ปัญหาเกี่ยวกับระบบสุขภาพกลุ่มคนต่างด้าวในประเทศไทยยังเป็นสิ่งที่ทางการไม่สามารถจัดการได้อย่างครอบคลุม ปัจจุบันนโยบายที่สำคัญในการคุ้มครองสุขภาพคนต่างด้าว คือ นโยบายประกันสุขภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นโยบายประกันสุขภาพผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ และนโยบายบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าว แต่ในทางปฏิบัติย่อมมีผู้ที่ตกหล่นจากการประกันสุขภาพเสมอ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ ความผ่อนปรนในการบังคับใช้นโยบาย หรือการที่ผู้มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมายหลีกเลี่ยงที่จะแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ บุคคลเหล่านี้ก็มักมารับบริการกับสถานพยาบาลของรัฐเมื่อเจ็บป่วยหนักแล้ว และบางส่วนก็ไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้ ทำให้ผู้ให้บริการประสบปัญหาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง

เมื่อปี 2560 ได้มีรายงานการศึกษาถึงการจัดระบบชดเชยค่าใช้จ่ายจากการให้การรักษาพยาบาลคนต่างด้าวที่ตกหล่นจากระบบประกันสุขภาพในประเทศไทย เมื่อมารับการรักษาด้วยภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือในภาวะที่เป็นภัยทางสาธารณสุข โดย นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ และคณะ ผลการศึกษามีประเด็นน่าสนใจหลายประการ ดังนี้

การคาดการณ์ภาระงบประมาณกรณีที่รัฐสนับสนุนการรักษาพยาบาลผู้ที่ตกหล่นจากการประกันสุขภาพ

การคาดการณ์ภาระงบประมาณ พบว่างบประมาณที่พึงกันไว้สำหรับชดเชยให้กับสถานพยาบาลมีค่าระหว่าง 149 ถึง 891 ล้านบาท ขึ้นกับเงื่อนไขว่าต้องการชดเชยค่ารักษาพยาบาลในภาวะใด และต้องการชดเชยบุคคลต่างด้าวสัญชาติอะไร เฉพาะสัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา (CLM) หรือไม่จำกัดสัญชาติ กล่าวคือ

การคาดประมาณงบประมาณทั้งในส่วนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยในที่นี้ได้แสดงเฉพาะกรณี median use rate เฉลี่ยระหว่างทั้ง small และ large population scenario พบว่า งบประมาณที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วยต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิประกันสุขภาพใดๆมีค่าประมาณ 148.8 ถึง 891.1 ล้านบาท ซึ่งหากคิดจากรายได้ที่ได้จากบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 30 ของรายได้จากบัตรประกันสุขภาพทั้งหมด ทั้งนี้ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับทิศทางของนโยบายว่าจะให้การครอบคลุมการรักษาพยาบาลแบบใดบ้างเช่น หากนโยบายประสงค์จะครอบคลุมเฉพาะโรคที่เป็นภัยทางสาธารณสุขอย่างเดียวและเฉพาะในกลุ่มสัญชาติ

CLM ก็จะมีภาระงบประมาณอยู่ที่ 148.8 ล้านบาท หากขยายไปสู่คนต่างด้าวทุกสัญชาติ ก็จะมีภาระงบประมาณอยู่ที่ 185.6 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่ารัฐต้องให้การจัดสรรงบประมาณเต็มจำนวน เพราะในทางปฏิบัติผู้ป่วยมีการจ่ายค่าใช้จ่ายโดยตรงอยู่แล้ว หรือผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีประกันสุขภาพเอกชนเสริม

มุมมองของผู้ให้บริการ

ในมุมมองของผู้ให้บริการส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการพัฒนาการชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับสถานพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยต่างด้าวในภาวะวิกฤต หรือในภาวะที่เป็นภัยทางสาธารณสุข บางส่วนมีความเห็นว่าควรขยายไปสู่การชดเชยค่าบริการในการดูแลรักษาทั้งหมด รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การพัฒนาระบบนี้ควรทำพร้อมกับการจัดระบบบริหารจัดการนโยบายประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลคือ (1) หากมีการพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา และประกาศชัดเจนว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยจะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลต่างด้าวไม่ซื้อบัตรประกันสุขภาพหรือไม่ (2) ระบบที่นำเสนอนี้เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุเพราะปัญหาหลักคือนโยบายคนต่างด้าวในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายได้ และ (3) งบประมาณที่จะนำมาชดเชยพึงนำมาจากแหล่งใด ถ้าแยกเป็นงบประมาณต่างหากก็อาจเป็นการนำเงินภาษีของประชากรไทยมาใช้สำหรับคนต่างด้าว ถ้าใช้งบประมาณของคนต่างด้าวที่ประกันสุขภาพแล้ว อาจมีแรงต้านทานทางการเมืองน้อยกว่า หรืออาจใช้งบประมาณจากนอกระบบสาธารณสุขเลย เช่น นำค่าธรรมเนียมในการออกวีซ่าการท่องเที่ยวของคนต่างชาติมาใช้ในส่วนนี้

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ข้อเสนอเชิงนโยบายคือ รัฐไทยควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยให้กับสถานบริการในกรณีที่ผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิประกันสุขภาพ จำนวน 149 ถึง 891ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการเปิดกว้างของภาครัฐ โดยอาจเริ่มจากคนต่างด้าวสัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ก่อนแล้วจึงขยายสู่ประชากรกลุ่มอื่นๆ และนโยบายนี้ควรทำควบคู่กับการพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อที่จะนำคนต่างด้าวเข้าสู่การประกันสุขภาพให้ได้มากที่สุด

ในขณะที่ ในต่างประเทศนั้นมีการจัดระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวในสี่ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ประกันสุขภาพสำหรับคนที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย ระดับที่ 2 ประกันสุขภาพสำหรับคนที่มีสถานะเข้าเมืองหรือสถานะการอยู่อาศัยผิดกฎหมาย แต่เข้ารับการลงทะเบียนกับรัฐแล้ว ระดับที่ 3 ประกันสุขภาพเฉพาะโรคโดยไม่ขึ้นกับสถานะบุคคล และระดับที่ 4 เป็นงบประมาณพิเศษสำหรับชดเชยให้สถานพยาบาลในกรณีพิเศษ ในประเทศไทยนโยบายประกันสังคมอาจเทียบเคียงได้กับระดับที่ 1 นโยบายบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวอาจเทียบเคียงได้กับระดับที่ 2 ขณะที่ระดับที่ 3 และ 4 อาจเทียบเคียงกับการทำงานของกรมควบคุมโรค หรือเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับสถานพยาบาล โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม นโยบายระดับที่ 3 และ 4 ของประเทศไทยยังเป็นไปในลักษณะกิจกรรมเฉพาะกิจ และไม่ได้จัดเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพชัดเจน

เก็บความจาก

นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ และคณะ (2560). รายงานวิจัยการจัดระบบและคาดการณ์งบประมาณเพื่อชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤตสำหรับบุคคลต่างด้าวที่ตกหล่นจากการประกันสุขภาพ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.).