“หมอธีระ” ห่วง “ปั้มลูกเพื่อชาติ” แค่นโยบายสร้างกระแส ขาดความรอบด้าน หวั่นเกิดผลลบตามมา ระบุการเพิ่มประชากรประเทศ ต้องบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงาน วางนโยบายช่วยลดภาระการเลี้ยงดู ทั้งด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และรักษาพยาบาล หนุนสร้างประชากรเกิดใหม่มีคุณภาพ ชี้แค่แจกโฟลิกและยาธาตุเหล็กไม่ตอบโจทย์ แถมไม่ช่วยแก้ปัญหาการตั้งท้องไม่มีคุณภาพในกลุ่มวัยรุ่นท้องไม่พร้อม
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การออกนโยบายใดนโยบายหนึ่ง ผู้ออกนโยบายควรคำนึงถึงผลกระทบรอบด้านทั้งผลบวกและผลลบ ซึ่งนโยบาย “ส่งเสริมสาวไทยแก้มแดงมีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินโฟลิกและธาตุเหล็ก” ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ที่ผ่านมา พร้อมจัดอีเว้นท์เพื่อสร้างกระแสนั้น มองว่าเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความสับสนในสังคม เนื่องจากในนโยบายนี้มีหลายวัตถุประสงค์ ทั้งการเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศ เพราะขณะนี้อัตราการเกิดใหม่ประชากรเริ่มติดลบ มีอัตราการตายประชากรที่สูงกว่า และเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบต่อวัยแรงงานที่จะทดแทนในระบบ ขณะเดียวกันยังเป็นการแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ โดยการแจกโฟลิกและธาตุเหล็กฟรี
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า คำถามที่เกิดขึ้นคือนโยบายนี้จะช่วยเพิ่มประชากรได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่มีความพร้อมและอยากให้ตั้งครรภ์ เนื่องจากในการเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมานั้น นอกจากการดูแลในช่วงขณะตั้งครรภ์ที่ต้องได้รับการฝากครรภ์ การเสริมโฟลิกและธาตุเหล็กแล้ว ในการเลี้ยงดูยังตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กเติบโตและเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และค่ารักษาพยาบาล เหล่านี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่กว่า แต่กลับไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในนโยบายนี้ ดังนั้นในการประกาศนโยบายจึงควรมีการระบุด้วยว่า หากมีลูกช่วยชาติแล้วจะได้รับการสนับสนุนอะไรบ้างในการเลี้ยงดูลูก ไม่ใช่แค่การรณรงค์ให้มีลูกเท่านั้นและสุดท้ายตกเป็นภาระที่ตนเองรับไม่ไหว ซึ่งจะกระทบต่อตัวเองและเด็กที่เกิดมาในที่สุด
“การประกาศนโยบายนี้หากครอบคลุมกลุ่มคนทุกกลุ่ม ทุกเศรษฐานะ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ รองรับเพื่อทำให้เด็กที่เกิดมาได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั้งในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยเพื่อไม่ให้กลับมาตกหลุมแบบในอดีต เกิดภาวะคนจนมีลูกมาก แต่พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูเพราะต้องดิ้นรนทำกินจนส่งผลให้เด็กเหล่านี้กลุ่มหนึ่งเข้าสู่วงจรยาเสพติดและอาชญากรรม รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีฐานะร่ำรวยที่พบว่าบางครอบครัวใช้วิธีเลี้ยงลูกด้วยเงิน ไม่ได้กล่อมเกลาหรือสร้างแบบอย่างที่ดีที่ทำให้เด็กเกิดปัญหาได้เช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาทั้งในแถบยุโรปและสิงคโปร์ต่างให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างมาก”
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ซ้ำเมื่อดูนโยบายนี้ในแง่ของสุขภาพแล้ว การออกนโยบายเดียวที่ครอบคลุมใช้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในประเทศ อาจทำให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพตามมาได้ เนื่องจากประชากรประเทศมีปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย และเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเป็นพาหะธาลัสซีเมีย หากมีการให้ธาตุเหล็กเสริมเพิ่มเติมกับคนกลุ่มนี้ก็อาจไม่ส่งผลดีในทางสุขภาพกับผู้ที่รับยาธาตุเหล็กเพิ่มได้ ซึ่งการดำเนินนโยบายในรูปแบบนี้จึงต้องคิดอย่างถ้วนถี่ และต้องมีหลักฐานวิชาการรองรับการให้โฟลิกและธาตุเหล็กโดยเป็นนโยบายระดับชาติจะให้ผลจริงหรือ หรือให้มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมที่ต้องมีการให้รายละเอียด ไม่ใช่ทำแบบเหมารวมให้ทุกคนปฏิบัติเหมือนกัน เพราะอาจทำให้เกิดผลลบตามมาได้
ส่วนการมุ่งเพื่อแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่มีคุณภาพจากภาวะท้องไม่พร้อมของกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่ยอมเข้ารับบริการฝากครรภ์ ด้วยการแจกโฟลิกและธาตุเหล็กนั้น ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า หากเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่มีคุณภาพจากภาวะท้องไม่พร้อมนี้ มองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาแบบคิดทิศทางเดียวคือจากบนลงล่าง เป็นการกล่าวโทษว่าคนไม่มารับบริการฝากครรภ์เองและปล่อยเกิดปัญหา โดยในเรื่องนี้หากแก้ปัญหาให้ตรงจุดต้องมีการทบทวนการจัดบริการที่ไม่สามารถรองรับคนเหล่านี้ได้ เช่น การบริการจำกัดเฉพาะในเวลา สถานที่บริการเมื่อเดินเข้าไปแล้วทำให้เกิดการตีตราหรือไม่ ดังนั้นอาจต้องมีการใช้มาตรการเชิงรุก ออกแบบวิธีที่เหมาะสมในรูปแบบอื่นแทน ไม่ใช่หน่วยบริการยังคงให้บริการแบบเดิมแต่ใช้วิธีป่าวประกาศให้คนมา ซึ่งวิธีนี้ทำอย่างไรกลุ่มท้องไม่พร้อมก็คงไม่เดินเข้ามาฝากครรภ์ ทั้งนี้รวมไปถึงการหาวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่น ไม่ใช่แค่การตีปิ๊บระวังวัยรุ่นไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงวาเลนไทน์อย่างทุกปีที่ผ่านมา
“งานนี้เป็นการจัดอีเว้นท์แบบยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว แต่ปรากฎว่ากระสุนที่ยิงออกไปนกกลับไม่ตายซักตัว และที่ผ่านมาการจัดนโยบายอีเว้นท์ที่หวังเพียงกระแสและไม่รอบคอบแบบนี้เริ่มมีมากขึ้น ในฐานะนักวิชาการเห็นแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งนอกจากทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแล้ว ยังอาจทำให้เกิดผลกระทบทางลบตามมาได้ ดังนั้นจึงขอฝากไปยังกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า นโยบายที่ส่งผลต่อคนหมู่มาก การประกาศเรื่องใดต้องกลั่นกรองให้ถี่ถ้วน ประเมินผลให้รอบด้านก่อน อย่ากลัวที่จะไม่มีผลงาน และอย่ายึดติดวาะระผู้บริหาร แต่ควรใส่ใจประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะทำให้มีการคิดหน้าคิดหลังมากขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มประชากรประเทศอย่างมีคุณภาพจำเป็นต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานใดเพียงลำพังได้” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว
- 90 views