นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกต เหตุใดไม่บันทึกข้อมูลสุขภาพลงในบัตรประชาชน แทนการขออนุมัติงบ 120ล้าน จัดทำบัตรสุขภาพข้าราชการ
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่อธิบดีกรมบัญชีกลาง เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 4 ก.ค.2560 อนุมัติกรอบงบประมาณโครงการบัตรรักษาพยาบาลข้าราชการจำนวนกว่า 4 ล้านบัตร รวม 120 ล้านบาทว่า ส่วนตัวยังไม่ได้ติดตามรายละเอียดในเรื่องนี้ และยังไม่ทราบข้อมูลว่าบัตรสุขภาพดังกล่าวจะบรรจุอะไรเข้าไปบ้างจึงยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือในอดีตระหว่างที่มีการเปลี่ยนบัตรประชาชนก็เคยบอกว่าบัตรประชาชนใหม่สามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้ คำถามก็คือเมื่อผลิตบัตรประชาชนใหม่ออกมาแล้วเหตุใดจึงไม่ใช้บัตรเดียวกันนี้ในการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพไปพร้อมๆ กัน
ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องบัตรสุขภาพข้าราชการคงไม่ใช่อยู่แค่เรื่องบัตร เพราะบัตรก็คือบัตร ส่วนตัวคิดว่าประเด็นอยู่ที่ระบบรองรับข้อมูล ซึ่งเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าแต่ละโรงพยาบาลมีระบบข้อมูลผู้ป่วยอยู่ก่อนแล้วว่าเป็นโรคอะไร รักษาตัวอย่างไร รับยาอะไร ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือการเชื่อมข้อมูลจากทุกแห่งมาอยู่ตรงกลาง
“ถ้าบัตรสุขภาพข้าราชการเก็บข้อมูลว่าเดือนนั้นไปรับยาอะไรมา ก็ถามต่อว่าทำไมไม่ใช้บัตรประชาชนแทน มันจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีฟังก์ชั่นนี้โดยที่ไม่ต้องมีบัตร คืออาจจะมีระบบเชื่อมต่อข้อมูลจากทุกๆ โรงพยาบาล คือสามารถเรียกข้อมูลผู้ป่วยขึ้นมาได้ในทุกโรงพยาบาล แต่ที่สุดแล้วก็ต้องรอดูก่อนว่ารายละเอียดของบัตรนี้คืออะไร เหตุใดจึงไม่เลือกออฟชั่นที่ไม่ต้องเสียงบประมาณ” ดร.วรวรรณ กล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2560 น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า กรมบัญชีกลางเตรียมเสนอให้ ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการในช่วงปีงบประมาณ 2560-2561 จำนวน 120 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณเห็นชอบให้ในส่วนการดำเนินงาน ในปี 2560 แต่ให้กรมบัญชีกลางทำการตั้งงบสำรองจ่ายออกไปก่อน เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่ต้องการเริ่มใช้บัตรรักษาพยาบาลข้าราชการในต้นปีงบประมาณ 2561 หรือในต้นเดือน ต.ค.2560
สำหรับรูปแบบบัตรจะใช้แถบแม่เหล็ก เพื่อเสียบเข้ากับเครื่องเพื่อบันทึกข้อมูลและเบิกค่ารักษาพยาบาล โดยให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ออกบัตร ซึ่งจะใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แต่ละบุคคล ถือเป็นการต่อยอดระบบจ่ายตรง
อย่างไรก็ตาม ทางกรมบัญชีกลาง ยังคงโอนเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลตาม ปกติ และยืนยันว่าผู้ที่เคยได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล ทั้งตัวข้าราชการและบุคคลในครอบครัวรวมถึงข้าราชการบำนาญ ยังได้รับสิทธิตามเดิม
- 5 views