“อนุสรณ์ ธรรมใจ” ชี้ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หนุนการเมือง/ประชาธิปไตยประเทศเข้มแข็ง แนะรัฐบาลเน้นความสำคัญ เพิ่มงบร้อยละ 20-30 แก้ปัญหางบในระบบไม่เพียงพอ พร้อมยกคุณภาพบริการ ดูแลครอบคลุมคนชั้นกลางระดับล่าง
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า เป็นหลักประกันสุขภาพที่คนไทยทุกคนควรได้รับ เมื่อเจ็บป่วยย่อมมีสิทธิในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ เช่นเดียวกับสิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งประเทศที่มีระบบสวัสดิการเข้มแข็ง ยังส่งผลให้ประชาธิปไตยและการเมืองมีความเข้มแข็งตามไปด้วย ดูได้จากประเทศต่างๆ ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่มีการจัดสวัสดิการภาครัฐที่เข้มแข็ง การเมืองและประชาธิปไตยในประเทศล้วนแต่มีความเข้มแข็งทั้งสิ้น เนื่องจากประชาชนต่างรู้สึกว่า เงินภาษีทุกบาทที่จ่ายให้กับรัฐไป บวกกับเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง จะได้คืนกลับมาในรูปของสวัสดิการให้กับประชาชนทั้งสิ้น แต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณภาพของรัฐบาล ดังนั้นหากจะวิเคราะห์ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพแถ้วนหน้าต้องมองภาพรวมทั้งหมด อย่ามองแยกเป็นส่วนๆ แก้ปัญหา เช่น มองว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเริ่มใช้เงินเยอะต้องตัดงบลง ทำแบบนั้นไม่ได้ แต่รัฐต้องดูว่าที่บอกว่าใช้งบเยอะนั้นจริงหรือไม่ โดยดูในรายละเอียด และการที่ของบเพิ่มเติมลงสู่ระบบในทุกปี เป็นเพราะที่ผ่านมางบที่ระบบได้รับนั้นน้อยไปหรือไม่ ควรหางบมาสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างไร
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ถึงระบบสุขภาพของประเทศในภาพรวมขณะนี้ หากระบบสวัสดิการสุขภาพไม่ถ้วนหน้า คือจะให้เฉพาะแต่คนจน บอกได้ว่าคนชนชั้นกลางระดับล่างเป็นกลุ่มคนที่เดือดร้อนหนักสุด เพราะคนรวยนอกจากมีสิทธิซื้อบริการสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่มีเส้นสายที่จะลัดคิวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาล ทั้งยังได้รับการดูแลอย่างดี ขณะที่คนจนซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีฐานข้อมูลและได้รับการดูแลอยู่ในระบบอยู่แล้ว โดยเฉพาะในหน่วยบริการภาครัฐ แต่คนชั้นกลางระดับล่างนอกจากมีข้อจำกัดการเข้ารับการรักษายังหน่วยบริการภาครัฐแล้ว การเข้ารักษายังโรงพยาบาลเอกชนยังลำบากในเรื่องค่าใช้จ่าย และหากเจ็บป่วยร้ายแรงก็ถึงขึ้นสิ้นเนื้อประดาตัว ทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ได้รับการดูแล ดังนั้นการบริหารนโยบายสาธารณสุขจึงเป็นประเด็นใหญ่ที่พรรคการเมืองและผู้มีอำนาจบริหารประเทศต้องแสดงความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงทั้งในประเทศยุโรปและสหรัฐฯ เห็นได้ชัดจากกรณีนโยบายโอบามาแคร์ที่ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะยกเลิกแต่ก็ทำไม่ได้เพราะประชาชนต่างห่วงแหนและได้รับผลกระทบหากยกเลิกนโยบายนี้
ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยที่ยังคงมีกระแสบางส่วนในสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินระบบในขณะนี้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า คงต้องสร้างความเข้าใจให้ดี เพราะข้อเท็จจริงแล้วประชาชนต่างต้องการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือโครงการ 30 บาทอยู่ และไม่ต้องการให้ยกเลิก หรือทำให้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบด้อยลง ส่วนที่มองว่ากระทบต่อสถานะการเงินการคลังของประเทศนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ ซึ่งปัจจุบันงบกระทรวงสาธารณสุขรวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด ทั้งที่รัฐบาลควรลงทุนให้มาก เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขล้วนแต่เกี่ยวพันกับประชาชนโดยตรง หากเราทำให้ประชากรในประเทศมีคุณภาพในทุกมิติ จะทำให้ประเทศมีความก้าวหน้าในทุกด้าน นอกจากเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ แล้ว ยังส่งผลให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษา ที่นำมาสู่การลดความเหลื่อมล้ำในประเทศได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้รัฐบาลจัดงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อ รพ.เอกชน ที่ขอออกจากระบบและโรงพยาบาลรัฐที่เกิดปัญหาสภาพคล่อง ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในสวัสดิการรักษาพยาบาลเพื่อดูแลประชาชน จะบอกว่างบประมาณไม่พอคงไม่ได้ ต้องหาเพิ่มเติมหรือลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพื่อให้มีเงินเติมเข้าสู่ระบบเพียงพอ เช่นในปีงบประมาณ 2561 นี้ จะเห็นได้ว่ามีบางกระทรวงได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจำนวนมาก และเมื่อดูความสำคัญแล้วอาจยังไม่ต้องเพิ่มมากในช่วงนี้ แต่ควรดึงกลับมาเพิ่มเติมให้กระทรวงสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก่อน เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรง
ต่อข้อซักถามว่า จากการวิเคราะห์ควรมีการเพิ่มเติมงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ควรเพิ่มเติมจากระดับปัจจุบันอย่างน้อยร้อยละ 20-30 โดยเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ามาแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลรัฐในการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิให้เข้าถึงการรักษา เพื่อไม่ให้ต้องเกิดภาวะขาดทุนและออกจากระบบไป และเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งที่ประสบปัญหาขาดทุน แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นหน่วยบริการรัฐขาดทุนไม่เป็นไรเพราะไม่ได้ทำในเชิงพาณิชย์ แต่หากปล่อยให้ขาดทุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะกระทบต่อการพัฒนาและคุณภาพการรักษาพยาบาลประชาชนได้ ทั้งยังรวมถึงขวัญกำลังใจบุคลากรที่ปฏบัติงาน
- 13 views