การศึกษาประเมินผลการดำเนินงานและการตอบสนองของนโยบายขายบัตรประกันสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ปีพ.ศ. 2559 ได้สะท้อนถึงปัญหาและความท้าทายในการดำเนินการระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวในประเทศไทย โดยจากผลการศึกษาได้นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวในประเทศไทยอย่างน่าสนใจ ดังนี้
ทางเลือกสำหรับการประกันสุขภาพคนต่างด้าว
การทำให้เกิดการประกันสุขภาพกับทุกคนบนแผ่นดินไทย มีทางเลือกได้ 3 กรณี ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสียที่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป กล่าวคือ
กรณีให้ดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ข้อดีของทางเลือกนี้คือ
(1) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีทุนและทรัพยากรการทำงานอยู่แล้ว
(2) จำนวนผู้ประกันตนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีจำนวนมาก ซึ่งทำให้ความเสี่ยงทางการเงินการคลังในระบบประกันค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเป็นการรวมความเสี่ยงในระดับประเทศ
และ (3) การจัดการงบประมาณ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การเจรจาต่อรองในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มีราคาสูง
ทำให้ชุดสิทธิประโยชน์ของการประกันสุขภาพคนต่างก้าวใกล้เคียงกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้มากยิ่งขึ้น และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการผสานระบบประกันสุขภาพต่างๆ เข้าด้วยกัน
ข้อเสียและข้อจำกัดของทางเลือกนี้คือ การต้องทำความเข้าใจและการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทางการเมืองให้มีการพิจารณาขอบเขตหน้าที่และเจตนารมณ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สามารถดำเนินการประกันสุขภาพกับคนทุกคนในประเทศไทยได้โดยไม่ขัดกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่สำนักงานกฤษฎีกาเคยมีการตีความว่าขอบเขตของการประกันสุขภาพโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพจำกัดเฉพาะคนสัญชาติไทยเท่านั้น
กรณีให้ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข
ข้อดีของทางเลือกนี้ คือ
(1) กระทรวงสาธารณสุข โดยกลุ่มประกันสุขภาพมีบทบาทในการดำเนินนโยบายประกันสุขภาพคนต่างด้าวมายาวนาน มีฐานข้อมูลเดิมของผู้ประกันตนซึ่งจะต่อยอดการทำงานได้โดยง่าย
และ (2) กระทรวงสาธารณสุข มีข้อติดขัดในเชิงกฎหมายเรื่องขอบเขตการทำงานในเชิงกฎหมายอันเกี่ยวกับประชากรกลุ่มเป้าหมายน้อยกว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข้อเสียและข้อจำกัดของทางเลือกนี้คือ
(1) กลุ่มประกันสุขภาพมีทุนและทรัพยากรที่จำกัด
(2) ความเสี่ยงทางการเงินการคลังของกองทุนประกันสุขภาพนี้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการรวมความเสี่ยงของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากจำนวนผู้ประกันตนมีน้อยกว่า และอาจขัดกับทิศทางสาธารณสุขของประเทศที่มุ่งหวังในการผสานระบบประกันสุขภาพต่างๆ เข้าด้วยกัน
กรณีให้ดำเนินการโดยสำนักงานประกันสังคม
ข้อดีของทางเลือกนี้คือ
(1) สำนักงานประกันสังคมมีศักยภาพอยู่พอควรในการบริหารจัดการกองทุน เนื่องจากต้องดูแลผู้ประกันตนที่มีอยู่แล้ว
(2) การเชื่อมโยงให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำงานได้รับสิทธิประกันสุขภาพเป็นภาคบังคับทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
(3) สิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมรวมสิทธิประโยชน์อื่นๆ มากกว่าเรื่องสุขภาพ ทำให้การคุ้มครองสุขภาวะผู้ประกันตนมีความครบถ้วนมากขึ้น
ข้อเสียและข้อจำกัดของทางเลือกนี้คือ
(1) กฎหมายของระบบประกันสังคมยังครอบคลุมเฉพาะแรงงานต่างด้าว ยังไม่มีความชัดเจนในการดูแลคนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน หรือไม่ได้อยู่ในกลุ่มอาชีพที่กระทรวงแรงงานอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานได้ หรือในกลุ่มที่ไม่มีนายจ้างชัดเจน
และ (2) ด้วยระเบียบปัจจุบัน ระบบประกันสังคมมีการหักเงินเดือนของผู้ประกันตนทุกเดือน ซึ่งผู้ประกันตนแรงงานต่างด้าวมักใช้บริการน้อยด้วยอยู่ในวัยแรงงานอาจไม่ยินดีที่จะให้มีการร่วมจ่ายทุกเดือน และมีความเสี่ยงที่ผู้ประกันตนอาจหลุดออกจากระบบในระยะยาว
ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวในระยะสั้น
1. กระทรวงสาธารณสุขควรสนับสนุนให้กลุ่มประกันสุขภาพ หรือหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบด้านการประกันสุขภาพคนต่างด้าวมีศักยภาพองค์กรมากขึ้น ทั้งกำลังคนและเทคโนโลยี เช่น การมีสายด่วนโทรศัพท์ให้ผู้รับบริการและผู้ให้บริการทั้งคนไทยและคนต่างด้าวสามารถติดต่อกับหน่วยงานที่รับผิดชอบและร้องเรียนการบริการได้ตลอดเวลาอันจะเป็นการช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถประเมินผลและติดตามการทำงานของแต่ละสถานพยาบาลในการดูแลสุขภาพของคนต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย
2. กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งประชาสัมพันธ์กับทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และประกาศเรื่องการประกันสุขภาพให้ชัดเจนว่านโยบายประกันสุขภาพสำหรับผู้ที่มิใช่แรงงานตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556 ยังเปิดกว้างอยู่ อันจะเป็นการแก้ปัญหาการตีความของสถานพยาบาลว่าการประกันสุขภาพคนต่างด้าวในปัจจุบันจำกัดเฉพาะแรงงานและผู้ติดตามเท่านั้นและควรปลดเงื่อนไขการตรวจสขภาพคนต่างด้าวทั่วไปที่มิใช่แรงงานที่ปรากฏในประกาศกระทรวงสาธารณสุขไม่ให้มีเงื่อนไขแบบเดียวกับการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว เพราะเงื่อนไขดังกล่าวมีฐานคิดจากการออกใบอนุญาตทำงาน ไม่ใช่จากฐานคิดเรื่องการประกันสุขภาพ
3. กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ควรเร่งประสานข้อมูลระหว่างกันเพื่อให้ผู้ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วและทำงานในสถานประกอบการ เปลี่ยนผ่านจากการประกันสุขภาพโดยกระทรวงสาธารณสุขสู่การประกันสุขภาพโดยสำนักงานประกันสังคมตามหลักการที่กฎหมายบัญญัติ
4. กระทรวงสาธารณสุขควรประสานข้อมูลกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ในการติดตามผู้ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพแล้วแต่ต่อมาหายไปจากระบบ ซึ่งหากพบว่าเป็นผู้ที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ปัญหาสถานะบุคคลอย่างเป็นระบบ และได้รับการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานเสมือนผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีระบบประกันสุขภาพของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 รองรับอยู่แล้ว
5. กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งหารือกับกระทรวงแรงงานในการทำให้สถานพยาบาลสามารถจ้างงานพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวได้อย่างยั่งยืน ให้เข้าสู่การเป็นลูกจ้างของสถานพยาบาลตามระบบปกติ เนื่องด้วยในปัจจุบันบทบาทของพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวยังมีความสำคัญยิ่ง ในการเข้าถึงคนต่างด้าวในชุมชนที่เป็นผู้ด้อยโอกาส และเป็นสื่อประสานระหว่างคนต่างด้าวในชุมชนและผู้ให้บริการในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
เก็บความจาก
นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ และ คณะ. การตอบสนองของนโยบายและผลลัพธ์ของบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวและผู้ติดตามในประเทศไทย. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2559.
- 57 views