ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมากเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทำให้ปัญหาเรื่องสุขภาพคนต่างด้าวเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากทุกรัฐบาล โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายขายบัตรประกันสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และบริหารจัดการระบบโดยกลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ควบคู่กับกระบวนการการพิสูจน์สัญชาติของกระทรวงมหาดไทยและการขอใบอนุญาตทำงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้มีการศึกษาประเมินผลการดำเนินงานและการตอบสนองของนโยบายดังกล่าวขึ้น โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2559 พบประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง กล่าวคือ

ปัญหาและความซับซ้อนของระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวในประเทศไทย

นโยบายบัตรประกันสุขภาพมีเงื่อนไขเรื่องการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยและการขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน แต่โดยข้อเท็จจริงกลับพบว่าการบังคับใช้นโยบายการขึ้นทะเบียนยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากคนต่างด้าวจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน และนโยบายเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง เช่นกรณีของจังหวัดระนองซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศพม่าเป็นระยะทางยาวไกล ทำให้มีคนต่างด้าวเข้าออกในพื้นที่ได้ตลอดเวลา ซึ่งจำนวนมากไม่ได้เข้ามาเพื่อเป็นแรงงาน ทำให้คนต่างด้าวจำนวนหนึ่งจึงต้องอาศัยระบบนายหน้าช่วยรับรองการเป็นนายจ้างเพื่อจะได้มีโอกาสขึ้นทะเบียนและเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีศักยภาพไม่เพียงพอในการติดตามและประเมินผลการดำเนินนโยบายและทำให้การสื่อสารนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนสถานพยาบาลเองพบว่ามีทัศนคติต่อการประกันสุขภาพคนต่างด้าวว่าไม่คุ้มทุน เนื่องด้วยมักมีเฉพาะคนป่วยมาซื้อบัตร และรายได้จากการขายบัตรรวมที่สถานพยาบาลเป็นรายๆ ไป ไม่ได้กระจายความเสี่ยงในระดับประเทศ สถานพยาบาลในพื้นที่จึงมีการปรับตัวในลักษณะต่างๆ เช่น อนุญาตให้เฉพาะคนที่แข็งแรงเท่านั้นที่ซื้อบัตรได้ หรือกำหนดช่วงเวลาที่บัตรจะมีผลนำมาใช้ได้หลังจากซื้อบัตรแล้ว นอกจากนนี้ การปรับตัวที่สำคัญประการหนึ่งของสถานพยาบาลในพื้นที่คือการจ้างคนต่างด้าวมาทำงานในลักษณะพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวเพื่อช่วยประสานระหว่างผู้ให้บริการกับคนต่างด้าวในชุมชน แต่ความยั่งยืนของนโยบายยังมีปัญหามาก เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมายเรื่องการจ้างคนต่างด้าวให้เป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐได้ ในปัจจุบันจึงใช้วิธีการขึ้นทะเบียนพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวเสมือนเป็นลูกจ้างคนรับใช้ในบ้านแทน และใช้งบประมาณในลักษณะการจัดทำโครงการส่งเสริมป้องกันโรค

ผลลัพธ์ของการมีบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวและผู้ติดตาม

จากการศึกษาพบว่าอัตราการใช้บริการของผู้มีบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวต่ำกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 3-4 เท่า และผลของการมีบัตรประกันสุขภาพไม่ได้เพิ่มอัตราการใช้บริการสำหรับผู้ที่เคยมารับการรักษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยที่เพิ่มการใช้บริการที่สำคัญคือปัจจัยทางคลินิกนั่นคือ ภาวะการเจ็บป่วยของผู้ป่วยเอง นอกจากนั้นยังพบว่าบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยจากการใช้บริการได้อย่างมีนัยสำคัญ ประมาณ 157-756 บาทต่อครั้ง สำหรับบริการผู้ป่วยนอก และประมาณ 2,706 บาทต่อครั้งสำหรับการบริการผู้ป่วยใน

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าการมีบัตรประกันสุขภาพไม่ได้มีผลเพิ่มภาระงานของสถานพยาบาลแต่เป็นภาวะโรคของผู้ป่วยเอง ดังนั้น การกำหนดให้คนทุกคนในประเทศไทยมีการประกันสุขภาพ นอกจากจะช่วยรับรองการมีสุขภาพดีของผู้ประกันตนแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินการคลังของสถานพยาบาลเนื่องจากสถานพยาบาลมีงบประมาณจากผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น ไม่ต้องประสบกับการที่มีเพียงผู้ที่เจ็บป่วยแล้วเท่านั้นเข้ามาซื้อประกันสุขภาพ

ดังนั้น รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการให้คนทุกคนในประเทศไทยมีการประกันสุขภาพ โดยไม่ผูกติดเงื่อนไขการประกันสุขภาพกับการทำงาน และการดำเนินนโยบายนี้ให้เกิดประสิทธิภาพต้องสร้างความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีเครือข่ายการทำงานและมีข้อมูลคนอยู่อาศัยในพื้นที่รับผิดชอบจากการจัดทำแฟ้มครอบครัวอยู่แล้ว การลดเงื่อนไขการประกันสุขภาพไม่ให้ผูกติดกับการจ้างงานจึงน่าจะช่วยให้เครือข่ายการใช้ประโยชน์จากคนต่างด้าวอย่างไม่เป็นธรรมหรือระบบนายหน้าผิดกฎหมายลดลงด้วย

เก็บความจาก

นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ และ คณะ. การตอบสนองของนโยบายและผลลัพธ์ของบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวและผู้ติดตามในประเทศไทย. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข,สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2559.