“หมอธีระ” เผย ตปท.ไร้งานวิจัยระบุว่า “รักษาฟรี ทำคนไม่ดูแลสุขภาพ” ซ้ำสหรัฐฯ ผลการศึกษาชัด ทั้งดัชนีมวลกาย การสูบบุหรี่และดื่มสุรา ไม่เพิ่มหลังมีนโยบายหลักประกันสุขภาพ พร้อมแนะ 3 แนวทาง ปรับสภาพแวดล้อมเหมาะสม สร้างกลไกสนับสนุน พร้อมประกาศเป็นนโยบายสาธารณะ เอื้อประชาชนดูแลสุขภาพเพิ่ม ย้ำทั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการดูแลสุขภาพตนเอง รัฐบาลต้องเดินหน้าควบคู่
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
จากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการที่ภาครัฐจัดบริการรักษาฟรี ทำให้ประชาชนไม่ดูแลสุขภาพตนเองส่งผลให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมานั้น ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำกล่าวดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าเป็นความปรารถนาดีของท่านที่มีต่อประเทศชาติ เรื่องนี้ส่วนตัวมีมุมมอง 2 ประเด็นด้วยกัน คือ
1.การจัดระบบหลักประกันสุขภาพ รักษาฟรี ทำให้ประชาชนละเลยดูแลสุขภาพตนเองหรือไม่นั้น จากการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกพบว่าไม่มีหลักฐานวิชาการใดฟันธงว่า การจัดสวัสดิการสังคมด้านสุขภาพส่งผลให้ประชาชนไม่ดูสุขภาพตนเอง หรือดูแลตนเองลดลง แม้แต่ในต่างประเทศก็มีงานวิจัยหลายชิ้นในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีข้อสรุปในลักษณะนั้น แต่ขณะเดียวกันในการศึกษานโยบายสวัสดิการด้านสังคมเพื่อดูแลประชาชนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพในสหรัฐอเมริกา โดยสำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อปีที่แล้วระบุว่า จากเดิมประชาชนสหรัฐฯ ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ จะมีปัญหาค่าใช้จ่ายและไม่อยากเข้ารักษาพยาบาล เพราะกลัวล้มละลาย แต่ด้วยนโยบายนี้ทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น ส่วนนโยบายนี้ทำให้เกิดการดูแลสุขภาพที่แย่ลงหรือไม่ พบว่าจากการวัดค่าดัชนีมวลกาย อัตราการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุชัดว่า พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนไม่แตกต่างจากเดิม โดยถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันได้
2. จากคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่มีข้อความสำคัญ คือ “การดูแลสุขภาพตนเอง” นับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนควบคู่กับการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม แต่การทำให้คนไทยดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จากงานวิจัยต้องมีการดำเนินการใน 3 แนวทาง คือ
การปรับปัจจัยสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการดูแลสุขภาพ รวมถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มีทั้งเป็นข้อมูลทางการ ไม่เป็นทางการ ที่เป็นจริงบ้างและไม่เป็นจริงบ้าง นำเสนอโดยเซเลบและไม่ใช่เซเลบ ทำให้คนหลงเชื่อ ข้อมูลหลายอย่างแทนที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่กลับกลายเป็นโทษทำลายสุขภาพเมื่อนำไปปฏิบัติ จำเป็นที่รัฐบาลต้องหาวิธีจัดการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องได้ง่าย, การพัฒนากลไกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการเน้นกลไกระดับพื้นที่ซึ่งประชาชนเข้าถึงได้ง่าย อาทิ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอและระดับเขตที่เน้นความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ยึดติดระบบราชการ รวมถึงกลไกหมอครอบครัว และการประกาศนโยบายสาธารณะโดยรัฐบาล เพื่อเป็นเข็มทิศให้กับทุกหน่วยงานและองคาพยพ มุ่งขับเคลื่อนทำให้ประชาชนดูแลตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อข้อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นเพราะมีผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษาจำนวนมาก ทำให้เข้าใจว่าประชาชนไม่ดูแลสุขภาพ นพ.ธีระ กล่าวว่า ตรงนี้ต้องระมัดระวังเพราะการพูดประโยคสั้นๆ อาจแปลความหมายได้หลายแง่มุมจนทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะคนที่เสียงดัง อาจทำให้คนเชื่อตามได้ ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลในต่างประเทศยังไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่ในทางกลับกันนโยบายส่งเสริมให้เข้าถึงการรักษาสำหรับทุกคนนั้น ย่อมแน่นอนว่าจะทำให้เกิดภาระงานต่อบุคลากรทางการแพทย์ จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงทุนทรัพยากรเพิ่มเติมให้เพียงพอ และต้องเตรียมความพร้อมรองรับ เพราะหากยังปล่อยให้ระบบมีบุคลากรและทรัพยากรเท่าเดิม ระบบก็จะไปไม่ไหวได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากคำกล่าวนายกรัฐมนตรีเป็นการสะท้อนว่า รัฐบาลมองระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นภาระงบประมาณหรือไม่ นพ.ธีระ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเมื่อประเทศเดินก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนอกจากไม่มีทางลดลงแล้ว ยังจะขยับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 9-12 ต่อปีอย่างแน่นอน แม้นี่จะเป็นข้อมูลในต่างประเทศ แต่ในส่วนของประเทศไทยก็คงไม่ต่างกันเพราะระบบสุขภาพผูกติดกับมาตรฐานต่างประเทศ และเป็นสัจธรรมที่ต้องยอมรับ ไม่ต้องตีโพยตีพาย และควรร่วมกันหาวิธีเพื่อลดทอนปัญหา โดยพัฒนาแนวทางให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ชะลอการเกิดโรค โดยดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นระบบทำให้คนเจ็บป่วยเข้าถึงการรักษา ทั้งนี้หากถามว่ารัฐบาลควรวิตกต่อภาระงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่ เป็นสิ่งที่กังวลได้ แต่ควรตามด้วยการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพตนเอง รวมถึงการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้มีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดให้ประชาชนที่มีรายได้มากกว่า 100,000 บาท/ปี ร่วมจ่ายในการเข้ารับบริการในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น นพ.ธีระ กล่าวว่า ตามหลักการทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนนั้นมีความเป็นคนและสิทธิพลเมืองที่ไม่แตกต่างกัน และรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลประชาชนที่เปรียบเหมือนลูกหลาน ควรให้การดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรแบ่งแยกว่าคนรายได้มากจะดูแลเท่านี้ คนรายได้น้อยจะดูแลแบบนี้ ซึ่งโดยหลักการแล้วควรให้ทำให้ประชาชนทุกคนมีความมั่นใจ
- 166 views