นักวิจัยระบบสุขภาพ เสนอทางออกปัญหาบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ แนะ สธ.บรรเทาสถานพยาบาลที่เกิดวิกฤตทางการเงินจากการขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เพิ่มคู่สายฮอตไลน์ให้คำปรึกษา พร้อมกระจายอำนาจให้แต่ละ รพ.ปรับนโยบายให้เข้ากับบริบทของพื้นที่
นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางจัดระบบสุขภาพของรัฐเพื่อดูแลสิทธิสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ รัฐบาลพยายามจัดระบบโดยผ่านการซื้อบัตรประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ถ้าดูในต่างประเทศหลายแห่งก็จะทำเหมือนกัน เพื่อเอาคนเข้าสู่ระบบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดี
ทั้งนี้ นโยบาย One Stop Service ก็มีข้อดี คือ พยายามลดขั้นตอนทั้งหลาย ให้ทุกอย่างอยู่ในที่ๆ เดียวกัน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาภาพใหญ่ได้ โดยฉพาะเรื่องที่ว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในไทย ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบอย่างที่เข้าใจ ประเด็นนี้รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบ และก็น่าสังเกตว่า คำว่าแรงงานหมายถึงใคร คนที่ทำงานในระบบหรือนอกระบบ ซึ่งถ้าเป็นแรงงานในระบบ ก็สามารถติดตามหาคนเหล่านี้ได้ง่ายว่าอยู่ที่ไหน แต่ถ้าเป็นแรงงานนอกระบบจะติดตามเขายาก ซึ่งที่ผ่านมาเรากำหนดให้แรงงานต้องมีนายจ้าง จึงเข้าสู่การประกันสุขภาพ เมื่อแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีนายจ้างแน่นอน ก็จะเกิดปัญหามีนายหน้าตามมา เพื่อจะพยายามลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ ทำให้ค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนสูงขึ้นไปอีกจากระบบนายหน้า แรงงานข้ามชาติเองก็อาจถูกเอาเปรียบ ค่าใช้จ่ายที่สูงก็ทำให้คนหลีกเลี่ยงการซื้อบัตรประกันสุขภาพ โรงพยาบาลส่วนหนึ่งก็ขายบัตรไม่ออก หรือ ขายได้น้อย พอคนจะมาซื้อบัตรก็เป็นคนป่วยมากๆแล้ว ก็พาลไม่อยากขายบัตรเข้าไปอีกเพราะกลัวความเสี่ยงทางการเงินของสถานพยาบาล
“พอ คสช.มีนโยบายหนักๆ มาที มันก็มีปัญหาเรื่องนายหน้าเยอะ เพราะแรงงานนอกระบบเขาไม่อยากซื้อบัตร เนื่องจากเขาไม่มีนายจ้างชัดเจน เขากลัวว่า จะถูกจับและถูกส่งกลับประเทศ เขาก็เลยต้องพยายามซื้อบัตรประกัน และก็ต้องไปหานายหน้า ถ้ารายใดไม่มี ก็ต้องไปหานายจ้างปลอม มันก็จะเปิดช่องให้นายหน้าที่ไม่ดี สามารถที่จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้”
นพ.ระพีพงศ์ กล่าวว่า ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ว่า เราจะจัดการกับแรงงานนอกระบบอย่างไร อันนี้ยังรวมไปถึงว่า แรงงานนอกระบบคืออะไร เพราะเวลาเราใช้คำว่า แรงงาน เราไม่ค่อยระวัง หรือเวลาพูดถึง แรงงานข้ามชาติ นัยยะของรัฐไทย คือ แรงงานข้ามชาติที่อยู่กับนายจ้างไทย แต่ว่าแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งไม่ได้อยู่กับนายจ้างคนไทย หรืออาจอยู่กับนายจ้างไทยแค่เพียงในนาม แต่ความจริงมีมีกิจการตนเอง เช่น ที่เราพบเห็นคนข้ามชาติค้าขายตามแผงลอย
ในส่วนการแก้ปัญหาขอเสนอว่า 1.อาจต้องถอดบทเรียนจากต่างประเทศ ซึ่งบางแห่งเขาพยายามแยกประเด็นเรื่อง การประกันสุขภาพ กับเรื่องแรงงานออกจากกัน เพราะบางทีไปผูกกันมากเกินไป จึงกลายเป็นว่า แรงงานข้ามชาติจะมีประกันสุขภาพได้ ก็ต้องมีใบอนุญาตทำงานเท่านั้น การประกันสุขภาพอาจผูกติดกับถิ่นที่อยู่ที่ลงทะเบียนและอาศัยอยู่จริงแทน ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันก็น่าที่จะทำได้
2.ในเมื่อกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนควบคุมนโยบายนี้ อาจต้องมีกรอบบางอย่างว่า นโยบายจากส่วนกลางที่ให้พื้นที่ปฏิบัติ สิ่งไหนที่ต้องทำ หรือ เรื่องไหนที่สามารถอะลุ้มอะล่วยให้ปรับเข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ได้ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติของการดำเนินนโยบาย และเป็นทุกนโยบาย นั่นคือ นโยบายจากส่วนกลางอาจถูกบิด หรือปรับ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เมื่อลงสู่พื้นที่ เช่น ถ้ามีคนป่วยมาซื้อบัตรประกันสุขภาพ แม้ไม่ป่วยเป็นโรคต้องห้าม ป่วยแค่ไหนถึงจะให้ซื้อได้ หรือซื้อไม่ได้ หรืออย่างไรก็ให้อย่างไรก็ให้ขายบัตรทุกราย
3.ถ้ากระทรวงสาธารณสุขจะช่วยแก้ปัญหา ก็น่าจะต้องทำศูนย์ที่เข้มแข็งกว่านี้ กลุ่มประกันสุขภาพที่มีอยู่ก็มีข้อจำกัด เช่น ต้องมีคู่สายให้เขาติดต่อเพิ่มขึ้น ติดต่อได้ 24 ชั่วโมง เพราะถ้าสายเดียวเหมือนในปัจจุบันมันไม่เพียงพออยู่แล้ว เพื่อให้พื้นที่ปรึกษาได้อย่างทันท่วงทีว่า กรณีแบบนี้จะจัดการอย่างไร ส่วนกลางช่วยตัดสินใจ ระบบที่ว่านี้อาจคล้ายฮอตไลน์ของ สปสช.สายด่วน 1330 และไม่ใช่เฉพาะผู้ให้บริการแต่ผู้รับบริการก็สามารถร้องเรียนเข้ามาด้วย ซึ่งก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพการบริการไปในตัว และหากเกิดปัญหา ผู้ให้และผู้รับบริการก็ไม่ต้องไปพยายามเข้าร้องเรียนสื่ออย่างเดียวแบบในอดีต
4.ต้องมีแผนสำรองให้กับผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาล เพราะต่อให้บังคับแรงงานข้ามชาติให้มาทำบัตรประกันสุขภาพแค่ไหน แต่เขาก็ไม่มาก็ได้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของตลาดสุขภาพ ตราบใดที่ยังใช้ระบบการซื้อขายบัตรอยู่ ควรมีแผนสำรองคือ ต้องไม่ให้ผู้ให้บริการรู้สึกว่า ตัวเองได้รับความกดดันทางเงินมากเกินไป มิฉะนั้น ผู้ให้บริการก็พูดได้เสมอว่า สถานพยาบาลขาดทุนเพราะขายประกันสุขภาพกับแรงงานข้ามชาติไม่ออก ถ้าจะให้งบสนับสนุน ก็ค่อยมาพิจารณาว่างบนั้นมาจากไหน จากตัวบัตรเองที่เกลี่ยมาจากโรงพยาบาลอื่นที่ได้กำไร หรือเป็นงบประมาณกลางเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความตกลงและความพร้อมในเชิงนโยบาย ว่าจะพร้อมสนับสนุนเพียงใด เช่น อาจจำกัดเฉพาะโรคที่เป็นภัยทางสาธารณสุข หรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินร้ายแรงก่อนก็ได้ ซึ่งในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ก็พัฒนาระบบในลักษณะนี้มาแล้ว
“ผมไม่อยากเห็นข่าวทุก 2-3 เดือน ที่ว่า โรงพยาบาลไม่อยากขายประกันสุขภาพเพราะขายแล้วขาดทุน เสร็จแล้วคนข้ามชาติร้องเรียน ก็เปิดขาย แล้วก็ขาดทุน แล้วก็ร้องเรียน แล้วไงต่อ อีก 2 เดือนก็มีข่าวแบบนี้วนไปมา แล้วทำไมต้องไปผ่านสื่อ ถ้าเรามีกลไกอย่างนี้ มันก็บรรเทาลง และแทนที่จะไปโทษโรงพยายาล กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องแอคชั่นด้วย ถ้าทำอย่างนี้ แรงงานข้ามชาติและโรงพยาบาลเองก็จะรู้ด้วยว่า สิ่งไหนคุณทำได้หรือทำไม่ได้” นพ.ระพีพงศ์ กล่าว
นพ.ระพีพงศ์ กล่าวถึงกรณีบุคลากรสาธารณสุขหน้างานที่ให้การรักษาแรงงานข้ามชาติ อาจมีความไม่เข้าใจในการปฏิบัติ จึงทำให้มีปัญหาบางครั้งว่า ปกติแล้วนโยบายจากบนที่สั่งการลงมา เมื่อมาสู่ระดับล่างมันจะถูกบิดไปได้เรื่อยๆ เรื่องนี้เราต้องตั้งโจทย์ว่า เราอยากให้เขาบิด หรืออยากให้เขาดำเนินนโยบายถูกประการ
ทั้งนี้ จากที่เคยสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงพยาบาลบางท่านบอกว่า การดำเนินนโยบายแรงงานข้ามชาติไม่อยากให้เป๊ะ คือ อยากให้พื้นที่ได้ปรับตัวให้กับสถานการณ์ในพื้นที่ เช่น ต่อให้โรงพยาบาลขายบัตรประกันสุขภาพทุกคน แต่ก็เจอปัญหานายจ้างปลอมกดดัน หรือโรงพยาบาลขอขายเฉพาะคนที่สุขภาพแข็งแรงได้ไหม เพราะโรงพยาบาลก็ต้องอยู่รอดด้วย ถามว่าเรื่องนี้เป็นความผิดของผู้ให้บริการหรือไม่ มันก็พูดได้ไม่เต็มปาก เขาก็ต้องบอกว่า มันเป็นความอยู่รอดของเขา ดังนั้น ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่า ความไม่เข้าใจ แต่โรงพยาบาลเขาต้องทำอย่างนั้น
- 18 views