ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” เผยผลสำรวจการรับบริการระบบปฐมภูมิ ทั้งกลุ่ม ขรก.และ สปส.ครึ่งหนึ่งหากเจ็บป่วยเล็กน้อยเลือกดูแลตนเอง ทั้งจ่ายเงินรักษาที่คลินิกหรือซื้อยากินเอง เหตุ รพ.รัฐ แออัด รอนาน แถมยังต้องควักประเป๋าเองบางรายการเหตุกองทุนเลี่ยงจ่าย แนะเป็นโอกาสมุ่งพัฒนาระบบปฐมภูมิ ดึงคลินิก ร้านยา เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย รพ. เพิ่มการเข้าถึง แต่ย้ำรัฐต้องกำหนดเป็นนโยบายชัดเจนขับเคลื่อนร่วมกับภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันดึง รพ.เอกชน ร่วมทำ Mega Project CSR รักษาผู้ป่วย    

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีผลสำรวจศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุถึงการเติบโตของ รพ.เอกชน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นมาก ส่งผลให้คนชั้นกลางที่เจ็บป่วยเล็กน้อยที่ไม่อยากเข้ารับบริการ รพ.รัฐ ด้วยปัญหารอคิวนาน หันมาใช้บริการทางเลือกอื่น อย่างคลินิกและร้านยาแทนว่า จากข้อมูลนี้สอดคล้องกับ 2 งานวิจัยที่ได้ทำก่อนหน้า คือ โครงการวิจัยการให้บริการระบบปฐมภูมิเขตเมือง สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ได้ศึกษาการรับบริการปฐมภูมิในกลุ่มข้าราชการและประกันสังคม และงานวิจัยการรับบริการของผู้มีสิทธิประกันสังคม ที่สนับสนุนโดยสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว สาเหตุจากการรับบริการยัง รพ.ภาครัฐนั้นมีปัญหามากตามมีคำกล่าวที่ว่า หน้างอ รอนาน บริการช้า ที่เกิดจากจำนวนผู้ป่วยแออัด บุคลากรจำกัด แต่ภาระงานมาก แต่จะไปรับบริการเอกชนก็จ่ายค่ารักษาไม่ไหว จึงเลือกที่จะไปรับบริการยังคลนิกหรือร้านยา ทั้งแบบร้ายาดั้งเดิมและแฟรนไชส์แทน  

ทั้งนี้พฤติกรรมนี้ จากที่ได้สำรวจในกลุ่มข้าราชการ 3 พันคน พบว่า ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการตั้งแต่เงินเดือนน้อยไปจนถึงเงินเดือนสูงๆ ปรากฎว่าในทุกเศรษฐานะเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ได้รุนแรงหรือฉุกเฉินถึงชีวิต ร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งจะเลือกวิธีดูแลตนเองทั้งที่คลินิกและร้านยา แม้ว่าเบิกจ่ายไม่ได้ โดยยินดีที่จะจ่ายเงินเอง เช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่ได้สำรวจจำนวน 2 พันคน ใน 6 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 40 เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยก็เลือกที่จะรับบริการคลินิกหรือร้านยาเช่นกัน โดยต่างมีเหตุผลในเรื่องความไม่สะดวกรับบริการที่ รพ.รัฐ นอกจากความแออัดและรอนานแล้ว ยังมีเหตุผลการเลี่ยงเบิกจ่ายของกองทุนที่ทำให้ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ขณะที่บริการ รพ.เอกชน ถึงจะมีความสะดวก แต่ก็มีอัตราค่ารักษาที่แพงเกินไป 

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า จากข้อมูลผลสำรวจนี้และผลการศึกษาวิจัยทั้ง 2 โครงการต่างเป็นแนวโน้มเดียวกัน จำเป็นที่รัฐบาลต้องวางแผนรองรับ โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งการบริการระดับปฐมภูมิให้มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ส่วนตัวมองว่าเป็นโอกาสพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคลินิกและร้านยาให้เชื่อมโยงกับเครือข่ายบริการ ทำให้เกิดคุณภาพและมาตรฐานบริการมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมคลินิกและร้านยาต่างแยกการบริหารจัดการ ทั้งการจัดอุปกรณ์ทางการแพทย์ การจัดเก็บยา การตรวจสอบยาหมดอายุ และการติดต่อกับบริษัทยา เป็นต้น

การพัฒนาต่อไปอาจมีการจัดระบบร่วมกันซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองกับบริษัทยาได้ ขณะเดียวกันยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับคลินิกและร้านยากับประชาชนที่รับบริการ นอกจากนี้ยังอาจเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนเพื่อเป็นแม่ข่ายบริการในการดูแลรักษาผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเองยังได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐในการลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่อง อาจรับยาที่คลินิกหรือร้านยาได้ โดยมีระบบในการติดตามและเฝ้าระวัง

“ขณะนี้มีหลายโรงพยาบาลนำร่องโครงการในรูปแบบนี้แล้วที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลภูมิพล เป็นต้น ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะมีการขยายบริการในรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับวิถีชีวิตและแนวโน้มการรับบริการรักษาพยาบาลในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เรื่องนี้ควรกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาลที่ชัดเจน แม้ว่าปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขจะมีการดำเนินการ อาทิ นโยบายคลินิกหมอครอบครัว แต่มองว่าเป็นการทำเฉพาะส่วน เน้นเครือข่ายหน่วยบริการในสังกัด สธ.ที่ยังไม่ตอบโจทย์ โดยมองว่านโยบายนี้จำเป็นต้องอาศัยองคาพยพทุกภาพส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ตั้งแต่โรงพยาบาล ไปจนถึงคลินิกและร้านยาในการเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อรับมือกับแนวโน้มบริการสุขภาพที่มีการเปลี่ยนแปลง”

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ในงานวิจัยการให้บริการระบบปฐมภูมิเขตเมืองยังได้มีการสำรวจความต้องการบริการสุขภาพยังหน่วยบริการใกล้บ้านที่เข้าถึงได้ง่าย โดยมีด้วยกัน 6 ประเภท คือ 

1.การรักษาเจ็บป่วยเล็กน้อย 

2.การส่งเสริมสุขภาพอย่างการให้คำปรึกษาสุขภาพ 

3.การป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีน 

4.การรักษาพยาบาลอุบัติเหตุเล็กน้อย 

5.การรักษาโรคเรื้อรังต่อเนื่อง

และ 6.การฟื้นฟูสภาพ อย่างการทำกายภาพบำบัด

เหล่านี้เป็นบริการที่ประชาชนอยากเข้าถึงง่าย ไม่ต้องไปแออัดเพื่อรับบริการที่โรงพยาบาลอย่างเดียว ซึ่งในการผลักดันนอกจากนโยบายรัฐที่ชัดเจนแล้ว ยังต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่ขับเคลื่อน โดยมองไปยังที่ สวรส.ในฐานะหน่วยงานวิจัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการทำงานร่วมกับประชาสังคม เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ

ส่วนผลวิจัยที่ระบุถึงการขยับค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนจนทำให้คนชั้นกลางเข้าไม่ถึงนั้น ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนเป็นสถานประกอบการเพื่อทำกำไร ดังนั้นการดำเนินงานจึงเป็นการทำเพื่อมุ่งแสวงหาผลกำไร และต้องเป็นกำไรที่เติบโตต่อไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลนั้นย่อมต้องสูงขึ้นแน่นอน จึงมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติและกลุ่มผู้ป่วยที่มีเงินจ่ายได้ หรือมีประกันเอกชนดูแล อย่างไรก็ตามรัฐอาจดึงเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยดูแลผู้ป่วยได้ เนื่องจากโรงพยาบาลเหล่านี้เป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเมดิคัล ฮับ หรือการลดภาษี เป็นต้น จึงอาจร่วมทำ Mega Project CSR เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) แทนการทำโครงการปลูกป่า และอื่นๆ แทน เป็นการเชื่อมโยงโรงพยาบาลเอกชนกับระบบรักษาพยาบาล