ติดตามข่าวหมูป่าด้วยความเป็นห่วง คนทั่วโลกร่วมกันลุ้นและติดตามด้วยใจระทึก พร้อมภาวนาให้ทั้งเด็กและทีมกู้ภัยนั้นปลอดภัย หากเทียบกันตัวต่อตัวไม่คำนึงถึงเวลา เรตติ้งบอลโลกครั้งนี้อาจตามหลังหมูป่าอคาเดมีและทีมงาน
แม้แต่เมสซี่ยังเอาใจช่วย หมีเซี้ยะก็ส่งกำลังใจมาให้ อีลอน มัสค์ก็ทั้งส่งคนและของมาให้ พร้อมทวีตมาอย่างสม่ำเสมอ ยังไม่นับจิตอาสาทั้งไทยและเทศที่มาร่วมด้วยช่วยกันมากมายอย่างน่าซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง สังคมไทยและสังคมโลกดูมีน้ำจิตน้ำใจ
แต่มีอยู่ฝ่ายเดียวที่ดูจะเป็นแกะดำนั่นคือ "สื่อ" เพราะข่าวจริงข่าวหลอกข่าวเดาล้วนแพร่กระจายอย่างท่วมท้น ที่ดูรุนแรงมากคือ การที่กระหาย ทำทุกอย่างให้ขายข่าวได้ ช่วงชิงความได้เปรียบประเภทกรูต้องล้วงลึกๆๆๆๆๆๆๆๆ และเร็วๆๆๆๆๆๆๆๆ กว่าคนอื่น กรูถึงจะนอนตายตาหลับ
จนโดนคนประนามว่าทำกันถึงขนาดดักฟังแล้วรีบเอาเสียงระหว่างปฏิบัติการมาเผยแพร่ แม้มีสิทธิแต่ใครต่อใครก็ล้วนมองว่าไม่เหมาะสม ทำทุกทางให้ได้ภาพถ่าย หรือวีดิโอแบบอินไซเดอร์ จนคนสงสัยกันว่าไม่น่าจะได้แบบตรงไปตรงมา
จนล่าสุดหาญกล้าถึงขนาดส่งโดรนบินไปตามเฮลิคอปเตอร์ที่กำลังปฏิบัติการขนเด็กไปโรงพยาบาล ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ากิเลสนั้นจะมาเหนือมนุษยธรรม คุณธรรม จริยธรรมเลยหรือไร ไม่คิดถึงความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของทีมงานและเด็กได้
ยิ่งไปกว่านั้น การพยายามหาทางเปิดเผยตัวตนของเด็กๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากถ้ำ พร้อมเผยแพร่การคาดเดาออกมาสู่สาธารณะ โดยมิได้เคารพสิทธิในความเป็นมนุษย์ของเด็กและครอบครัว แถมมิได้คิดถึงภาวะจิตใจของครอบครัวของเด็กที่ยังอยู่ในถ้ำว่าจะคิดกังวลมากน้อยเพียงใด
คนทุกคนล้วนต้องการความเป็นส่วนตัวไม่มากก็น้อย คนทุกคนล้วนมีชีวิตจิตใจ ยามเครียดหดหู่กังวลก็ย่อมไม่อยากโดนใครมากระหน่ำซ้ำเติม จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
มาถึงจุดนี้ คงต้องถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสื่อในสังคมเรา?
ชีวิต จิตใจ และหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์นั้นสำคัญยิ่ง แต่สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติให้เห็นกันนั้นมันสะท้อนไปในทางตรงกันข้ามหรือเปล่า?
คิดถึงตอนนี้ก็พาลทำให้ต้องไปค้นดูข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง ยูนิเซฟเคยเผยแพร่ News Note ในเดือนพฤศจิกายน 2014 กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศของเรา สำรวจข่าวที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จำนวนกว่า 1,800 ชิ้น โดยติดตามข่าวในหนังสือพิมพ์ราว 6 เดือน และโทรทัศน์ราว 1.5 เดือน เพื่อดูว่ามีอัตราการละเมิดสิทธิของเด็กในรูปแบบใดบ้าง มากน้อยเพียงใด
เอามาเล่าคร่าวๆ พบว่า หนังสือพิมพ์ละเมิดถึงร้อยละ 21 และโทรทัศน์ละเมิดราวร้อยละ 13 ละเมิดสิทธิของเด็กทั้งในแง่การเปิดเผยหน้าตา รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่ระบุถึงตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ หรือแม้แต่รายละเอียดของคนในครอบครัว
ตัวเลขที่นำเสนอนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และดีไม่ดีอาจรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคสื่อที่ตะโกนหาอิสระเสรีเหนืออื่นใดดังเช่นปัจจุบัน อิสระนั้นควรมี แต่ไม่ใช่อิสระที่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น
ดีไม่ดี เหตุการณ์หมูป่าครั้งนี้น่าจะทำให้หลายฝ่ายต้องกลับมาคิดว่าถึงเวลาที่จะสังคายนาสื่อหรือไม่?
สื่อปัจจุบันมีเยอะไปหมด แต่ไม่ได้สอดคล้องกับความดีและคุณภาพ สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตออกมาประกอบวิชาชีพสื่อก็เช่นกัน อาจต้องขันน็อตเรื่องการสอน อบรม ปลูกฝัง เรื่องคุณธรรม จริยธรรม มนุษยธรรม และศีลธรรมให้เข้มข้น
จะดีขึ้น...ต้องใช้เวลา และต้องร่วมแรงร่วมใจกัน และที่สำคัญคือต้องยอมรับว่ามันเป็นปัญหาครับ
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
- 21 views