รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยาย 10 ปี Stroke Fast Tract สะท้อนการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพด้วยพลังเครือข่าย
วันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ณ จ.ขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น จัดการประชุมร่วมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) เขต 7 ขอนแก่น เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารงานหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยมี คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด เข้าร่วมประชุม
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
การประชุมครั้งนี้ มี รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายพิเศษเรื่อง การเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพด้วยพลังเครือข่าย ว่า การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Tract) ได้ริเริ่มในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2551 โดยเริ่มต้นนั้นจากการให้อาจารย์แพทย์ได้เข้าใจในกระบวนการรักษา แต่พบว่าหลังจากนั้น 6 เดือน มีคนไข้มารับการรักษาเพียง 4 คน เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าปัญหาเกิดจากทุกคนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 4 ชั่วโมง แม้แต่คนไข้เองก็ไม่รู้ว่าการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หากเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วจะปลอดจากอัมพาต เนื่องจากแพทย์ที่ทำการรักษาไม่เคยบอกให้ทราบ แต่หากบอกให้ทราบก็จะรีบมารักษาทันที จึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่ลงไปถึงคนไข้มากขึ้น เพราะโรคหลอดเลือดสมอง หากรักษาช้าไป 5 นาที จะทำให้ชีวิตคนไข้สั้นไป 10 วัน
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ต่อมาคณะแพทยศาสตร์ มข. ได้จับมือกับโรงพยาบาลขอนแก่น และขยายออกไปถึงโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ทำให้โรงพยาบาลทุกแห่งสามารถให้การรักษาโรคนี้ได้ จึงสามารถพูดได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 10 ปี จากความร่วมมือกันจนเห็นผลสำเร็จในระดับประเทศ เป็นการจัดการที่แตกต่างจากโรคอื่นๆ ที่ สปสช.ทำอย่างชัดเจน เพราะ เป็นโรคเดียวที่ทุกคนในประเทศไทยจะได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ตามมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และเป็นโรคเดียวที่ สปสช.ไม่ได้ให้เงินค่าตอบแทนพิเศษกับทีมรักษา จึงเกิดรูปแบบที่ยั่งยืนและถือเป็นปรากฎการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขของประเทศที่ไม่ต้องเอาเงินนำหน้า
“ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก คนไข้จากหลายประเทศทั่วโลกที่มารักษาในไทยต่างเห็นตรงกันว่าไทยเป็นประเทศที่มหัศจรรย์ที่ระบบสามารถทำให้ผู้ป่วยได้พบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างรวดเร็ว และทำให้คนไข้ไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือคนไทยไม่มั่นใจในระบบของตนเอง ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าระบบดีทั้งหมด แต่เราต้องช่วยกันสะท้อนว่าสิ่งใดดี สิ่งใดที่ไม่ดี และต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ระบบการรักษาดีขึ้น” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
- 20 views