วลีข้างต้นคือการคาดเดาของผมจากข้อมูลวิชาการบางอย่างที่กำลังชี้ให้เห็นแนวโน้มเรื่องนี้
หากดูผลสำรวจเหตุผลในการใช้กัญชาในการรักษาการเจ็บป่วยไม่สบาย ส่วนใหญ่แล้วประชาชนในประเทศที่มีการอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์และ/หรือเสรีกัญชา มักจะอ้างว่าใช้เพื่อลดอาการปวด จะปวดหัวปวดหลังปวดบ้าปวดบออะไรก็แล้วแต่
หลักฐานการวิจัยที่มีการกล่าวอ้างถึงนั้นมีจำกัดมาก และไม่ได้มาตรฐานที่ดีพอที่แพทย์จะฟันธงบอกได้ว่า กัญชานั้นรักษาอาการปวดได้จริง เพราะมักเป็นวิจัยที่ไม่ได้มีการสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเป็นยามาตรฐาน แต่มักเป็นวิจัยเอาสารสกัดกัญชาไปเทียบกับยาหลอก
แปลง่ายๆ ว่า ต่อให้ผลวิจัยออกมาบอกว่า กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชานั้นสามารถลดปวดได้ดีกว่ายาหลอก นั่นก็มิได้บอกว่าดีกว่ายาแก้ปวดมาตรฐาน
กระแสความเชื่อว่ากัญชานั้นดีอย่างโน้นอย่างนี้ ทั้งสร้างรายได้ ปลอดภัย และมีสรรพคุณนั้นถูกจุดติดและลามไปจนหาทางแก้ไขควบคุมได้ยาก ไม่ใช่แค่แก้ปวด แต่แก้โรคาพยาธิร้อยแปดพันเก้า
คราวนี้ลองหันมาดูว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเค้าเรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เขาหลงผิดทำมากว่าสองทศวรรษ
เอาเรื่องกัญชากับอาการปวดละกัน เพราะใช้กันมากสุด
1. Cochrane systematic review ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ที่ได้รับการเชื่อถือมากที่สุดในโลก ทำการทบทวนเรื่องกัญชากับสรรพคุณลดอาการปวดจากระบบประสาท (neuropathic pain) เสร็จสิ้นและเผยแพร่มาในปี ค.ศ.2018 สรุปชัดเจนว่า "There is a lack of good evidence that any cannabis-derived product works for any chronic neuropathic pain."
แต่สุดท้ายเรายังเห็นได้ว่า มีทั้งหมอ หน่วยงานสาสุข นักการเมือง กลุ่มคนติดยาทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงสาวกลัทธิเขียว ยังโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องนี้กันอย่างบ้าคลั่ง แถมมีการตีตราบรรจุว่าการลดปวดนี้เป็นสรรพคุณที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง จะเอามาใช้ทางการแพทย์
2. Tuttle และคณะ เค้าทำการศึกษาติดตามพบว่า งานวิจัยที่ศึกษาสรรพคุณกัญชาเพื่อลดปวดจากระบบประสาทนั้น สรรพคุณที่กล่าวอ้างว่าดีกว่ายาหลอกนั้นลดลงเรื่อยๆ
กล่าวคือ ในปี ค.ศ.1990 กัญชาดูจะได้รับการประเมินโดยคนไข้ว่าลดปวดได้ดีกว่ายาหลอกราวร้อยละ 16.5 หรือลดคะแนนการปวดได้ 1 แต้มดีกว่ายาหลอก แต่ในปี ค.ศ.2013 กลับพบว่าลดปวดได้ดีกว่ายาหลอกเหลือเพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้น
สิ่งที่ชี้ให้เห็นคือ สรรพคุณที่กล่าวอ้างว่าลดปวดได้ โดยเทียบกับยาหลอกนั้น ไม่เพียงพอที่จะคนที่มีสติสัมปชัญญะที่ดีจะนำมารีบร้อนบุ่มบ่ามใช้รักษาคนไข้ เพราะประโยชน์ที่เกิดนั้นอาจมีน้อยหรือไม่มีจริง แต่โทษนั้นมีแน่ๆ ทั้งในเรื่องสารเคมีที่นำเข้าสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็น ตลอดจนความเสี่ยงจากการมีปฏิกิริยากับยามาตรฐานหรือยาอื่นๆ แถมรู้ทั้งรู้ว่ามันเป็นสารเสพติดและมีผลต่อระบบจิตประสาท รวมทั้งการเสียเงินทองซื้อของที่ไม่ดีจริงไม่ว่าจะเป็นการควักกระเป๋าจ่ายเองหรือจะผลักดันให้กองทุนสุขภาพจ่ายให้ก็ตาม
ทอง...ยังไงก็เป็นทอง แต่ของปลอม...ยังไงก็เป็นของปลอม เพียงแต่ใช้เวลาในการพิสูจน์หรือเรียนรู้
ที่เล่ามานั้น ชี้ให้เห็นว่า แค่เรื่องการลดอาการปวด เค้าใช้เวลาสังเกตการณ์ถึง 23 ปี จนเห็นแนวโน้มว่า เฮ้ย...มันอาจเป็นของหลอกเด็ก
แต่พอหันมาดูปรากฏการณ์ในบ้านเมืองที่อวดอ้างตีตรากันร้อยแปดพันเก้า ประชาชนหลงเชื่อยังไม่หนักหนาเท่ากับการที่ทั้งวิชาการ การเมือง และฝ่ายบริหารจะไปหลงเชื่อคำคน จนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ออกนโยบายวิ่งหน้าตั้งเข้าสู่กับดักที่เห็นอยู่แล้วว่ามันเป็นเหว
สองทศวรรษคงไม่เพียงพอที่จะกู้คืน
อาจต้องเผื่อไว้ให้สามทศวรรษ เพื่อให้กระจ่าง และหาทางลดผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม รวมถึงลูกหลาน
ประชาชนที่รู้เท่าทันในเรื่องนี้ ควรเตรียมรับมือ ดูแลลูกหลานให้ดี เพราะพวกเขาต้องใช้ชีวิตในสังคมอุดมกัญชาครับ
ด้วยความปรารถนาดีต่อทุกคน สวัสดีวันอาทิตย์ครับ...
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
อ้างอิง
1. Mücke M, Phillips T, Radbruch L, Petzke F, Häuser WMücke M, Phillips T, Radbruch L, Petzke F, Häuser W. Cannabis-based medicines for chronic neuropathic pain in adults. Cochrane Database of Systematic Reviews 2018, Issue 3. Art. No.: CD012182.DOI: 10.1002/14651858.CD012182.pub2.
2. Tuttle A. H., Tohyama S., Ramsay T., Kimmelman J., Schweinhardt P., Bennett G. J., et al. . (2015). Increasing placebo responses over time in U.S. clinical trials of neuropathic pain. Pain 156, 2616–2626. 10.1097/j.pain.0000000000000333
- 19 views