สาระสำคัญเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสุขภาพจากงานวิจัยเพื่อพิจารณาใช้ปฏิบัติและพัฒนานโยบายสาธารณะ
จากที่ผมได้มีโอกาสนั่งอ่านงานวิจัยอันลือลั่นเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับการจะตอบคำถามว่า ตกลงแล้วแอกอฮอล์นั้นดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพ ทั้งตัวงานวิจัยฉบับเต็ม และภาคผนวกอีก 2 ฉบับ อ่านประเมินข้อดีข้อจำกัดของงานวิจัย โดยต้องเข้าใจกันก่อนว่า งานนี้ได้รับการเคลมว่ารวบรวมข้อมูลอย่างกว้างขวางจาก 195 ประเทศ ตั้งแต่ ค.ศ.1990-2016 และพยายามหาข้อสรุปว่าดื่มแอลกอฮอล์แล้วดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพกันแน่
โดยพยายามชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และโทษที่เกิดขึ้นในประชากรวัยต่างๆ ตั้งแต่อายุ 15-95 ปี ทั้งชายและหญิง และกำหนดผลลัพธ์ทางสุขภาพคือโรคต่างๆ จำนวน 23 โรคที่เคยได้รับการวิจัยความสัมพันธ์ของแอลกอฮอล์กับการเกิดโรคเหล่านั้น
ผมอ่านอย่างตั้งใจเพราะเนื้อหามีเยอะมาก แต่สามารถสรุปได้สั้นๆ ตามความเข้าใจของผม สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติและสำหรับนักกำหนดนโยบายสาธารณะ ดังนี้ว่า
"หากดื่มเกิน 0.8 drink ต่อวัน จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของประชากร" นั่นแปลว่า ประเทศต่างๆ ควรเน้นเรื่องการขันน็อตนโยบายลดการดื่มแอลกอฮอล์ "ถ้างดได้ก็คงดีมาก ถ้างดไม่ได้ ก็ควรดื่มให้น้อยกว่า 0.8 drink"
ข้อจำกัดของการศึกษาวิจัยนี้ยังมีอยู่บ้าง ทั้งเรื่องที่ผลสรุปนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสัดส่วนของการตายจากโรคต่างๆ กล่าวคือ หากประชากรในประเทศนั้นๆ ตายจากโรคหัวใจขาดเลือดและเบาหวานมากเกินร้อยละ 60 อาจทำให้ค่าความเสี่ยงโดยรวมลดลง เนื่องจากมีงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่าแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยๆ เช่น 1-2 drinks ต่อวัน จะมีผลในการป้องกันเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด และเบาหวานได้ราว ร้อยละ 10-20
นอกจากนี้ยังพบว่างานวิจัยนี้อาจไม่ได้ทำการศึกษารวมไปถึงกลุ่มประชากรที่ดื่มแอลกอฮอล์อื่น เช่น นักท่องเที่ยว และการประมาณปริมาณแอลกอฮอล์นั้นใช้ค่าคาดประมาณเฉลี่ย มิใช่ปริมาณที่ดื่มจริง รวมถึงการรวบรวมผลลัพธ์ 23 โรค ซึ่งอาจมีผลลัพธ์ทางสุขภาพอีกมากที่สัมพันธ์กับเรื่องประโยชน์และโทษของแอลกอฮอล์
ไม่แน่นะครับ หากเจ้าของธุรกิจต่างๆ ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ อาจแสดงความห่วงใยประชาชนในสังคมได้หลายทาง ทั้งการเตือนด้วยความห่วงใยผ่านข้อความสั้นๆ หรือปรับขนาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสม นี่อาจพลิกโฉมแนวคิดการทำ CSR แบบเดิมๆ ไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้น ด้วยการปรับสินค้า/บริการต่างๆ ให้ห่วงใยคน ไม่ใช่รอปลายปีเอากำไรไปปลูกป่า หรือกิจกรรมอื่นที่ยังไม่ hit to the point นัก
ในขณะเดียวกัน รัฐเองก็สามารถนำความรู้จากงานวิจัยชิ้นนี้ไปพัฒนา ปรับแต่ง หรือสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะเพื่อให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นในอนาคต
เอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อพิจารณากันตามความเหมาะสม สวัสดีวันอาทิตย์ครับ
ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง GBD 2016 Alcohol Collaborators. Alcohol use and burden for 195 countries and territories, 1990–2016: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2016. Lancet. August 23, 2018.
- 123 views