การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นทุกคนก็ต้องการให้ความเจ็บป่วยนั้นหายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการให้บริการในภาครัฐนั้นอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้ทั้งหมด เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น บุคลากรที่ไม่เพียงพอ จำนวนผู้ป่วยที่มากเกินศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาล อุปกรณ์เครื่องมือในการรักษา รวมทั้งความสะดวกสบาย รวดเร็ว
ด้วยหลาย ๆ สาเหตุข้างต้นทำให้เกิดการบริการด้านการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมด เมื่อมีการลงทุนก็ต้องการผลกำไร เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้
ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาจึงสูง ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลให้ผู้ป่วยบางครอบครัวเกิดภาระด้านหนี้สินมากมาย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการฟ้องร้องเมื่อผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่ผู้ป่วย ญาติคาดหวัง
ซึ่งผมเองมีความกังวลใจว่าถ้าประเทศไทยยังปล่อยให้กิจการของโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร มีการนำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการแพทย์มีการเสื่อมศรัทธาจากสังคมไทย และผลกระทบดังกล่าวจะนำมาสู่วิกฤติศรัทธาของวงการแพทย์ เพราะแนวคิดและวิธีปฏิบัติของแพทย์ในอนาคตอาจเปลี่ยนไปจากในอดีต เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
ผมจึงมีแนวคิดเพื่อลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชนดังนี้
1. การออกแนวปฏิบัติในตลาดหลักทรัพย์ไม่ควรให้ธุรกิจด้านการรักษาพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะควรเป็นกิจการที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร
2. การกำหนดให้การบริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไร และถ้ามีผผลกำไร ต้องนำกลับมาพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุด
3. แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรภาคเอกชนร่วมมือกันหาแนวทางในการกำหนดค่ารักษาพยาบาลในหมวดต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมมากที่สุด ไม่สูงเกินไป
4. การตรวจสอบมาตรฐานด้านการรักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสม ไม่ให้มีการส่งตรวจเพิ่มเติมที่มากเกินความจำเป็น
5. สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการรักษาพยาบาลให้ประชาชนเข้าใจว่าการรักษาพยาบาลแบบไหนที่มีความเหมาะสม เพื่อไม่ก่อให้เกิดความต้องการ ความคาดหวังที่มากเกินความเป็นจริง
6. สร้างและปรับทัศนคติการให้บริการรักษาพยาบาล และจริยธรรมของแพทย์ให้มีความเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน
7. สร้างฐานข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยมาตรฐานการรักษาในแต่ละโรค รายชื่อแพทย์ในแต่ละโรงพยาบาล ความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลของแต่ละโรงพยาบาล ในรายโรคด้วย รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเปรียบเทียบ
8. ออกแบบระบบบริการด้านสุขภาพโดยให้โรงพยาบาลเอกชนอยู่ในระบบด้วย เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการให้บริการด้านการแพทย์ที่เกิดประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าสูงสุด
สิ่งที่ผมคิดนั้นอาจมีคนคิดว่าไร้สาระ ไม่มีทางเป็นไปได้หรอกครับ แต่ผมยังมีความเชื่อว่าถ้าเราทุกคนมาร่วมมือกันอย่างจริงใจ ก็จะมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วค่อย ๆ เข้าใกล้สู่เป้าหมายที่เป็นจริงได้ในไม่ช้า
ถ้าเราไม่เริ่มมันก็ไม่มีทางเป็นไปได้ครับ เริ่มเถอะครับผู้มีอำนาจทั้งหลายในประเทศไทย
ผู้เขียน : รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เผยแพร่ครั้งแรก Facebook ส่วนตัว Somsak Tiamkao เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 506 views