจะเป็นยากัญชาจำเป็นต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ ทั้งในด้านพฤกษศาสตร์ , เทคโนโลยีการผลิตและสกัด , พันธุศาสตร์ , เภสัชวิทยา , การควบคุมคุณภาพยา และกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กัญชาเป็นพืชที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไวต่อแสง จึงต้องมีการควบคุมมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามหลักการทางเภสัชกรรมเทคโนโลยี ( Pharmaceutical Technology ) และเภสัชอุตสาหการ (Pharmaceutical Industry)
6.การให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องกับประชาชนและสังคมปัจจุบัน ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสกัด เช่น การสกัดด้วยตัวทำละลายที่ต่างชนิดกัน ทำให้ได้ปริมาณสารสำคัญที่แตกต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในด้านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ทางเภสัชวินิจฉัย (Pharmacognosy) ร่วมด้วย ในส่วนของภาคประชาชน ต้องทำความเข้าใจว่า กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษ ควรเสพสื่อด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรแชร์ข้อมูล หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกร
7.ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ของตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ เช่น ตำรับศุขไสยาสน์ , อภัยสาลี , อัคคินีวคณะ ฯลฯ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการใช้กัญชาทางการแพทย์
กล่าวโดยสรุป การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์จะเป็นบทพิสูจน์ระบบสาธารณสุข อุปสรรคที่เกิดขึ้น อาจเป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย โดยต้องอาศัยองค์ความรู้ทางเภสัชกรรม ความร่วมมือของสหวิชาชีพทางสาธารณสุข ความเข้าใจและความพร้อมของผู้คนในสังคม เพื่อให้เกิดการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับธีมของวันเภสัชกรโลก
“Safe and Effective Medicines for All”
อนึ่ง เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรที่เป็นผู้แทนของวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย และในเวทีโลก ตลอดจนเป็นองค์กรผู้แทนของเภสัชกรในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ ได้เล็งเห็นว่า “กัญชา” เป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จึงได้จัดงานเสวนาดังกล่าว เพื่อให้ความรู้สู่ประชาชนให้ตระหนักรู้ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ ในหัวข้อ “เภสัชกร และการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้องและปลอดภัย” เนื่องในวันเภสัชกรโลก 25 กันยายนของทุกปี โดยสหพันธ์สมาคมเภสัชกรรมโลก หรือ International Pharmaceutical Federation (FIP) ได้กำหนดให้วันที่ 25กันยายน ของทุกปี เป็นวันเภสัชกรโลก (World Pharmacists Day) โดยธีมปีนี้ คือ “Safe and Effective Medicine for all” คือ ทุกคนต้องได้ใช้ยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
- 399 views