"...กินนานแล้วเตี้ย..." นี่คือสาระ (ขัน) ที่ได้ยินจากแถลงการณ์กลุ่มคนมีความรู้แห่งดาวยูเรนัส

"...วัวชิด..." นี่คือคำอุทานในใจ ที่ไม่ได้มีความหมายสลักสำคัญอะไรนัก แต่สะท้อนความที่อยากส่งไปให้กลุ่มคนที่แถลง

ตายล่ะหว่า จบหมอมาสองทศวรรษแล้ว ความรู้ของเรามันล้าสมัยไปแล้วเหรอเนี่ย

หลงเข้าใจ และปักใจเชื่อมาตลอดว่า คนเราเติบโตได้ดีต้องได้รับการเลี้ยงด้วยคน...ผู้เป็นแม่

แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วเหรอ ถ้าจะเลี้ยงให้โตไวไว แข็งแรงบึกบึน อดทนดั่งกระทิงเปลี่ยว ต้องเลี้ยงด้วย"วัว"

มิน่าล่ะ ตามโรงบาลดาวยูเรนัสจึงเห็นแต่โฆษณาประชาสัมพันธ์นมวัวหลากยี่ห้อ ตั้งแต่แม่ยังไม่คลอด คลอดแล้ว แถมมีผลิตภัณฑ์ยัดใส่มือกลับไปกินต่อที่บ้านอีกต่างหาก

กลับบ้านยังไม่พอ ในทีวียังตามมาหลอนทุกวี่วัน วัวผนึกกำลังโอเมก้าสามสี่ห้าหกจากปลา ช่วยให้คนฉลาดเติบโตแข็งแรง...แต่ทั้งวัวและปลาก็ล้วนตายเพราะถูกจับมาแปรรูปเป็นอาหารให้คน

งงวุ้ย...ตกลงคน วัว ปลา ใครฉลาด...ใครโง่?

เหลียวหาพี่ๆ ครูอาวุโสแวดวงอาหารและเด็ก ที่มีชื่อเสียงในทางช้างเผือก ก็ไม่ค่อยเจอตัว เพราะได้รับเชิญไปชมโรงงานนมวัว นมผง แถมเดินสายโปรโมทตามต่างประเทศ กินอยู่เที่ยวกันสบายกระเป๋า...ไอ้เราสิไม่มีใครชวนมั่ง จะได้ตอบปฏิเสธไป

ถามใครไม่ได้...นึกถึงคำสอนว่า ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน

ค้นหาข้อมูลเองละกัน...

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ค้นไปค้นมามีเรื่องเยอะเลยแฮะ

รู้ไหมว่า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ชนชาวเอสกิโมเลี้ยงลูกหลานตัวเองด้วยนมแม่นานสุดถึง 15 ปี ทำสถิตินานที่สุดเท่าที่โลกเคยบันทึกไว้

สมัยก่อนคนทั่วโลกยังไม่รวยเหมือนสมัยนี้ ลูกจึงได้ดูดนมแม่กันนาน รักและผูกพันธ์กันใกล้ชิดเพราะรับความอบอุ่นจากอกแม่...แต่เดี๋ยวนี้เจอกันผ่านเฟซไทม์บ้าง สไกป์บ้าง หนักหน่อยก็ผ่านโน้ตที่แม่เขียนไว้บนโต๊ะ หรือหนักที่สุดก็คือคุยกันโดยฝากคำพูดผ่านแม่บ้านหรือพี่เลี้ยง...

พอสมัยก่อนเลี้ยงลูกด้วยนมกันมาก ธุรกิจหัวใสอยากขายของ ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า กินนานไปแม่และลูกอาจมีปัญหานะ พยายามรายงานเหตุการณ์ชวนหัว ทำให้ตื่นกลัวกันหลากหลาย

ค.ศ.1842 มีรายงานแม่ให้นมลูกนานเกินไปจะเป็นโรคลมชัก ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการแพทย์ชื่อดังระดับโลก แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยืนยันได้

มีความพยายามต่อเนื่องมาตลอด แต่ที่ดูจะประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ การตั้งข้อสังเกตว่าให้ลูกกินนมแม่นานๆ จะเจริญเติบโตช้า เตี้ย ขาดสารอาหาร โดยมีการจับกลุ่มทำการศึกษาวิจัยแบบชงให้ตบหลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะการไปทำการสำรวจในกลุ่มประเทศยากจน ที่เจ็บป่วยเป็นโรคเยอะ ไม่มีตังค์ซื้อหาอาหาร แถมครอบครัวแต่ละครอบครัวก็มีลูกดก ลูกคนโตๆ ก็ต้องรีบหยุดกินนมเพื่อให้น้องกิน ลูกท้องหลังๆ ก็จะต้องกินนมนานกว่าเพื่อนด้วยสองเหตุผลคือ ไม่มีคนแย่ง และที่สำคัญกว่านั้นคือกินนมแม่ประหยัดกว่าต้องหาอาหารมาให้กิน ส่วนพวกคนโตที่สำรวจเจอก็คือพวกที่อึด ทน เอาชีวิตรอดมาได้จนแข็งแรง แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ตายไปก่อน ไม่เหลือรอให้สำรวจ...ดังนั้นงานวิจัยหลายเรื่องจึงเอามาใช้จับต้นชนปลายแล้วสรุปหาคำตอบว่า กินนมแม่นานกับไม่นานจะมีผลต่อสุขภาพหรือไม่...ไม่ด้ายยยยย

การจะตอบคำถามดังกล่าวได้อย่างมั่นใจ จะต้องออกแบบการศึกษาวิจัยให้รัดกุม กำจัดอิทธิพลของปัจจัยภายนอกที่เป็นหรืออาจเป็นตัวกวนต่อผลที่ต้องการจะวัด ภาษาวิจัยหรูๆ เรียกว่าการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม...Randomized controlled trial (RCT)

และจะดีมากๆ หากมีงานวิจัยชนิด RCT ที่รัดกุมและมีมากกว่าหนึ่งงานแล้วได้ผลเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกัน แถมหากทำในต่างที่ต่างเชื้อชาติแล้วผลก็ครือกัน เพื่อให้ชัวร์ว่าไม่มีเซอร์ไพรส์...ซึ่งการจะรวมผลวิจัยจากหลายงานมารวมกันเพื่อหาข้อสรุปแบบฟันธงเนี่ย เค้าเรียกหรูๆ ว่า งานวิจัยทบทวนอย่างเป็นระบบ (Systematic review) ซึ่งจะใช้เทคนิควิเคราะห์ทางสถิติมาช่วย (อย่าเพิ่งรู้เลย อยากรู้ต้องมาเรียนมหาลัย บอกหมดเดี๋ยวไม่มีอะไรจะสอน ^_^)

มาๆ กลับเข้าเรื่อง...เดี๋ยวเขียนเล่าไม่จบก่อนลูกชายเลิกคลาสดนตรี

สัญลักษณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สากล (Matt Daigle, ผู้ชนะการประกวดของนิตยสาร Mothering ปี ค.ศ. 2006

นมแม่น่ะดีไหม...Kramer MS และคณะ ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยด้านหญิงตั้งครรภ์และเด็กแรกคลอด ทำงานวิจัยทบทวนอย่างเป็นระบบ ตีพิมพ์เมื่อสิงหาคม 2555 โดยรวมงานวิจัยที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้จำนวน 23 ชิ้น เป็น RCT 2 ชิ้น และประเภทอื่น 21 ชิ้น สรุปได้ว่า นมแม่นั้นดีแน่ๆ ยิ่งให้เกิน 6 เดือน จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหารของลูก ดีกว่าการให้ระยะที่สั้นๆ แถมไม่พบผลเสียทั้งต่อแม่และลูก เพียงแต่หากให้นมแม่นานๆ อาจพบภาวะขาดธาตุเหล็กในแม่ได้โดยเฉพาะในประเทศยากจน จึงต้องควรเสริมธาตุเหล็กและอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ

อยากรู้หรือยังว่าให้นมแม่นานๆ แล้วมีผลต่อเด็กไหม? 

จะเตี้ยหรือเปล่า?

ปี ค.ศ.2013 Delgado C และคณะได้ตีพิมพ์ผลการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยสืบค้นงานกว่า 3,651 ชิ้น พบว่ามีงานวิจัย 45 ชิ้นที่พยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการให้นมแม่กับการเจริญเติบโตของเด็ก สุดท้ายแล้วมี 19 ชิ้นที่เจาะลึกถึงระยะเวลาให้นมแม่นานตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

พอวิเคราะห์ผล พบว่า "หลายประเทศในโลกมีแนวโน้มส่งเสริมให้นมแม่นานมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีหลักฐานที่จะสรุปได้ว่าให้นมแม่นานกว่า 2 ปีแล้วเกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเด็ก"

ในทางกลับกัน การให้นมแม่เกินขวบปีแรกไปนั้น กลับเป็นกลยุทธ์ที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมให้เด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดในด้านต่างๆ นอกเหนือไปจากการกินนมอีกด้วย 

ถึงแม้ปริมาณน้ำนมของแม่โดยเฉลี่ยในขวบปีที่สองจะลดลง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่ายังคงเป็นแหล่งวิตามินเอ โปรตีน แร่ธาตุสำคัญๆ ซึ่งอาหารเสริมอื่นๆ ไม่มี ดังนั้นการให้นมแม่หลังจากขวบปีแรกควบคู่ไปกับอาหารก็มีคุณูปการต่อเด็ก

และที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ที่ประชาชนควรรู้คือ เด็กๆ จะเจริญเติบโตทางร่างกายได้ดีนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งอาหารการกินที่ต้องเพียงพอและครบทุกหมู่อย่างสมดุล มีการออกกำลังกายพอเหมาะ รวมถึงพันธุกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ก็มีผลเช่นกัน ส่วนความฉลาดนั้นก็เช่นกัน นอกจากพื้นฐานร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอันเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้แล้ว การส่งเสริมกระตุ้นการเรียนรู้ การอบรมสอนสั่งของพ่อแม่พี่น้องในครอบครัว และสภาพแวดล้อมรอบตัวในชีวิตเด็กก็มีผลไม่แพ้กัน

ที่โฆษณา "HACTA" ที่ดาวยูเรนัสว่าผลิตภัณฑ์วัวชิดผสมน้ำมันปลาตายจะทำให้ฉลาดเติบโตแข็งแรงนั้น...รับรู้เอาไว้ว่า เพลงเพราะเสนาะหู แต่ดูแล้วหาสาระไม่ได้

ท่ามกลางระบบสังคมทุนนิยมที่สนับสนุนการค้าเสรีนั้น สิทธิเสรีภาพในการค้าขายย่อมต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ...คือรับทั้ง"ผิด"และ"ชอบ"

แต่เรากลับเห็นแต่สถานการณ์ที่ชนชาวยูเรนัสถูกมอมเมาด้วยข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้น แยกเท็จจริงไม่ค่อยได้ แถมจะพึ่งเหล่ากูรู้ทั้งหลาย ก็ดันยิ่งทำให้สับสนหนัก เพราะไม่รู้ว่ากูรู้นั้นได้รับการชวนไปท่องเที่ยวบ่อยหรือไม่ อย่างไร ได้งบโน่นนี่นั่นจากใครบ้าง มากน้อยเพียงไร จนล่าสุดมาเห็นแถ-ลงการณ์"กินนานแล้วเตี้ย"นี่แหละ

จึงทำให้คิดว่า จะช่วยชาวยูเรนัสได้ คงมีวิธีเดียวเท่านั้น วิธีอะไรเหรอ?

ต้องไปดักถามท่าน...ตอนเล่นกีฬาวันพุธเย็นครับ!

แหล่งความรู้ที่ควรไปอ่านเพิ่ม:

1. Martin RM. Does breastfeeding for longer cause children to be shorter? Commentary, Int J Epidemiol, 2001:30(3);481-4.

2. Kramer MS et al. Optimal duration of exclusive breastfeeding. Cochrane review, 2012.

3. Delgado C et al. Breastfeeding up to two years of age or beyond and its influence on child growth and development: a systematic review. Cad Saude Publica, 2013:29(2);243-56.

4. Horta BL et al. Long term effects of breastfeedings. WHO 2013.

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย