ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับกลุ่มศิลปินร่วมสมัยและภัณฑารักษ์ เปิดนิทรรศการ People, Money, Ghosts (Move as Metaphor) ตั้งประเด็นเชื่อมโยงการไร้ถิ่นฐานของผู้คน ความพลิกผันเปลี่ยนแปลงและผลกระทบสืบเนื่องในฐานะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ร่วมสมัย พร้อมเปิดตัววารสารใหม่ Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia หวังเปิดพื้นที่วิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยในไทย

8 มี.ค. 2560 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับกลุ่มศิลปินร่วมสมัยและภัณฑารักษ์ จัดงานเสวนาเปิดนิทรรศการ People, Money, Ghosts (Move as Metaphor) โดยมีงานแสดงตั้งแต่ 7 มี.ค. ถึง 18 มิ.ย. 2560 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 9.00 – 20.00 น

งานเสวนาชวนพูดคุยถึงแนวคิดทฤษฎีกับความเชื่อทางจิตวิญญาณ สุนทรียะกับวิทยาการและประสบการณ์การเดินทางของศิลปินแต่ละคนในพื้นที่ที่ตนไม่คุ้นชิน ผ่านการเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงเรื่องราวทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าหากัน ศิลปินได้ทำงานโดยใช้สื่อที่หลากหลาย เช่น ภาพถ่าย วิดีโอ ประติมากรรม โดยมีศิลปินผู้เข้าร่วมงานเสวนา คือ เอมี เลียน, เอ็นโซ คามาโช, เหงียน ธี ธันห์ ไม, ไขวสัมนาง ร่วมด้วย โรเจอร์ เนลสัน ภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรผลงาน

เอมี เลียน และ เอ็นโซ คามาโช (Amy Lien & Enzo Camacho) ทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2552 โดยผลงานชุดใหม่นี้พวกเขาเรียกว่า “ประติมากรรมวิดีโอ” (video sculpture) สำรวจรูปลักษณ์และตัวตนของสิ่งคล้ายผีที่มีผู้พบเจอตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้รูปสัญลักษณ์เป็นบทกวีที่สะท้อนสัมผัสของตัวตนที่ผันแปรไม่หยุดนิ่ง เป็นสัมผัสของตัวตนที่ไร้ศูนย์กลางตายตัว ตัวตนที่เคลื่อนย้ายอพยพมากกว่าสงบนิ่งที่ ‘บ้าน’ หรือสถานที่จำเพาะ และแข็งขืนต่อการจำแนกประเภทด้วยตรรกะและเหตุผล

เอมี กล่าวว่า ผลงานของเธอและเอ็นโซ นำเสนอ โดยใช้ความเชื่อของท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องผีกระสือ หรือที่ชาวกัมพูชาเรียกว่าเอิบ (arb) เธอทำงานเกี่ยวข้องกับพื้นที่ท้องถิ่น และได้มีโอกาสเดินทางไปหลายที่ทั้งในกัมพูชาและพื้นที่อื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานศิลปะของเธอและเอ็นโซเป็นวิดีโอประติมากรรมของผีกระสือที่มีแต่หัว และส่วนด้านล่างฉายโปรเจกเตอร์เป็นวิดีโอสั้นที่ถ่ายในกรุงพนมเปญ โดยเธอต้องการพูดถึงความกลัวและความไม่แน่นอน การที่ผีกระสือไปอยู่ในพนมเปญซึ่งเป็นพื้นที่กำลังพัฒนา มีการไหลเข้ามาของเงินทุน มีการก่อสร้างผุดขึ้นมากมาย การเก็งกำไรทางอสังหาริมทรัพย์ เป็นเหมือนความไม่แน่นอนในพื้นที่ท้องถิ่นดั้งเดิมที่กำลังแปรเปลี่ยนไป คล้ายเป็นการก่อสร้างและรื้อสร้างอยู่ตลอดเวลา โดยในส่วนของวิดีโอนั้นเป็นสุนทรียะของการรื้อสร้างที่มีอิทธิพลมาจากแฟชั่นและหนังทดลอง

เอ็นโซพูดถึงส่วนของวิดีโอ เขากล่าวว่า ผีกระสือสื่อถึงภาวะการแตกแยกระหว่างหัวกับตัว เป็นเหมือนสิ่งที่เคลื่อนไหวได้โดยไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง ประติมากรรมผีกระสือแทนที่ส่วนล่างจะเป็นไส้ก็ถูกแทนที่ด้วยโปรเจกเตอร์ที่ฉายภาพลงบนพื้น เป็นภาพแทนของร่างกายผีกระสือ โดยมีวิดีโอทั้งหมด 3 ตอน ตอนแรกเป็นเรื่องเล่าของการได้พบกันของชายสองคนและความรักของพวกเขา โดยมีสถานที่ถ่ายทำเป็นสิ่งก่อสร้างที่กำลังถูกพัฒนา ตอนที่สองเป็นการจีบกันของชายสองคน โดยมีสถานที่ถ่ายทำในบาร์เกย์ และตอนที่สามเป็นการออกเดทกันของทั้งคู่ โดยมีตอนจบที่ค่อนข้างคลุมเครือ แสดงถึงความรัก การเป็นเจ้าของ ความเครียด ความกังวล ภาวะภายในเมื่อตกหลุมรัก สถานที่ถ่ายทำคือห้างสรรพสินค้า วิดีโอเหล่านี้ได้มีการคัดเลือกนักแสดงจากเหล่านักเต้นในพนมเปญ

ทั้งนี้ในวิดีโอมีทั้งฉากที่ถ่ายทำในพนมเปญตัดต่อสลับกับฟุตเทจจากเมืองจีน ซึ่งเป็นเมืองใหม่ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจเช่นกัน มีการเคลื่อนไหวของสินค้าและเงินทุนเช่นเดียวกับพนมเปญ โดยต้องการแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ท้องถิ่นในแต่ละจุดว่ามีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในพื้นที่อื่นๆ อย่างไรบ้าง จึงนำบริบทของเมืองจีนเข้ามามาเชื่อมด้วย
 

ตัวตนของคนไร้สัญชาติ

ชื่อชุดผลงานว่า “Day by Day” ของ เหงียน ธี ธันห์ ไม (Nguyen Thithanh Mai) สำรวจประสบการณ์ผู้อพยพของชุมชนชาวเวียดนามไร้รัฐที่ใช้ชีวิตในหมู่บ้านลอยน้ำในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ชุมชนดังกล่าวต้องประสบความยากแค้นนานหลายทศวรรษ ทั้งถูกกวาดล้างระหว่างช่วงสงครามอเมริกันในเวียดนามและภายใต้การปกครองของเขมรแดงในกัมพูชา และเข้าไม่ถึงสิทธิทั้งการศึกษาและสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนทางกฎหมาย

เหงียน ธี ธันห์ ไมกล่าวว่า เริ่มต้นทำโปรเจกต์เกี่ยวกับผู้อพยพในปี 2557 ที่พนมเปญ กัมพูชา เจอคนไร้สัญชาติ อยู๋ในหมู่บ้านลอยน้ำ เด็กไม่สามารถไปโรงเรียน คนอื่นไปทำงานโรงงานไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน จากเรื่องเล่าของพวกเขาทำให้เธอเดินทางท่องไปหลายที่ในกัมพูชาและเวียดนาม เข้าไปอาศัยอยู่กับชุมชนที่อยู่บนเรือลอยน้ำตามตะเข็บชายแดนนานตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์ และเรียนรู้ชีวิตของพวกเขา คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าเหตุใดอยู่กัมพูชามาหลายชั่วอายุคน แต่ไม่สามารถเป็นคนกัมพูชาได้ ในขณะเดียวกันถึงแม้จะยังรักษาวัฒนธรรมเวียดนามอยู่แต่ก็เป็นคนเวียดนามไม่ได้เช่นกัน
งานที่จัดแสดงของเธอประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือการจัดแสดงบัตรประชาชนกว่า 240 ใบของคนเหล่านี้ โดยที่ในบัตรไม่มีการระบุสัญชาติเลย ส่วนที่สองเป็นรูปถ่ายกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของคนเหล่านี้ เช่น การไปร้านทำผม การทำงาน การละเล่นของเด็ก แล้วใช้ปากกาดำระบายตัวบุคคลให้เป็นเหมือนเงา เปรียบเทียบกับการไร้สัญชาติ ที่ทำให้พวกเขาไร้ตัวตน ส่วนที่สามเป็นการจำลองบ้านของคนเหล่านี้ซึ่งสร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ รื้อถอนได้ง่าย ต้นทุนต่ำ เผื่อกรณีย้ายกะทันหัน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถซื้อที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่สะดุดตาในบ้านคือภาพถ่ายที่ติดบนฝาผนัง ซึ่งเป็นภาพคนไร้สัญชาติเหล่านี้ยืนอยู่ในสถานที่สำคัญต่างๆ ด้วยใบหน้ามีความสุข โดยที่ความจริงเป็นภาพตัดต่อที่เอาใบหน้าของดาราหรือคนมีชื่อเสียงที่อยู่ในภาพจริงออกแล้วใส่ใบหน้าของพวกเขาเข้าไปแทน

โปรเจกต์นี้เธอทำร่วมกับช่างภาพท้องถิ่นและครอบครัวคนไร้สัญชาติ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสถานที่ที่พวกเขาถูกตัดต่อเข้าไปคือที่ไหน พวกเขาต่างบอกความฝันของตัวเองให้เธอฟัง บางคนอยากไปชายหาด บางคนอยากไปสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเวียดนาม หรืออย่างเด็กชายคนหนึ่งอยากได้มอเตอร์ไซค์ ภาพเหล่านี้จึงเป็นเหมือนภาพถ่ายบันทึกความฝันและความปรารถนาของแต่ละคนโดยผ่านกระบวนการโฟโต้ชอป

เมื่อถามว่าเธอคิดว่าสิ่งที่ทำนี้จะเป็นการช่วยคนไร้สัญชาติเหล่านี้ได้ไหม เหงียน ธี ธันห์ ไมตอบว่า สื่อมวลชนหรือคนที่ให้ความช่วยเหลือมักเข้าไปชั่วคราวแล้วจากไป แต่เธอเข้าไปอยู่กับพวกเขานานเป็นเดือน โดยใช้ระยะเวลาสามปี ผลงานที่จัดแสดงของเธอจึงเป็นเหมือนการนำเรื่องเล่าของคนไร้สัญชาติเหล่านี้เผยแพร่สู่คนภายนอก อีกทั้งยังมีสารคดีความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงซึ่งเป็นการบันทึกคำพูดของคนเหล่านี้โดยตรง

ไขวสัมนาง (Khvay Samnang) มีผลงานคือ “Rubber Man” งานชิ้นนี้สำรวจผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคม และจิตวิญญาณ ของการเพาะปลูกยางพาราในตอนเหนือของกัมพูชาและ “Yantra Man” เป็นการสำรวจประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมในวงกว้างเกี่ยวกับทหารกัมพูชาผู้ถูกส่งไปร่วมรบให้กองทัพฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ไขวสัมนางกล่าวว่า ผลงานของเขาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ วิดีโอและศิลปะจัดวาง “Rubber Man” ซึ่งพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาที่รัฐบาลกัมพูชาเอาพื้นที่ของคนท้องถิ่นในเมืองรัตนคีรีทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา ไปใช้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ชุมชนต่างๆ ถูกยึดพื้นที่ และประชาชนเดินทางเข้ามาประท้วงที่พนมเปญ โดยเขาเริ่มศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้ตั้งแต่ปี 2555 เขาพบว่าสภาพแวดล้อมธรรมชาติเปลี่ยนไปและคนท้องถิ่นก็มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเริ่มต้นทำงานชิ้นนี้คือ เมื่อตอนที่เขาอยู่ที่พนมเปญ เขาฝันถึงชายผิวขาวที่นำพาเขาไปสู่ป่าไม้ เขาสงสัยว่าชายคนนี้คือใคร ป่าไม้นั้นคือที่ไหน และทำให้เขาอยากไปเมืองรัตนคีรีที่กำลังเกิดปัญหา เมื่อไปถึงเขาตกใจว่านี่เป็นป่าในความฝันของเขา และความจริงนี่ไม่ใช่ป่าธรรมดา แต่เป็นป่ายางพารา เพราะคนที่นี่ดำรงชีวิตด้วยการปลูกยางพารา เขาจึงคิดว่าชายผิวขาวคนนี้คงเป็นจิตวิญญาณจากป่าที่เข้ามาประท้วงและอยากสื่อให้เขาได้รับรู้

นอกจากนี้ยางพาราในภาษาสเปนยังแปลว่า “crying tree” หรือต้นไม้ร้องไห้ ซึ่งเขาพบตอนทำงานวิจัยเกี่ยวกับต้นยาง รวมทั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สวนยางที่ใหญ่สุดในโลกก็อยู่ที่กัมพูชา

จากคำถามเรื่องวิญญาณของชายผิวขายคนนั้นคือใคร นำไปสู่ผลงานชิ้นที่สอง “Yantra Man” ซึ่งเป็นการผสมระหว่างเกราะอัศวินและผ้ายันต์ โดยผลงานชิ้นนี้ทำขึ้นเมื่อเขาได้มีโอกาสไปอาศัยในเยอรมนีในฐานะศิลปิน ก่อนไปครอบครัวของเขาได้ซื้อผ้าใบสีขาวและใช้เท้าของแต่ละคนละเลงสีลงบนผืนผ้า จากนั้นจึงให้พระที่วัดทำเป็นผ้ายันต์

ในตอนที่เขาอยู่ที่เยอรมนีนั้น เขารู้สึกว่าเข้ากับวัฒนธรรมและภูมิอากาศของที่นั่นค่อนข้างลำบาก และยากที่จะอธิบายถึงปัญหาในกัมพูชาให้กับคนเยอรมันเข้าใจ เขาจึงเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ในเบอร์ลิน และประทับใจกับผลงานที่เป็นเกราะของอัศวิน จึงได้เชื่อมโยงมันเข้ากับผ้ายันต์ป้องกันตัวของนักรบกัมพูชา นอกจากนี้เขายังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของคนกัมพูชาในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นกัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส คนกัมพูชากว่า 3,500 คนเข้าร่วมสงครามกับฝรั่งเศสในการสู้รบกับเยอรมนี และตายในสงครามทั้งจากการสู้รบ ขาดอาหาร เรือล่ม และหนาวตาย เป็นการสะท้อนไปมาระหว่างประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของเหล่าทหาร และประสบการณ์ร่วมสมัยของคนที่ต้องทำงานไกลบ้าน

หลังจบการเสวนาได้มีการเปิดตัววารสารใหม่ Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia วารสารวิชาการว่าด้วยเรื่องศิลปะสมัยใหม่ร่วมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มภัณฑารักษ์และศิลปิน มีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายศิลปะร่วมสมัยเหล่านี้ในรูปแบบงานเขียนเชิงวิชาการและการเปิดพื้นที่ให้แก่การวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในประเทศไทย เผยแพร่ทั้งในแบบรูปเล่มและออนไลน์