เมื่อวานอ่านโพสเรื่องเครื่องสำอางแล้วทำให้คิดว่า สังคมปัจจุบันนั้นทำให้การดำเนินชีวิตของคนเราดูซับซ้อนมากขึ้นทุกที อิทธิพลของการตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ทำให้ประชาชนถ้วนหน้าตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยไม่สามารถเช็คได้จริงว่าสินค้าใดๆ นั้นมีสรรพคุณตามที่บอกจริงหรือไม่ ปลอดภัยไหม และใช้อะไรบ้างที่จะเพียงพอเหมาะสม
ตัวอย่างหนึ่งที่เคยมีการศึกษาไว้คือเรื่องครีมกันแดด โดยทำการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ Dermatology Online Journal ปี ค.ศ.2014 ฉบับเดือนมิถุนายน พบว่า ครีมกันแดดที่มี Sun Protecting Factor (SPF) ต่างๆ ทั้ง 30, 50, 70, 100 นั้น ถูกวางขายกันหลากหลายยี่ห้อ และมีมากมายเกินความจำเป็น
ทั้งนี้ประชาชนในประเทศอเมริกาเสียเงินซื้อครีมกันแดดโดยเฉลี่ยปีละ 30-60 ดอลล่าร์สหรัฐ การเลือกซื้อก็มักไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของระดับ SPF กับบริบทที่ใช้งาน ทำให้เสียเงินเกินจำเป็น โดย SPF ยิ่งสูงยิ่งแพง หากรณรงค์ให้ซื้อครีมกันแดดระดับปานกลาง SPF50 จะช่วยให้ประหยัดเงินไปได้ราว 50% เลยทีเดียว
เรื่องเครื่องสำอางนั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศตะวันตกมีความตื่นตัวกันมากขึ้นเพราะการค้าขายเสรีนั้นทำให้เหล่าสินค้าประทินโฉมส่งเสริมเสน่ห์ส่วนบุคคลนั้นขายดีกันเป็นเทน้ำเทท่า ยี่ห้อสินค้ามีแทบนับไม่ถ้วน ราคาค่างวดมีทั้งแบบราคาไม่แพงไปจนถึงราคาเว่อร์วังอลังการ
สิ่งที่ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจคือ ผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้เครื่องสำอางเหล่านั้น หรือที่เรียกว่าอาการไม่พึงประสงค์/อาการแพ้ จนนำมาซึ่งข้อเรียกร้องให้มีการสร้างระบบเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากเครื่องสำอางต่างๆ (Cosmetovigilance system)
ประเทศส่งออกเครื่องสำอางรายใหญ่บิ๊กเบิ้มอย่างฝรั่งเศส ก็เคยมีการตีพิมพ์เรื่องนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 ว่าระบบที่ถูกเรียกร้องให้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 นั้นยังมีช่องโหว่เบ้อเริ่มในการติดตาม เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ใช้แล้วมีปัญหาแต่ก็หาทางจัดการดูแลตนเองโดยที่ระบบไม่สามารถติดตามได้
ในขณะที่มีรายงานที่ทำการสำรวจความชุกของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้เครื่องสำอางในประเทศบราซิล ในปี ค.ศ.2013 พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจนั้นรายงานว่าประสบปัญหาถึงร้อยละ 38 โดยผลวิจัยที่พบก็สอดคล้องกับรายงานจากหลายประเทศก่อนหน้านั้นไม่นาน
นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ในปี ค.ศ.2013 เป็นต้นมา สหภาพยุโรปได้ขันน็อตระบบการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้เครื่องสำอาง โดยพยายามเข้มงวดและส่งเสริมให้มีการรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ให้ครบถ้วนมากขึ้นและส่งไปยังหน่วยงานหลักๆ ในแต่ละประเทศที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
ส่วนในประเทศไทยนั้น ข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างเข้าถึงได้ยากกว่าต่างประเทศ ประชาชนอาจต้องระมัดระวัง มีสติในการใช้ และพยายามดูแลตนเองให้ดีหากเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าประทินโฉม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรขันน็อตเรื่องระบบเฝ้าระวัง ตัวบทกฎหมาย และส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับสินค้าประเภทนี้ให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น และควรเริ่มตั้งแต่ในกลุ่มวัยรุ่นด้วย
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
1. Johal R, et al. The economic burden of sunscreen usage. Dermatol Online J. 2014 Jun 15;20(6).
2. Liberata S, et al. Notification of undesirable effects of cosmetics and toiletries. Pharmacological Research 59 (2009) 101–106.
3. Huf G, et al. Adverse reactions to cosmetic products and the Notification System in Health Surveillance: a survey. Rev Bras Epidemiol. 2013 Dec;16(4):1017-20.
- 206 views