“หมอธีระ” เสนอรัฐบาลยกความรุนแรงใน รพ.เป็น “วาระแห่งชาติ” ดึงหน่วยงานเกี่ยวข้องรุกแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบร่วมกัน พร้อมแนะ 3 ทางออก เพิ่มหลักสูตรสื่อสาร สอนทักษะลดความชัดแย้งบุคลากรทางการแพทย์, ทบทวนกฎหมายช่วยลดความรุนแรงใน รพ. และจัดพื้นที่ภายใน รพ.ช่วยเพิ่มความปลอดภัย
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลขณะนี้มองว่าเป็นปัญหาวิกฤตสังคมที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา เพราะจากการติดตามสถานการณ์รวมถึงข้อมูลองค์การอนามัยโลกที่สำรวจความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์พบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ถึงร้อยละ 40 ของการสำรวจที่ระบุว่าเคยถูกทำร้ายหรือประทุษร้ายร่างกาย และหากรวมถึงการใช้คำพูดหยาบคาย ด่าทอต่อว่า จะมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารสถานพยาบาลหรือแม้แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเรื่องนี้ไม่สามารถทำโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพียงลำพังได้ แต่ต้องแก้ไขในเชิงระบบที่ประกอบ 3 ส่วน คือ
1.บุคลากรทางการแพทย์รวมทุกวิชาชีพไม่จำกัดเฉพาะแพทย์ ต้องมีความตระหนักและรับรู้ปัญหาความรุนแรงในระบบที่เพิ่มมากขึ้น มีการประเมินความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยบางโรคที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ เป็นต้น โดยหน่วยงานอย่าง องค์กรวิชาชีพและสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนแพทย์ วิทยาลัยพยาบาล และวิทยาลัยสาธารณสุขชุมชน ต้องมีเพิ่มหลักสูตรการสอนทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดที่นำไปสู่อารมณ์รุนแรง ทักษะการประนีประนอมเพื่อลดความขัดแย้ง เป็นต้น เพื่อป้องกัน
2.ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อต่อการควบคุมและลดความรุนแรงได้ เพราะหลายครั้งพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเนื่องจากคนไม่กลัวกฎหมาย อาจเป็นเพราะบทลงโทษที่น้อยเกินไป มีปัญหาการบังคับใช้ ซึ่งในประเด็นนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนควรต้องมีการทบทวนหารือเพื่อทางออกร่วมกัน ซึ่งบางครั้งกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วไปอาจไม่สามารถใช้ในสถานพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิผล
“หมอ พยาบาลและบุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์ เป็นวิชาชีพที่คอยช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วย ไม่ได้คิดทำร้าย เพียงแต่บางครั้งการดูแลอาจยังไม่ถูกใจหรือช้ากว่าที่ญาติคาดหวังไว้ ซึ่งญาติไม่มีสิทธิทำร้าย แต่ด้วยบทลงโทษที่ไม่รุนแรงก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ โดยขาดความชั่งใจ ดังนั้นกฎหมายที่มีบางครั้งอาจไม่เอื้อให้เกิดความปลอดภัยในสถานพยาบาล จึงต้องมีการหารือขันน็อตกฎหมายเหล่านี้”
3.การจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อความปลอดภัย ปัจจุบันแผนกผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลเป็นพื้นที่เปิด ใครจะเดินเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ รวมถึงการพกอาวุธเข้ามาโดยไม่มีการตรวจค้น ทั้งที่แพทย์และพยาบาลกำลังปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นความสุ่มเสี่ยง บางครั้งญาติผู้ป่วยอาจเดินเข้ามาและเห็นภาพที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดการด่าทอและแชร์ภาพในโซเชียลทั้งที่เป็นการดูแลและรักษาตามมาตรฐาน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่กระทรวงสาธารณสุข และ รพ.รัฐต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้สถานพยาบาลเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยปรับปรุงสถานที่จำกัดให้เฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เข้ามาภายในพื้นที่ดูแลผู้ป่วย พร้อมจัดพื้นที่ให้ญาติรออยู่ภายนอก ขณะเดียวกันให้มีคนคอยทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลการรักษาผู้ป่วย เพื่อให้ทราบถึงความคืบหน้า ลดความกังวลใจให้กับญาติ เป็นแบบคิดถึงใจเขาใจเรา ซึ่งจะลดความขัดแย้งได้
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาความรุนแรงสถานพยาบาลภาครัฐ ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะมีข่าวจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่ดีขึ้นและยังคงเกิดปัญหารุนแรงซ้ำเช่นเดิม ทั้งไม่มีการติดตามประเมินและรายงานผลในมาตรการที่ทำไป โดยปัญหานี้ต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ตั้งแต่เรื่องบุคลากร กฎหมาย และสิ่งแวดล้อมตามที่กล่าวไว้ข้างต้น พร้อมกับพัฒนากลไกที่คำนึงถึงทุกคน ทั้งผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์อย่างสมดุล โดยเป็นการระดมความคิดจากทุกภาคส่วน
“การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสถานพยาบาลที่ผ่านมามีเพียงแค่การพูดคุยในวงเล็ก ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นระบบ เรื่องนี้ผมว่าเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ไม่ได้จำกัดการแก้ไขแค่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรัฐบาลอาจมอบให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เป็นหน่วยงานดำเนินนโยบายสาธารณะทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาหาทางออกร่วมกัน”
ต่อข้อซักถามว่า หากรัฐบาลยังไม่ตระหนักและละเลยต่อปัญหานี้จะเป็นอย่างไร ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ปัญหาสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์คงตามมาแน่นอน เพราะคนคงไม่ทนอยู่กับระบบที่ไม่ปลอดภัย การผลิตบุคลากรทางการแพทย์เท่าไหร่ก็จะไม่เพียงพอ แต่ทั้งนี้การไหลออกคงเป็นไประดับหนึ่ง เพราะในที่สุดความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ของภาคเอกชนก็จะอิ่มตัว แต่ปรากฎการณ์ที่กังวลและน่ากลัวกว่านั้น คือบุคลากรทางการแพทย์จะถอดใจในการดูแลผู้ป่วย เพราะด้วยความกลัวและระแวงผู้ป่วยและญาติเสมอ เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุถูกทำร้ายก็ไม่มีใครมาดูแลหรือช่วยได้ จนกระทบต่อการรักษาพยาบาลในที่สุด ปัญหานี้จึงไม่เป็นปัญหาเฉพาะของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของผู้ป่วย และทุกคนในสังคมที่ต้องเหลียวหลังมาดูและคิดหาทางออกร่วมกัน
“ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ แต่เป็นปัญหาสังคมที่ต้องจัดการโดยสังคม ไม่สามารถจัดการโดยหน่วยงานสุขภาพแต่หน่วยงานเดียวได้ อย่างกรณีของตูน บอดี้สแลมที่ออกวิ่ง เป็นการยกระดับชี้ให้เป็นถึงปัญหาของสถานพยาบาลที่ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากร เช่นเดียวกับปัญหาความรุนแรงในสถานพยาบาลควรยกระดับให้เป็นปัญหาสังคม ดึงคนภายนอกเข้ามามีส่วนในการแก้ไขและพัฒนาระบบสุขภาพ เพราะระบบสุขภาพคือระบบสังคม” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว
- 62 views