European Journal of Public Health ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับสากล ฉบับล่าสุดเพิ่งตีพิมพ์บทความวิชาการเกี่ยวกับกัญชาหลายเรื่องจากประเทศต่างๆ สดๆ ร้อนๆ ครับ

มาดูกันไหมว่าเค้ามีเนื้อหาอะไรกันบ้าง?

เมืองไทย นักการเมืองและนักกฎหมายบางคนโฆษณากันหลายครั้งว่า ถ้าปลดล็อคกัญชาเสรี ยาเสพติดอื่นๆ และการค้าขายในผิดกฎหมายจะลดลง...

จริงหรือไม่?

บทความในวารสารนี้ได้นำเสนอว่า จากการติดตามของประเทศในยุโรปบอกได้เพียงว่า ข้อมูลที่มีนั้นชี้ให้เห็นว่าการปลดล็อคกัญชา ไม่ได้ช่วยลดอาชญากรรม และการค้าขายในตลาดมืดเลย (1)

ทีนี้เราก็อาจยังจำได้ว่า มีการเล่นลิ้นในหมู่คนเรียกร้องโหยหากัญชาว่า การมีกฎหมายและนโยบายแข็งกร้าวต่อคนเล่นยานั้นไม่ได้ช่วยลดยาเสพติดได้ดีนัก ดังนั้นน่าจะเปิดเสรี เอาใต้ดินมาบนดิน จะได้คุมง่ายๆ จะดีกว่าไหม?

ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน เตือนกันอย่างหนักว่า การเปิดเสรีนั้นหมายถึงใช้กันอย่างอิสระ และนำมาสู่การค้าขายเชิงพาณิชย์ จัดเป็นหนทางที่อันตรายยิ่ง ดังจะเห็นได้จากบทความวิชาการที่เผยแพร่ดังนี้

"...While the ‘war against drugs’, and a hard policy against drug users, has not shown to reduce the harmful effects of cannabis use, legalization in the meaning of opening up for commercial interest must be considered a dangerous way to go..." (2)

นอกจากนี้ในบทบรรณาธิการของวารสารฉบับนี้ยังอ้างอิงถึงงานวิจัยของ DiFiori และคณะ ที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกอย่าง Lancet Psychiatry ปี ค.ศ.2019 นี้เอง ว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ในพื้นที่ต่างๆ ของยุโรป ที่มีกัญชาที่เข้าถึงได้ง่าย จะพบประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างมาก (3)

สนับสนุนสัจธรรมที่ว่า สิ่งที่ไม่ดีนั้น หากมีการเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการที่เอื้อให้เกิดการตลาดค้าขายกัญชานั้น ย่อมทำให้เกิดการใช้ที่เพิ่มขึ้น และเกิดผลกระทบทางลบตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน ฯลฯ

คราวนี้ ถ้าไม่พูดถึงประสบการณ์ของประเทศอื่นในการประกาศนโยบายกัญชาทางการแพทย์ก็คงจะตกหล่นไป

ประเทศไทยโฆษณาเหลือเกินว่ามีสรรพคุณหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอามาแก้ปวดเรื้อรัง

ประเทศมอลต้าก็เช่นกัน เค้าเริ่มปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ ปี 2018 และกำลังถูกเรียกร้องให้เสรีกัญชาขณะนี้

สิ่งที่เค้าพบเจอหลังประกาศปลดล็อคทางการแพทย์ไปคือ กัญชาทางการแพทย์ราคาสูง และเข้าถึงได้ยากกว่าการซื้อหาในตลาดมืดของกระบวนการค้าขายยาเสพติดผิดกฎหมายตามท้องถนน หรือพูดง่ายๆ คือ ตลาดมืดดี๊ด๊า เงินสะพัดจากการค้าขายกัญชา

หลังปลดล็อคกัญชา พบว่าไม่มีหลักฐานใดเลยที่พิสูจน์ได้ว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้วจะช่วยให้ลดอาการปวดได้ดังที่ตั้งเป้าไว้จากการปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ (4)

ในประเทศเบลเยี่ยมล่ะ เป็นไงบ้าง?

นักวิชาการในประเทศเค้าค่อนข้างโน้มเอียงคิดไปในทางที่สนับสนุนให้ลองปลดล็อคเสรีดู เผื่อจะมีสถานการณ์ดีขึ้น

ปัจจุบันเบลเยียมให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ โดยระบุว่ามีข้อบ่งชี้เพียงโรคเดียว ทั้งนี้นโยบายระดับชาติยังมองว่ากัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

สถานการณ์ของเค้าหลังปลดล็อคทางการแพทย์ พบว่า มีการลักลอบขายกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชามากมาย โดยมีจำนวนมากที่มีสาร THC ซึ่งทำให้ประสาทหลอน เจือปนอยู่ในสัดส่วนที่สูง โดยพบว่าสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางอย่างเยาวชน และมักตรวจจับหรือค้นเจอในพวกปาร์ตี้ และปะปนไปกับการใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ

นอกจากนี้เบลเยี่ยมเองก็ยอมรับว่า จำนวนคนที่เสพกัญชาแล้วขับยานพาหนะนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการต้องมานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากผลกระทบจากกัญชา รวมถึงจำนวนคนที่เสพติดกัญชาและต้องหาทางรักษาอาการเสพติด (5)

อ่านกันมาถึงตอนนี้ หวนมาคิดถึงเมืองไทย

กัญชานั้น มีสารเคมีบางชนิดที่น่าจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคบางอย่าง

จะพิสูจน์ จะวิจัย เพื่อมาทำเป็นยารักษาโรค ก็อยากสนับสนุนให้ทำกันครับ แต่ต้องทำตามขั้นตอน ตามมาตรฐานสากล ตามมาตรฐานวิชาชีพทางการแพทย์

ต้องใช้เวลา ต้องไม่ใจร้อน ไม่บุ่มบ่าม

และเป็นคนละเรื่องกับการนำ"กัญชา"มาใช้ทางการแพทย์โดยไม่ได้รับการพิสูจน์ตามมาตรฐานแล้วอ้างว่าเป็นประสบการณ์ตรงจากคนที่ลองใช้ การอ้างแบบที่ว่านั้นไม่ใช่มาตรฐานที่ยอมรับได้ทางการแพทย์

สารเคมีที่สกัดจากกัญชา ไม่ใช่ตัวกัญชาที่ปลูกขึ้นมาแล้วจะนำมาใช้ได้เลย ไม่ใช่ใครคิดจะนำมาบดมาผลิตเป็นน้ำมันขวดขายกันเกลื่อนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ไม่มีสารใด ยาใด ที่จะมีสรรพคุณรักษาสารพัดโรคได้ ใครอ้างเช่นนั้น ไม่วิกลจริตก็หลอกลวง

เจ็บป่วยไม่สบาย โปรดปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลตัวท่าน ใคร่ครวญไตร่ตรองข้อมูลให้ดีครับ

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อทุกคนครับ

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

1. Apfel F. Alice Rap Policy Brief 5—Cannabis—From Prohibition to Regulation.

2. Allebeck P. Cannabis: harmless recreation or dangerous drug? European Journal of Public Health, Vol. 29, No. 3, 387.

3. Di Forti M, Quattrone D, Tom P, et al. The contribution of cannabis use to variation in the incidence of psychotic disorder across Europe (EU-GEI): a multicentre case-control study. Lancet Psychiatry 2019;6:427–36.

4. Mamo JJ et al. Cannabis in Malta—big business or laxing restrictions? European Journal of Public Health, Vol. 29, No. 3, 390–391.

5. Lues X et al. A new wave of marijuana legalization: country case study from Belgium. European Journal of Public Health, Vol. 29, No. 3, 388.