ในปี 2015 ที่ผ่านมานั้นสมาคมแพทย์โรคหัวใจในอเมริกา (American Heart Association) ได้มีการปรับปรุงแนวทางการช่วยชีวิตขั้นสูง (Advanced Cardiac Life Support - ACLS) จากแนวทางเดิม โดยตัดยาที่ชื่อว่า vasopressin ออกเนื่องจากเหตุผลว่ายาตัวนี้ "ไม่มีหลักฐานว่าสร้างประโยชน์ให้ผู้ป่วย"
การปรับปรุงแนวทางให้มีความทันสมัยกับหลักฐานที่ได้จากงานวิจัยใหม่ๆ นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดี และการดูแลผู้ป่วยก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยขึ้นมาอยางหนึ่ง
ถ้าอย่างนั้นแล้วก่อนหน้าที่เราเคยใช้ vasopressin เราก็ทำ "ผิด" น่ะสิ?
ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่นั้น อาจารย์คนหนึ่งได้บอกกับพวกเราไว้ว่า “ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของสิ่งที่พวกหมอรู้จะล้าสมัย มันจะถูกพิสูจน์ว่าไม่จริง หรือไม่ก็ถูกแทนที่ด้วยอะไรที่ดีกว่า”
ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง ทุกวันนี้หลังจากที่ผมจบออกมาทำงานได้ประมาณ 5 ปีก็มีเทคนิคหรือยาจำนวนมากที่ผมไม่ได้ใช้แล้ว มียาหลายตัวที่วิธีใช้แตกต่างไปจากที่เรียนมา มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่ทำให้ได้ผลในการรักษาพยาบาลดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่แค่นั้นบางอย่างที่เคยเชื่อกันในอดีตว่าดีก็กลับกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในปัจจุบัน เพราะหลักฐานใหม่ๆ บอกว่าสิ่งเหล่านั้นให้ผลเสียกับผู้ป่วยมากกว่าจะสร้างประโยชน์
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดในช่วงหลังๆ ที่วิทยาการก้าวหน้าแล้ว แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เส้นทางของการแพทย์นั้นเต็มไปด้วยการค้นพบว่าสิ่งที่เคยทำกันมานั้นไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งทำให้ผู้ป่วยแย่ลงกว่าเดิม และเราก็จะแทนที่สิ่งเหล่านั้นด้วยสิ่งใหม่ๆ ที่ให้ผลดีกว่าเดิม วงจรเช่นนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และก็จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในอนาคต
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าวันหนึ่งผู้ป่วยจะถามว่า "หมอรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่หมอทำอยู่มันถูกต้อง? หมอรู้ได้ยังไงว่าวันพรุ่งนี้มันจะไม่มีสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่หมอกำลังจะทำให้ฉัน?"
แล้วผมจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไร?
ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) คือนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่หลายๆ คนน่าจะรู้จักในฐานะผู้คิดค้นกฎ 3 ข้อสำหรับหุ่นยนต์ (ต้องปกป้องและห้ามทำร้ายมนุษย์ ทำตามคำสั่งมนุษย์เสมอถ้าไม่ขัดกับข้อแรก และปกป้องตัวเองเสมอถ้าไม่ขัดกับสองข้อแรก) เขาเคยเขียนความเรียงเรื่อง "The Relativity of Wrong" ซึ่งแปลได้ว่า "ความสัมพัทธ์ของความผิดพลาด" เอาไว้ใน The Skeptical Inquirer เมื่อปี 1989 (ถ้าอยากอ่านฉบับเต็มเอาชื่อเรื่องกับชื่ออาซิมอฟไปค้นดูได้เลยครับ ฉบับเต็มนั้นยาวอยู่สักหน่อยแต่ผมคิดว่าอาซิมอฟเขียนไว้ได้ดีมากทีเดียว มีภูมิปัญญาแฝงเอาไว้ในนั้นเยอะมาก)
เนื้อหาในความเรียงนั้นมีดังนี้
เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งอาซิมอฟได้รับจดหมายจากผู้เขียนซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์คำพูดที่อาซิมอฟเคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์มีความเข้าใจพื้นฐานของกลไกต่างๆ ในจักรวาลแล้ว” ผู้เขียนจดหมายได้อ้างถึงประวัติศาสตร์มนุษย์ว่า ในอดีตนั้นก็เคยมีหลายต่อหลายครั้งมนุษย์เคยเชื่อว่ามีความเข้าใจในกลไกต่างๆ ในจักรวาล แต่ความเชื่อเหล่านั้นก็ถูกพิสูจน์ว่าผิดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่านับครั้งไม่ถ้วน ถ้าอย่างนั้นแล้วอาซิมอฟจะกล้าพูดได้อย่างไรว่าวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจในกลไกต่างๆ ของจักรวาลแล้ว
อาซิมอฟตอบประเด็นนี้ด้วยการถามคำถามหนึ่ง โดยคำถามนั้นก็คือ มนุษย์เราผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกก็จริง แต่ประเด็นคือที่ผิดแต่ละครั้งนั้นมันเท่ากันไหม? แล้วเขาก็ยกตัวอย่างของความเข้าใจเกี่ยวกับโลก
ในยุคโบราณมนุษย์เชื่อว่าโลกแบน แต่จริงๆ แล้วความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง
หลังจากนั้นในยุคกรีกโบราณคนก็เริ่มเชื่อว่าโลกกลม แต่จริงๆ แล้วความเชื่อนี้ก็ไม่ถูกต้อง
ในศตวรรษที่ 18 คนเริ่มเชื่อว่าโลกเป็นรูปรีๆ โดยป่องออกตรงเส้นศูนย์สูตร (เพราะแรงหนีศูนย์กลางจากการหมุนรอบตัวเอง) แต่จริงๆ แล้วความเชื่อนี้ก็ยังไม่ถูกต้อง
ในศตวรรษที่ 20 คนเริ่มเชื่อว่าโลกเป็นรูปลูกแพร์เพราะว่าซีกโลกเหนือนั้นป่องมากกว่าซีกโลกใต้ ปัจจุบันนี้เรายังเชื่อว่าสิ่งนี้ถูกต้อง แต่เราก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันจะถูกต้องจริง และวันหนึ่งมันอาจจะถูกพิสูจน์ว่าผิด
ดังนั้นในแง่หนึ่ง ผู้เขียนจดหมายนั้นก็พูดถูก ความคิดความเชื่อมากมายของมนุษย์นั้นถูกพิสูจน์ว่า "ผิด" มาตลอดประวัติศาสตร์ และไม่มีอะไรมาบอกได้ว่าตอนนี้เรา "ถูก" อย่างสัมบูรณ์ ถ้าเราแบ่งคำตอบเป็นแค่ถูกหรือผิด เป็นแค่สีขาวหรือสีดำ ความเข้าใจที่มนุษย์มีต่อจักรวาลก็คงจะเป็นสีดำอยู่ร่ำไปเพราะมันคงจะไม่มีวันถูกต้องสัมบูรณ์
ทว่าหากเราลองเปรียบเทียบระดับของความผิดพลาดเหล่านี้แล้ว เราจะพบว่ามันลดลงจากระดับโลกทั้งใบ ไปเป็นระดับสิบกว่าเซนติเมตรต่อกิโลเมตร จนสุดท้ายไปถึงระดับไมโครเมตรต่อกิโลเมตร ทั้งหมดเป็นความผิดพลาดจริง แต่เทียบในเชิงสัมพัทธ์แล้วระดับความผิดพลาดมันน้อยลงไปเรื่อยๆ
เราไม่ใช่สีขาว แต่เราก็ไม่ได้เป็นสีดำ
ในอดีตนั้นการช่วยชีวิตชั้นสูงก็คล้ายๆ กับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับโลก
เราเคยเชื่อว่าต้องเปิดหน้าอกผู้ป่วยเพื่อทำการนวดหัวใจโดยตรงถึงจะได้ผล
เราเคยปั๊มหัวใจในอัตราและความลึกที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับวิธีที่เราทำในปัจจุบัน
เราเคยให้ความสำคัญกับการช่วยหายใจมากกว่าการกดหน้าอก
แต่ทุกวันนี้เราเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นและเราสามารถให้ผลการรักษาที่ดีกว่าในอดีต ถึงแม้ว่าเราจะพูดไม่ได้ว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดอย่างสัมบูรณ์แล้ว แต่เราก็สามารถพูดได้เต็มภาคภูมิว่าสิ่งที่เราทำวันนี้นั้นดีกว่าเดิม ดังนั้นถ้ามีผู้ป่วยมาถามผมด้วยคำถามข้างต้นผมก็คงจะตอบดังนี้ว่า
"ผมไม่สามารถพูดได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องสัมบูรณ์ ผมบอกไม่ได้ว่าพรุ่งนี้จะมีการค้นพบสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในวันนี้หรือไม่ แต่ผมพูดได้แน่นอนว่าวันนี้เราผิดน้อยกว่าเมื่อวาน และวันนี้คือวันที่เราผิดน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
เราอาจจะยังไปไม่ถึงสีขาว แต่ว่าสีเทาของเรานั้นจางลงเรื่อยๆ ทุกวัน"
ผู้เขียน : นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์
(เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกส่วนตัวเมื่อ 31 มกราคม 2559, ปรับปรุงเพื่อเผยแพร่ใน HFocus.org วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559)
- 7 views