อาจารย์แพทย์ ม.ขอนแก่น เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขนาดใหญ่แออัดด้วยการสร้างเครดิตให้โรงพยาบาลชุมชน เหตุคนไทยมักเชื่อโรงพยาบาลยิ่งใหญ่ยิ่งดี
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลแออัด ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยนอก (OPD) เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือกว่า 50% ที่สามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลชุมชนได้
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากมักมีความเชื่อว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะให้การรักษาและให้ยาที่ดีกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ใกล้บ้าน หรือมีบางกรณีที่คนไข้ไม่ยอมกลับไปรักษาตัวต่อเนื่องที่โรงพยาบาลขนาดเล็กตามที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ส่งกลับ เพราะไม่มั่นใจว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กจะรักษาได้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเพราะประชาชนยังไม่เข้าใจกระบวนการรักษา
นอกจากนี้ คนไทยมีความคิดว่าเรื่องสุขภาพเป็นหน้าที่ของทีมแพทย์ในการดูแลรักษา นั่นทำให้ไม่ดูแลตนเอง เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยก็จะไปโรงพยาบาล ส่งผลให้มีปริมาณจำนวนคนไข้มากขึ้น เกิดความไม่พอใจในเรื่องของการให้บริการที่ล่าช้า นำมาสู่การร้องเรียนเกิดขึ้น ซึ่งในมุมของผู้ให้บริการก็ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนไข้ที่มีจำนวนที่มากกว่าศักยภาพในการให้บริการ นับว่าเป็นวงจรที่วนอยู่อย่างนี้ ดังนั้นหากคนไทยมองว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของตัวเอง ก็จะช่วยลดปัญหาได้เป็นอย่างมาก
“หากทุกคนใส่ใจสุขภาพของตนเอง เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยก็สามารถดูแลรักษาตนเองในเบื้องต้นได้ หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านได้ ก็จะช่วยลดปัญหาการรอคอยและลดปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลลงได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคนไข้มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง และต้องมีความไว้วางใจในระบบสาธารณสุขด้วย” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ระบบการส่งต่อมีปัญหา 1.คนไข้ทั้งหมดต้องการให้โรงพยาบาลขนาดเล็กส่งต่อมารักษาต่อที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น 2.กรณีที่จำเป็นต้องส่งต่อ พบว่าข้อมูลเอกสารที่ส่งต่อมามีไม่ครบ 3.ขาดการพูดคุยกันระหว่างแพทย์โรงพยาบาลต้นทางกับปลายทาง 4.โรงพยาบาลปลายทางที่ได้รับการส่งต่อไม่พร้อมรักษา โดยสาเหตุมาจากขาดการสื่อสารระหว่างระหว่างโรงพยาบาลต้นทางและปลายทาง
“หากมีการประสานงานพูดคุยกันจะช่วยให้เกิดการรักษาที่ต่อเนื่อง และผู้รับบริการเกิดความมั่นใจจริงว่าแพทย์ใส่ใจการรักษามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาโรงพยาบาลแออัดได้” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ โรงพยาบาลชุมชนควรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพื่อสอบถามความต้องการของคนในชุมชนว่าต้องการให้โรงพยาบาลให้บริการอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหากชุมชนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเช่นกัน
รศ.นพ.สมศักดิ์ ยังได้โพสต์ข้อเสนอแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลแออัดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Somsak Tiamkao” ซึ่งมีด้วยกัน 9 ข้อ ประกอบด้วย 1.พัฒนาระบบการส่งต่อและรับกลับให้มีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบันนี้ เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ คือมีการส่งต่อจากโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือมีศักยภาพไม่สูง ส่งต่อมายังโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีศักยภาพสูงกว่า แต่การส่งกลับไปดูแลต่อเมื่อหมดภาวะที่จำเป็นในการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมักจะขอรับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่จนหายดี และยังมักขอติดตามการรักษาต่อเนื่องอีก
2.การพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนที่มีผู้ป่วยจำนวนมากให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อหาคนในพื้นที่มาปฏิบัติงาน โดยเฉพาะพยาบาลที่มีการขาดแคลนสูงมาก รวมทั้งสนับสนุนคนในพื้นที่ให้มาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพแบบยั่งยืน
3. พัฒนาระบบยาและการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถมียารักษาผู้ป่วยได้ และส่งตรวจเพิ่มเติมได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะด้วยเหตุผลเพียงแค่ไม่มียารักษา หรือต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเท่านั้น
4. พัฒนาแนวทางการส่งต่อที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยเป็นหลัก มีการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดความล่าช้าในการรักษา ดังนั้นต้องทำให้การส่งต่อไม่มีข้อจำกัด ไร้รอยต่อ เพราะในปัจจุบันนั้นมีข้อจำกัดมากมาย และยังมีปัญหาเขตสุขภาพ
5. พัฒนาระบบการปรึกษาให้มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านบุคคล เช่น ความขัดแย้งหรือความไม่ร่วมมือของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยการพัฒนาแนวทางการส่งต่อที่ปฏิบัติได้จริง และมีการปรับแก้ไข กรณีมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดการส่งต่อที่ดียิ่งขึ้น โดยใช้ระบบเป็นหลัก เพื่อลดปัญหาเฉพาะตัวบุคคล
6. สร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจต่อประชาชนให้มีความเข้าใจระบบการรักษา ระบบการส่งต่อ และเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลใกล้บ้านก็มีศักยภาพที่เหมาะสมในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ และถ้าจำเป็นต้องส่งต่อ ระบบก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อตามความเหมาะสม และเมื่ออาการดีขึ้นก็จะมีการรับตัวกลับมารักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
7. การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ มีการส่งเสริม ป้องกันมากกว่าในปัจจุบัน เพื่อลดการเจ็บป่วย
8. พัฒนาระบบการร่วมจ่ายล่วงหน้า ไม่ใช่การร่วมจ่ายที่จุดบริการ เพื่อให้มีงบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ลดการสนับสนุนจากภาครัฐลงได้บางส่วน
9. โรงพยาบาลชุมชนร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการทำงานทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นไปตามที่ชุมชนต้องการ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในโรงพยาบาลชุมชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 3949 views