นักวิจัย เสนอรัฐลงทุนเพิ่มเพียง 20-30 ล้านบาท สามารถให้วัคซีนพื้นฐานแก่เด็กต่างด้าวครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อมนุษยธรรม-ลดภาระในอนาคต-สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ชี้ทุกวันนี้โรงพยาบาลก็ให้บริการอยู่แล้ว หากเป็นนโยบายชัดเจนจะดำเนินการได้คล่องขึ้น
นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์
นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำงานวิจัยเรื่องการให้วัคซีนแก่ลูกแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในแรงงานข้ามชาติตอนหนึ่งว่า ตามหลักการแล้วในหลายๆ ประเทศจะแยกเรื่องวัคซีนและการป้องกันโรคบางอย่างในเด็กออกจากวิธีคิดเรื่องเศรษฐกิจ คือไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นเด็กกลุ่มใด มีบัตรประกันสุขภาพหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ โดยในหลายประเทศจะให้บริการเรื่องเหล่านี้ฟรีขอเพียงแค่คุณเป็นเด็ก ซึ่งตรงนี้เป็นทิศทางนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจน
นพ.ระพีพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย แน่นอนว่าเด็กไทยมีสิทธิอยู่แล้วไมมีปัญหาอะไร แต่เมื่อมามองเด็กต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยจะพบว่าเด็กเหล่านั้นมีสิทธิจะซื้อบัตรประกันสุขภาพราคาปีละ 365บาท ซึ่งแน่นอนว่าหากเด็กเหล่านั้นซื้อบัตรก็จะมีสิทธิได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานฟรี แต่สำหรับเด็กที่ไม่ได้ซื้อบัตร หากต้องการรับบริการวัคซีนก็ต้องจ่ายเงิน
“ปัญหาก็คือว่าในทางปฏิบัติแล้วเมื่อคนที่ไม่ได้ซื้อบัตรมารับบริการ โรงพยาบาลก็มักจะให้บริการฟรีหรือเก็บค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยทำไว้ค่อนข้างดีและเป็นที่ยอมรับจากหลายประเทศ นั่นคืออย่างผมอยู่ที่โรงพยาบาล ผมมีวัคซีนอยู่ เมื่อเด็กต่างด้าวมาผมก็จะฉีดให้เลย เพราะยามันมีอยู่แล้ว เท่าที่ผ่านมาโรงพยาบาลของไทยไม่เคยปฏิเสธ แต่จะเก็บเงินหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง” นพ.ระพีพงศ์ กล่าว
นพ.ระพีพงศ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีแนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน เมื่อทำมาเป็นเวลานานหลายปีก็ทำให้คนไข้บอกกันปากต่อปากและเข้ามารับบริการวัคซีนมากยิ่งขึ้น คำถามคือแล้ววัคซีนเหล่านี้มาจากไหน แน่นอนว่าเวลาซื้อวัคซีนก็ย่อมซื้อล็อตใหญ่อยู่แล้ว โดยคำนวณจำนวนหัวจากเด็กไทยและใช้เงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งในการซื้อทุกครั้ง สปสช.ก็จะคำนวณเผื่อความเสียหายอยู่แล้ว เช่น มีความต้องการ 100 หัว อาจจะสั่งซื้อ 120 โดส ซึ่งเราก็จะใช้ส่วนต่างตรงนี้มาบริหารจัดการให้เด็กต่างด้าว
“ถามต่อว่าแล้วทำไมวัคซีนมันพอ หนึ่งคือคนต่างด้าวอาจไม่ได้เข้าถึงบริการมากมันก็เลยพอ สองก็ต้องยอมรับว่าเราซื้อเผื่อเยอะพอสมควร ฉะนั้นผมคิดว่าเราต้องคิดเผื่อไปในอนาคต หากเราคาดการณ์กันว่าเด็กต่างด้าวจะเกิดในประเทศไทยเยอะขึ้นๆ ที่เราเหลือหรือเผื่อๆ ไว้ก็อาจจะไม่พอในส่วนนี้” นพ.ระพีพงศ์ กล่าว
นพ.ระพีพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ถ้ามองในมุมกลับเรื่องการบริหารจัดการการเงิน เราก็อาจต้องมาคำนวณกันว่าเราควรมีนโยบายที่ชัดเจนแบบต่างประเทศหรือไม่ว่าเรื่องวัคซีนนั้นจะให้ทุกคนโดยไม่ต้องแคร์ว่าใครมีบัตรหรือไม่มีบัตร จากนั้นก็อาจสนับสนุนงบเพิ่มเติมให้ สปสช.หรือกระทรวงสาธารณสุข หรือใครก็แล้วแต่ให้จัดซื้อวัคซีนเพิ่มเข้าไปอีก โดยเราก็คำนวณตรงๆ เลย เช่น จากเดิม 100 โดส เผื่อเสีย 20 โดส ก็อาจจะเพิ่มอีก 20โดส สำหรับต่างด้าว ก็ซื้อเพิ่มเป็น 140 โดสเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้มากกว่าเดิมเท่าไรนัก
“นี่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่อาจเป็นไปได้ เพราะเราคำนวณออกมาแล้วว่าหากมีการจัดซื้อเพิ่มจริงๆ เพื่อครอบคลุมเด็กต่างด้าวทั่วประเทศ จะใช้เงินเพิ่มอีกเพียง 20-30 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งตรงนี้นอกจากเรื่องการให้บริการที่ครอบคลุม เรื่องมนุษยธรรม เรื่องการลดภาระในอนาคตแล้ว ประเทศไทยจะได้ภาพลักษณ์และชื่อเสียงอีกจำนวนมหาศาลจากการดำเนินนโยบายเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาเราก็ทำดีอยู่แล้ว เพียงแต่เรากล้าลงทุนเพิ่มและประกาศนโยบายไปชัดๆ” นพ.ระพีพงศ์ กล่าว
- 306 views