ใครจะให้ข่าวเพื่อหวังงบไปทำศึกษาวิจัย ใครจะให้ข่าวเพื่อหวังประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือใครจะให้ข่าวเพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่ประการใด ผมคงไม่อาจล่วงรู้ได้ และไม่สนใจที่จะไปขุดคุ้ยค้นหา
แต่วันนี้จำเป็นต้องมาเล่าข้อเท็จจริงจากความรู้วิชาการเรื่องกัญชาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากล เพราะที่ผมสนใจคือความเคลื่อนไหวของรัฐที่จะผลักดันนโยบายเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งจะมีผลกระทบระยะยาวต่อประชาชนในสังคม รวมถึงลูกหลานของผม และของทุกคนในอนาคต
ข่าวประชาสัมพันธ์ที่แพร่มาจากหลายต่อหลายแหล่ง สื่อให้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจกันว่า กัญชานั้นมีสรรพคุณเลิศเลอนั้น จะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด เชื่อได้หรือไม่ หรือดูแค่หน้าตา ตำแหน่งที่อ้าง ก็เชื่อกันไปหมดแล้ว โดยลืมนึกถึงสัจธรรมในโลกนี้ว่า ไม่มีอะไรหรอกที่ดีเว่อร์จนไม่มีผลเสีย หรือเราพูดง่ายๆ ว่า ไม่มีอะไรหรอกที่ดีไปหมด และไม่มีอะไรหรอกที่แย่ไปหมดจนหาจุดดีไม่ได้เลย
อ้างกันเยอะว่าประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการที่นำกัญชามาแก้ “ปวด” แก้ “อ้วก” และแก้ “เกร็ง”
วันนี้จะมาตีแผ่ให้ดูว่า แก้ปวด แก้อ้วก แก้เกร็งนั้น จริงไหม? ประการใด? ข้อควรระวังคืออะไร? และเหตุใดจึงนำมาจั่วหัวบทความว่า ให้ระวังโง่จนเจ็บ หากไม่ดูตาม้าตาเรือ
ขอเกริ่นไว้ก่อนว่า ผมไม่สนใจงานวิจัยที่ทำแค่ในห้องทดลอง ในหลอดทดลอง ในสัตว์ หรือในมนุษย์ โดยไม่เสร็จสิ้นกระบวนการตามมาตรฐานการวิจัยระดับสากล ดังนั้นคำกล่าวจากไหนหรือจากใครก็ตาม ที่มาเรียกร้องให้ผลักดันนโยบายสาธารณะโดยให้ลืมมาตรฐานสากล แล้วเอาเฉพาะงานวิจัยจากประเภทไม่เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าวมาใช้เลยนั้น ผมจะไม่นำมาพิจารณาเด็ดขาด และจะถือว่าเรียกร้องโดยไม่ถูกต้องเหมาะสม เพราะนโยบายสาธารณะนั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนคนหมู่มาก ต้องยึดตามหลักฐานวิชาการที่ได้มาตรฐานสากล อันทำให้มั่นใจขึ้นในเรื่องความถูกต้อง และความปลอดภัย ซึ่งเกิดจากขั้นตอนการศึกษาวิจัยที่รัดกุม ขจัดอคติจากปัจจัยต่างๆ และมีการทำซ้ำเพื่อตรวจสอบได้ แม้จะไม่มีงานวิจัยใดเลยที่สมบูรณ์แบบ แต่สุดท้ายคนทั่วโลกก็ยังยอมรับมากกว่าการที่จะอ้างเอาสารเคมี หยูกยา หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการมาตรฐานดังกล่าวมาใช้กับคน ซึ่งมีชีวิตจิตใจ หรือแม้แต่กับสัตว์ซึ่งก็มีกระบวนการวิจัยมาตรฐานกำกับทั้งด้านวิทยาศาสตร์และจริยธรรมเช่นกัน
Allan GM และคณะ ตีพิมพ์ผลการวิจัยทบทวนงานวิชาการทั่วโลกอย่างเป็นระบบ ในวารสาร Canadian Family Physician เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เอง โดยทำการทบทวนงานวิจัย 1,085 ชิ้น พบว่ามี 31 ชิ้นที่เป็นรูปแบบการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งถือเป็นระดับความน่าเชื่อถือสูงเมื่อเทียบกับงานวิจัยรูปแบบอื่นๆ ซึ่งแต่ละชิ้นงานนั้นคัดเลือกเฉพาะงานวิจัยที่ทำการทดสอบเปรียบเทียบผลของกัญชาในการแก้อาการต่างๆ ทั้งเรื่องปวด เกร็ง อ้วก และมีการประเมินเรื่องอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง โดยออกแบบงานวิจัยที่รัดกุม โดยมีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างและมีกลุ่มควบคุม ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนั้นคือรูปแบบวิจัยมาตรฐานสากลที่เหมาะสำหรับการดูผลของสิ่งที่ทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นยา วัคซีน หรืออื่นๆ แตกต่างจากงานวิจัยประเภทอื่นที่เชื่อถือได้น้อยและไม่ควรฟังเสียงนกเสียงกานำมายึดถือเป็นสรณะ
ว่าด้วยเรื่องแก้ “ปวด”
มีงานวิจัย 23 ชิ้น ทำการศึกษาทั้งในเรื่องปวดเฉียบพลันจากโรคกระดูกและข้อและกล้ามเนื้อ ปวดเรื้อรัง ปวดจากพยาธิสภาพของประสาท และปวดจากโรคมะเร็ง
สรุปให้อ่านกันสั้นๆ ได้ว่า สารออกฤทธิ์จากกัญชานั้นไม่ได้ช่วยเรื่องอาการปวดแบบเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดจากโรคกระดูกและข้อก็ตาม ส่วนผลในการลดอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้นก็ไม่ชัดเจน
สำหรับอาการปวดแบบเรื้อรัง และปวดจากพยาธิสภาพของเส้นประสาทนั้น สารออกฤทธิ์จากกัญชาดูจะช่วยลดอาการปวดได้เฉลี่ย 0.4 ถึง 0.8 หน่วย (จากอาการปวดคะแนนเต็ม 10) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้กัญชา โดยมีการอภิปรายเปรียบเทียบให้กระจ่างชัดขึ้นด้วยว่า ผลของกัญชาในการลดอาการปวดนี้ เทียบเท่ากับการบริโภคแอลกอฮอล์ จนมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 0.08% ซึ่งในต่างประเทศนั้นถือว่าเป็นระดับที่ผิดกฎหมายหากไปขับรถ เพราะจะทำให้ความสามารถในการขับรถด้อยลง เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ดังนั้นจึงมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยแซวว่า ถ้าลดปวดได้เท่าแอลกอฮอล์ ก็แทบจะไม่ค่อยมีที่ยืนให้กัญชามาใช้ในสรรพคุณแก้ปวดนี้เลย
ยิ่งไปกว่านั้น พอไปวิเคราะห์เจาะลึก พบว่า สรรพคุณเรื่องแก้ปวดนั้นมักพบเฉพาะในงานวิจัยที่มีขนาดเล็ก และติดตามผลระยะสั้นกว่า 2 เดือน ในขณะที่งานวิจัยที่ติดตามผลไปนานกว่า 2 เดือนขึ้นไป พบว่ากลุ่มที่ได้สารออกฤทธิ์จากกัญชานั้นมีลักษณะอาการปวดไม่ต่างกับกลุ่มควบคุม ซึ่งอาจแปลความได้ว่า เลยสองเดือนไปก็จะไม่ได้ผลนั่นเอง จึงทำให้มีคำถามตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องประโยชน์ที่จะได้จริงเวลานำมาใช้ดูแลรักษา รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุนตั้งแต่การศึกษาวิจัยสรรพคุณทางการแพทย์ จนถึงการลงทุนระบบการผลิตเชิงธุรกิจอุตสาหกรรมสำหรับทางการแพทย์
ว่าด้วยเรื่องแก้ “คลื่นไส้อาเจียน”
มีงานวิจัยจำนวน 5 ชิ้น สรุปให้ฟังได้ว่า สารออกฤทธิ์จากกัญชานั้นได้ผลดีในการลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ ที่มีอาการหลังจากได้รับเคมีบำบัด ในขณะที่มีงานวิจัยทบทวนอย่างเป็นระบบเพียง 1 ชิ้นที่ทำให้กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง แล้วพบว่ากัญชาไม่ได้ช่วยลดคลื่นไส้อาเจียนเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม
สำหรับการลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ หลังได้รับเคมีบำบัดนั้น ผลของกัญชาดูน่าสนใจทีเดียว แต่จากข้อมูลยังพบว่ามีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่มีความหลากหลายมาก และการติดตามผลการลดอาการคลื่นไส้อาเจียนนั้นมีความแตกต่างกันหลายแนวทาง โดยส่วนใหญ่เป็นการประเมินการรับรู้อาการของผู้ป่วยด้วยตนเอง และมักประเมินระยะสั้น เช่น ในระยะเวลา 1 วัน ซึ่งหากจะนำข้อบ่งชี้สรรพคุณนี้ไปผลักดันต่อเพื่อหวังให้เป็นเวชภัณฑ์เพื่อจำหน่ายในอนาคตและให้แข่งขันกับยาตะวันตกที่อยู่ในตลาดได้ ก็จำเป็นต้องวางแผนศึกษาวิจัย ติดตามประเมินผลเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญในการดูแลรักษาให้ครบถ้วน
ว่าด้วยเรื่องแก้ “เกร็ง”
มีงานวิจัยแบบทบทบวนอย่างเป็นระบบอยู่ 3 ชิ้น ที่วิเคราะห์ผลเปรียบเทียบตัวต่อตัวระหว่างยาหลอกกับสารออกฤทธิ์จากกัญชา พบว่า 2 ใน 3 ชิ้นนั้น สรุปว่ากัญชาช่วยลดเกร็งได้มากกว่ายาหลอก 0.31 ถึง 0.76 คะแนน (จากคะแนนเกร็งเต็ม 10) โดยแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แถมมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมให้เห็นชัดมากขึ้นได้ว่า หากเทียบกันแล้วกลุ่มที่ได้กัญชานั้น มีอยู่ร้อยละ 35 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด และกลุ่มที่ได้ยาหลอก จะมีอยู่ร้อยละ 25 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่สามารถลดคะแนนเกร็งลงได้อย่างน้อยร้อยละ 30 แม้จะต่างกันทางสถิติ แต่ในทางปฏิบัติจริง หากนำมากัญชามาใช้แก้เกร็ง ก็จะต้องใช้ราว 10 คน จึงจะเห็นผลลดการเกร็งเพิ่มได้ 1 รายเมื่อเทียบกับยาหลอก ทั้งนี้งานวิจัยส่วนใหญ่ทำในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรค Multiple sclerosis โดยมีงานวิจัยชิ้นเดียวที่ทำในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราควรรู้เพิ่มเติม ก่อนจะเชียร์หรือไม่เชียร์นโยบายกัญชาโดยไม่ดูตาม้าตาเรือคือ เคยมีงานวิจัยคาดประมาณว่าโรค Multiple sclerosis นี้แม้จะพบได้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่เชื้อชาตินั้นมีผล โดยสหราชอาณาจักรคาดว่ามีราว 164 คนต่อประชากร 100,000 คน ส่วนแถบเอเชียแปซิฟิกนั้น เจอเพียง 0 ถึง 20 ต่อประชากร 100,000 คน ต่างกันถึงอย่างน้อย 8 เท่า ซึ่งข้อมูลนี้คงจะพอประกอบให้เห็นเรื่องขนาดของปัญหา ควบคู่ไปกับขนาดของผลหรือสรรพคุณที่กล่าวไว้ตอนต้น สำหรับรัฐที่จะต้องพิจารณาเรื่องการลงทุนทรัพยากรของประเทศว่าคุ้มค่าหรือไม่เพียงใด
ว่าด้วยเรื่องการทำให้เกิด “ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์”
หากสังเกตดูในข่าวที่เผยแพร่กันทุกวี่วัน มีน้อยนักที่จะเอ่ยถึงเรื่องนี้ แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง อยากจะตีแผ่ให้เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อย่างรอบด้าน ไม่ใช้อารมณ์ดราม่าหรือภาษาปลุกเร้าแบบที่เห็นกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
มีงานวิจัยทบทวนอย่างเป็นระบบถึง 12 ชิ้นที่รายงานเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยสรุปแล้วพบว่า จากการสังเกตการนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์จะเกิดผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์ค่อนข้างบ่อย ทั้งนี้ผลข้างเคียงนั้นมีตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก ยกตัวอย่างเช่น การทำให้เกิดความผิดปกติของการรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ในรูปแบบที่เว่อร์เกินจริง อาการง่วง อาการอยากยา ความผิดปกติของสายตา อาการสับสน ปัญหาด้านความจำ อาการซึมเศร้า ความดันโลหิตต่ำ หรือแม้แต่อาการผิดปกติทางจิต เป็นต้น
ทั้งนี้จากรายงานวิชาการที่มีอยู่ พบว่า หลายอาการอาจพบได้บ่อย เช่น ทุกๆ 2 ถึง 4 คนที่ใช้กัญชา จะเจออาการดังกล่าว 1 คน เป็นต้น แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็นว่า รายงานสถิติที่มีนั้นน่าจะเป็นสถิติที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะกลุ่มผู้ป่วยในรายวิจัยต่างๆ นั้นมักเป็นผู้ที่ใช้กัญชามานาน ทำให้มีความทนต่ออาการต่างๆ ได้มาก หรือเคยชินไปแล้วจึงไม่รายงาน ในขณะที่บางอาการอาจทำให้คนที่มีอาการนั้นเพลิดเพลินกับความรู้สึกที่รับรู้หลังการเสพ ทำให้ไม่รายงาน เป็นต้น
นอกจากนั้น มีงานวิจัยและรายงานวิชาการจากต่างประเทศออกมาในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับผลกระทบต่อสังคมที่เกิดขึ้นจากการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ และการเปิดเสรีให้ใช้กัญชาทั่วไป เช่น สถิติอุบัติเหตุจราจรที่เพิ่มขึ้น อัตราการเสพกัญชาในเด็กและเยาวชนที่สูงขึ้น ตลอดจนอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นและเชื่อมโยงกับการลัดเลาะนำกัญชาไปใช้นอกเหนือจากที่อนุญาตในวงการแพทย์ ทั้งนี้เริ่มเห็นมากขึ้นในบางประเทศ ที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ว่า มีการหลอกว่ามีอาการตามข้อบ่งชี้ เช่น อาการเจ็บปวด เพื่อให้ได้กัญชานำไปเสพ ทั้งที่มิได้มีอาการจริง
ปัจฉิมบท...สำหรับผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทย
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น หวังอยากให้ท่านเกี่ยวข้องได้อ่าน ใคร่ครวญ และพิจารณาให้จงหนัก ก่อนตัดสินใจสร้างนโยบาย กฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในประเทศเรา
ดูให้ดีว่า คนในสังคมเรานั้นมีระเบียบวินัย และความตรงไปตรงมามากน้อยเพียงใด ที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตัวเรา และลูกหลานในอนาคต
สารออกฤทธิ์ในกัญชานั้น ค่อนข้างชัดเจนว่าแก้เรื่องคลื่นไส้อาเจียนในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งหลังรับเคมีบำบัดได้ แต่มีอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องพิจารณาว่า จะเข็นไปสู่การวิจัย และวางแผนการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อหวังลดค่าใช้จ่ายและหาเงินเข้าประเทศได้จริงหรือ คุ้มเพียงใด โดยควรพิจารณาศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามความเป็นจริง หลีกเลี่ยงการสร้างภาพฝันที่แกล้งหลับตามองบางเรื่องจนอาจทำให้ฝันดังกล่าวเป็นไปไม่ได้จริง โดยเฉลี่ยแล้วยาหรือวัคซีนแต่ละตัว กว่าจะคิด และผ่านขั้นตอนการวิจัยตามมาตรฐานสากล จนคลอดออกมาจดทะเบียนเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกแก่สาธารณะนั้น สากลโลกเค้าลงทุนราวตัวละ 800-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เวลาราว 12-15 ปี ยังไม่นับว่า ยาหรือวัคซีนตัวนั้นมีสรรพคุณแข่งกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้วได้มากน้อยเพียงใด และสามารถผลักดันเข้าสู่มาตรฐานการดูแลรักษาที่เค้าเชื่อถือในระดับสากลสำหรับโรคหรืออาการนั้นๆ ได้หรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องทราบ และนำเข้าสู่การพิจารณาสำหรับการทำนโยบายสาธารณะของประเทศ
สรรพคุณอื่นๆ นั้น สำหรับความเห็นผมแล้ว ผมไม่คล้อยตาม และไม่คิดว่าสมควรแก่การนำไปผลักดันระดับนโยบายสาธารณะ
บทเรียนในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ทั่วโลกมีให้เราเรียนรู้ ตั้งแต่ประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้มอร์ฟีน หรือสารใกล้เคียงสำหรับคนที่มีอาการปวดเรื้อรังในอเมริกา จนส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง และมีปัญหามาถึงปัจจุบัน เรื่องกัญชาก็เช่นกันที่หลายประเทศที่ได้ทำกระบวนการเรียกร้องก่อนหน้าเรามานาน แบบที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน แต่เขากำลังประสบปัญหา เพราะเพิ่งเริ่มมีรายงานต่างๆ มาให้เห็นหลังผลักดันไปแล้ว
สำคัญที่สุดคือ การเตรียมรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่กล่าวมา เช่น การลักลอบผลิต ลักลอบใช้ การอ้างเรื่องอาการเจ็บป่วย เช่น เรื่องอาการปวดที่ตรวจประเมินได้ลำบากว่าจริงหรือไม่ ตลอดจนการใช้ทั้งโดยมีข้อบ่งชี้และไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และส่งผลต่อเรื่องวงกว้าง อาทิ อุบัติเหตุจราจร หรือการนำไปใช้เพื่อก่ออาชญากรรมและประทุษร้ายทางเพศ เป็นต้น
ห่วงใยลูกหลานจริง ต้องระวังให้ดี ตราบใดที่ยังไม่แน่ใจในระบบรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน ก็โปรดอย่าเสี่ยงครับ มิฉะนั้นที่เราหลงทำไป ก็จะแสดงถึงความไม่รู้เท่าทัน เสียเงินทองทรัพยากร และจะเจอปัญหาประชาชนบาดเจ็บล้มตายจากผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ได้ครับ
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
1.Allan GM et al. Systematic review of systematic reviews for medical cannabinoids. Canadian Family Physician. February 2018;64:e78-e94.
2.Cheong WL et al. Multiple sclerosis in Asia Pacific region: A systematic review of a neglected neurological disease. Front Neurol. 2018;9:432.
- 902 views