วัคซีนคือเครื่องมือทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และคุ้มทุนในการป้องกันโรค คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจึงมีมติให้ “วัคซีน” เป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนว่าจะมีวัคซีนที่จำเป็นใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ทั้งในสภาวะปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดของโรค โดยทั่วไปวัคซีนในประเทศไทย ประกอบด้วย

วัคซีนพื้นฐาน EPI program

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดบริการวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ โดยเน้นวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันประกอบด้วยวัคซีน 8 ชนิด ได้แก่ วัคซีนวัณโรค (BCG) วัคซีนตับอักเสบบี (HB) วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB) วัคซีนโปลิโอ (OPV) วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) และวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (dT) โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการเพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนตามกำหนด โดยให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐเป็นหน่วยบริการหลัก ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรับผิดชอบในการจัดหาวัคซีน และกระจายวัคซีนจากส่วนกลางไปยังคลังวัคซีนระดับอำเภอทุกแห่งโดยตรง วัคซีนที่กำหนดไว้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศต่างๆ อาจแตกต่างกันขึ้นกับการพิจารณาของแต่ละประเทศเกี่ยวกับอุบัติการณ์ ความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพของวัคซีน ราคาของวัคซีน และสถานการณ์โดยรวมของวัคซีนในประเทศ ในอนาคตแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้โดยขยายเพิ่มชนิดของวัคซีน ขยายกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งปรับเปลี่ยนกำหนดการให้วัคซีน ทั้งนี้โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างเหมาะสม

วัคซีนทางเลือก (Optional Vaccine)

วัคซีนทางเลือก หรือ วัคซีนเสริม คือ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพดี มีประโยชน์ในการป้องกันโรค แต่ไม่ได้อยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (วัคซีนพื้นฐาน) ดังนั้นเราจะเลือกฉีดหรือไม่ก็ได้เพราะมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งในปัจจุบัน วัคซีนทางเลือกเหล่านี้ได้มีการพัฒนาโดยการรวมหลาย ๆ วัคซีนในเข็มเดียว จึงทำให้ได้รับหลายภูมิคุ้มกันโรคในเข็มเดียว อีกทั้งยังทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้อีกด้วย ตัวอย่างวัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนเสริมป้องกันโรคอุจจาระร่วงโรต้า วัคซีนเสริมป้องกันโรค คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ วัคซีนเสริมป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนเสริมป้องกันเชื้อฮิบ วัคซีนเสริมป้องกันโรคอีสุกอีใส วัคซีนเสริมป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ วัคซีนเสริมป้องกันไอพีดี (หรือนิวโมคอคคัส คอนจูเกต) วัคซีนเสริมป้องกันไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

วัคซีนสำหรับผู้เดินทางระหว่างประเทศ Recommended vaccine for travelers

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศนับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศจุดหมายที่เราจะเดินทางไปอาจเกิดโรคระบาดหรือมีโรคติดต่อบางอย่างเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งผู้เดินทางเข้าไปในประเทศหรือพื้นที่นั้นๆ อาจจะไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนั้นๆ อยู่ทำให้มีความเสี่ยงในการติดโรค และบ่อยครั้งที่ประเทศจุดหมายปลายทางกำหนดกฎหมายหรือระเบียบในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของผู้เดินทางเข้าประเทศตามความเหมาะสมของตนเอง ดังนั้นผู้เดินทางจึงควรสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคก่อนการเดินทาง โดยควรปรึกษาแพทย์อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง เนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการให้วัคซีน และวัคซีนบางชนิดต้องให้หลายครั้งก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยวัคซีนก่อนออกเดินทางแล้ว ไม่ได้หมายความว่า ผู้เดินทางจะปลอดภัยจากโรคติดต่อดังกล่าว ความปลอดภัยของผู้เดินทางจะต้องระวังตัวป้องกันไม่ให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคโดยไม่จำเป็น เช่น การเลือกบริโภคอาหารหรือน้ำที่สะอาดถูกอนามัย

เก็บความจาก

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) .ความรู้เรื่องวัคซีนเพื่อประชาชน.