ตอนเด็ก ๆ ผมใช้เวลาอยู่กับคุณปู่และคุณย่าเยอะ ซึ่งทั้งสองก็มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ปู่ของผมนั้นเคี่ยวเข็ญในเรื่องเรียนมาก แล้วก็เจ้าระเบียบแทบจะทุก ๆ เรื่อง ผมถึงขนาดเคยน้ำตาไหลพรากคาไม้เรียวมาแล้วเพราะท่องสูตรคูณไม่ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ ส่วนย่าก็จะตรงข้าม ย่าจะคอยเอาใจและดูแลแทบทุกอย่าง เวลาผมทำผิดก็จะคอยปกป้อง ขอให้ปู่คาดโทษไว้ก่อนเสมอ แล้วก็ไม่ได้เคี่ยวเข็ญกับการเรียนแต่บอกแค่ให้พยายามไปเรื่อย ๆ
สถานการณ์นี้ทำให้ผมติดย่ามาก และในขณะเดียวกันก็แหยงปู่มากด้วย ซึ่งคงไม่น่าแปลกใจเพราะใคร ๆ ก็ชอบเวลามีคนมาช่วยเหลือ และไม่ชอบให้ใครมาบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำ แต่ในเรื่องของลักษณะความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันสองขั้วนี้ก็มีประเด็นสำคัญที่น่าขบคิดอยู่
คำถามนั้นคือ การเคี่ยวเข็ญของปู่มีความสำคัญต่อการที่ผมประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่? หรือในทางกลับกันก็คือถ้าผมมีแต่ย่าที่คอยเอาใจแต่ไม่มีปู่ที่คอยเคี่ยวเข็ญ ผมจะเติบโตมาได้ไกลดังเช่นในทุกวันนี้หรือไม่? คำตอบที่มีให้กับตัวเองคือผมน่าจะเคยตัวมากกว่านี้ พยายามเรียนน้อยกว่านี้ และน่าจะไม่ได้มีการศึกษาและการงานที่ดีดั่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือจะกล่าวในอีกแบบหนึ่งก็คือแม้ว่าการถูกบังคับเคี่ยวเข็ญจะไม่ใช่เรื่องน่าถวิลหา แต่มันก็ยังช่วยผลักดันผมให้ตั้งใจและพยายามมากขึ้น
คุณปู่ของผมนี้ถ้าจะเปรียบกับวิชาชีพต่าง ๆ ก็เหมือนกับหน่วยงานที่คอยรักษามาตรฐานและเคี่ยวเข็ญให้บุคคลในวิชาชีพนั้น ๆ ต้องพัฒนาตัวเองให้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เป็นเหมือนไม้บรรทัดที่คอยวัดว่าใครดีพอ ใครไม่ดีพอ โดยไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาเอาใจกัน ในวิชาชีพแพทย์ของผมหน่วยงานที่เกิดขึ้นเพื่อการนี้ก็คือแพทยสภา ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรกำกับมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ไม่ว่าจะเป็นการสอบใบประกอบโรคศิลป์หรือการสอดส่องดูแลจริยธรรมและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
แต่ปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งของแพทยสภาในปัจจุบันก็คือแพทยสภาพยายามจะเป็นทั้งคุณปู่และคุณย่าของผมไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือแพทยสภาพยายามจะสวมบทบาทคุณปู่ที่เป็นไม้บรรทัดคอยบังคับเอามาตรฐานจากแพทย์ไปพร้อม ๆ กับการสวมบทบาทคุณย่าที่คอยเอาใจและช่วยเหลือแพทย์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
หน้าที่ในการเป็นไม้บรรทัดของแพทยสภานั้นก็ยังคงทำอยู่ต่อเนื่องมาแต่อดีต แพทยสภากำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ทำการสอบสวนกรณีร้องเรียนผู้ที่ปฏิบัติไม่ได้มาตรฐาน และกำหนดเกณฑ์การสอบใบประกอบโรคศิลป์ แต่ในช่วงหลัง ๆ เรามักจะเห็นบทบาทในการช่วยเหลือแพทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นการที่แพทยสภาผลักดันนโยบายที่สามารถมองได้ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับแพทย์ในการสู้คดี (เช่น คำสั่งแพทยสภา ราชวิทยาลัยงดให้ความเห็นทางการแพทย์: รวบอำนาจ หรือ มาตรฐานวิชาชีพ ? และ เปลี่ยน ‘บริการ’ เป็น ‘บริบาล’ ช่วยลดฟ้องร้องแพทย์ เพิ่มประโยชน์ ปชช.ได้หรือไม่) การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาเสนอนโยบายช่วยเหลือแพทย์ด้วยกันเอง หรือจากการที่แพทย์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่าแพทยสภามีหน้าที่ปกป้องแพทย์ และคนไม่น้อยในสังคมก็มีความรู้สึกว่าแพทยสภาไม่เป็นกลาง สถานการณ์เช่นนี้นั้นสร้างปัญหาให้กับความน่าเชื่อถือของแพทยสภาเป็นอย่างมาก
นี่เป็นเพราะว่าการเป็นไม้บรรทัดกับการคอยเอาใจนั้นเป็นบทบาทที่แตกต่างกันมากและยากที่จะรวมกันได้ ลองคิดดูถ้าผมมีปู่ที่เดี๋ยวก็เข้มงวดสุด ๆ แล้วจู่ ๆ ก็ใจดีสุด ๆ ผมก็คงสับสนน่าดู เพราะบางครั้งผมอาจทำตัวเหลาะแหละ แต่ถ้าตอนนั้นเป็นปู่มุมใจดี ผมก็คงไม่ถูกดุอะไรแม้จะสมควรถูกดุ ขณะเดียวกันในบางครั้งผมอาจทำตัวดีแล้วแต่คุณปู่อยู่ในมุมเข้มงวด ผมก็คงถูกดุแม้ว่าจะไม่สมควรถูกดุ
ซึ่งถ้าเป็นระดับผู้ปกครองดูแลบุตรหลานความไม่แน่นอนที่ว่านี้ก็คงไม่ได้สร้างปัญหาในวงกว้าง แต่ความแตกต่างที่สำคัญก็คือแพทยสภานั้นมีหน้าที่ในการยืนยันกับสาธารณชนว่ามาตรฐานที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ดังนั้นเมื่อแพทยสภารับบทบาททั้งไม้บรรทัดวัดแพทย์และผู้ช่วยเหลือแพทย์ไปพร้อม ๆ กันแล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่ข้อวินิจฉัยต่าง ๆ จากแพทยสภาจะมีน้ำหนักน้อยลง ถ้ามีประเด็นร้องเรียนแล้วแพทยสภาวินิจฉัยว่าแพทย์ปฏิบัติถูกต้อง สาธารณชนจะรู้ได้อย่างไรว่าในขณะนั้นแพทยสภารับบทคุณย่าผู้ใจดีและแอบช่วยเหลือแพทย์อยู่รึเปล่า?
เราจะเห็นผลของเรื่องนี้ได้จากการที่ในอดีตนั้นเมื่อผู้ใดต้องการร้องเรียนแพทย์ก็จะทำการร้องเรียนต่อแพทยสภาเป็นหลัก แต่ในช่วงหลัง ๆ นี้เราไม่ได้ยินใครพูดถึงการร้องเรียนต่อแพทยสภาอีกแล้ว มีแต่เรื่องของการฟ้องศาล การเปลี่ยนแปลงนี้ก็สะท้อนว่าสาธารณชนไม่เห็นประโยชน์จากการร้องเรียนกับแพทยสภา จึงเลือกที่จะพ้องร้องผ่านองค์กรภายนอก แทนที่จะให้แพทยสภากำกับดูแลพฤติกรรมแพทย์ด้วยกันเอง
แล้วคำตอบของสถานการณ์นี้คืออะไร? เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นนักศึกษาแพทย์นั้นอาจารย์ท่านหนึ่งเคยถามผมว่าแพทยสภามีหน้าที่อะไร ผมและเพื่อน ๆ ตอบว่ามีหน้าที่ช่วยเหลือแพทย์ ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่าไม่ใช่ หน้าที่ของแพทยสภาคือเข้มงวดกับแพทย์ อาจจะถึงขั้นต้องคอยจับผิด เพราะบทบาทที่สำคัญที่สุดของแพทยสภาคือการรักษามาตรฐานของวงการแพทย์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ด้วยเหตุนี้จะช่วยเหลือแพทย์ด้วยกันไม่ได้
ตอนเด็ก ๆ ผมเคยซื้อไม้บรรทัดถูก ๆ มาอันหนึ่ง ไม้บรรทัดนั้นตีเส้นไว้เบี้ยว ๆ ไม่ตรงเท่าไร เมื่อผมเอาไปวัดอะไรก็ไม่ตรง สิ่งเดียวที่ผมทำได้คือโยนไม้บรรทัดนั้นทิ้งแล้วไปซื้ออันใหม่ เมื่อสังคมบอกไม่ได้ว่าไม้บรรทัดที่ใช้วัดอยู่นั้นตรงหรือไม่ เขาก็จะไปหาไม้บรรทัดอันใหม่ที่เขามั่นใจว่าตรงกว่ามาวัดแทน แพทยสภาจึงต้องยุติบทบาทที่ทับซ้อนเพื่อไม่ให้ใครมององค์กรว่าเป็นเหมือนไม้บรรทัดเบี้ยว ๆ อันนั้น
แต่ถึงกระนั้นบทบาทในการช่วยเหลือแพทย์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ในปัจจุบันนี้แพทย์มีปัญหาในการทำงานมากอยู่แล้วเพราะถูกกดดันจากรอบทิศทางไม่ว่าจะโดยระบบหรือโดยผู้รับบริการ ดังนั้นจึงยังต้องมีองค์กรที่รับหน้าที่คุณย่าใจดีผู้คอยช่วยเหลือแพทย์
องค์กรที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบันก็คือแพทยสมาคม เพราะแพทยสมาคมนั้นถูกตั้งขึ้นมาโดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนและพัฒนาหมู่แพทย์ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่เกี่ยวกับการรักษามาตรฐานวิชาชีพ ดังนั้นจึงสามารถที่จะรับบทบาทคุณย่าผู้ช่วยเหลือได้โดยไม่บทบาทที่ทับซ้อน
โดยเมื่อแพทยสมาคมรับหน้าที่มาแล้วก็ควรจะปฏิบัติงานในรูปแบบของสหภาพแรงงานแพทย์ นั่นคือทำหน้าที่ในการรวมกลุ่มวิชาชีพแพทย์ เป็นกระบอกเสียงในการรักษาสิทธิประโยชน์ของแพทย์ และปกป้องแพทย์เมื่อมีกรณีฟ้องร้องหรือถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรมจากสังคม
หากเราจะดูตัวอย่างจากสหภาพแรงงานที่มีอยู่ในประเทศไทยเราก็จะเห็นว่าลักษณะการทำงานคือการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้ผู้ที่อยู่ในสังกัดสหภาพเดียวกัน เช่นสหภาพแรงงานการบินไทยเรียกร้องให้ผู้บริหารลาออกเพราะมีความพยายามที่จะเอาผิดพนักงานอย่างไร้เหตุผล (สหภาพฯการบินไทย ยืนยันเดินหน้าปฏิบัติการ 'Shutdown TG' ) หรือสหภาพแรงงานการไฟฟ้าที่พยายามผลักดันให้มีสภาพของการจ้างงานที่เป็นธรรมต่อพนักงานมากขึ้น (ดู ที่นี่) นี่เป็นลักษณะของการช่วยเหลือแพทย์ด้วยกันที่แพทยสมาคมสามารถทำได้ โดยไม่ได้ทำให้เกิดผลใด ๆ ต่อความน่าเชื่อถือของแพทยสภา
เราลองมาดูกรณีสมมติกันสักหน่อย สมมติว่ามีกรณีฟ้องร้องแพทย์และต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกัน บทบาทที่เหมาะสมของแพทยสภาก็คือการคัดเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อเบิกความเรื่องรายละเอียดทางวิชาการและมาตรฐานการปฏิบัติงานของแพทย์ ในขณะเดียวกันแพทยสมาคมก็จะเป็นผู้จัดหาทีมกฎหมายเพื่อว่าความช่วยเหลือแพทย์ผู้ถูกฟ้องร้อง นี่จะเป็นการแบ่งหน้าที่กันอย่างเหมาะสมและชัดเจน แพทยสมาคมไม่ได้มีหน้าที่ในการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพดังนั้นจึงไม่ควรคัดเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญ และควรจะช่วยในการแก้ต่างให้แพทย์ผู้ถูกฟ้องร้องจะเหมาะสมกว่า ส่วนแพทยสภาเมื่อเป็นผู้ควบคุมมาตรฐานก็ไม่ควรตั้งทีมกฎหมายมาช่วยเหลือแพทย์ที่เป็นจำเลย ควรจะตั้งต้นเป็นกลางในฐานะผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
บางคนอาจจะคิดว่าถ้าเช่นนั้นแพทยสภาก็จะต้องขัดแย้งกับแพทยสมาคมน่ะสิ ความจริงคือภายใต้แนวคิดนี้ทั้งสององค์กรจะต้องปฏิบัติงานในรูปแบบที่สวนทางกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งสององค์กรจะต้องขัดแย้งกัน เพราะความสมดุลระหว่างความเข้มงวดกับความช่วยเหลือก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่เสมอ ในข้างต้นผมพูดถึงกรณีสมมติว่าถ้าผมไม่มีคุณปู่คอยเข้มงวดผมอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเช่นนี้ แต่หากเป็นกรณีตรงกันข้ามและผมไม่มีคุณย่าที่คอยช่วยเหลือ ชีวิตของผมก็คงจะตึงเครียดจนท้อแท้ไม่อยากทำอะไรก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เราจะต้องการผู้ที่เข้มงวดและบังคับให้เราพัฒนาตัวเองไปพร้อม ๆ กับผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุน เพียงแต่การให้องค์กรเดียวรับบทบาททั้งสองอย่างนั้นทำให้สาธารณชนขาดความมั่นใจ จึงต้องแยกบทบาททั้งสองออกไปให้สององค์กร
แน่นอนว่าคุณปู่กับคุณย่าของผมก็มีความเห็นไม่ตรงกันบ้างในบางเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองคนทะเลาะกัน ผมเชื่อว่าคุณปู่คุณย่ารู้ว่าแต่ละคนมีส่วนสำคัญต่อวัตถุประสงค์หลัก นั่นคือการเลี้ยงดูผมให้เติบโตเป็นบุคคลที่ดีขึ้น และสิ่งนี้ทำให้ทั้งสองไม่ได้ทะเลาะกันแม้ว่าจะมีมุมมองและแนวทางคนละแบบ บทบาทที่แตกต่างระหว่างแพทยสภากับแพทยสมาคมก็มีลักษณะเหมือนกันคือไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างความขัดแย้ง แต่มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกันคือสร้างวิชาชีพแพทย์ให้พัฒนาไปอย่างมีคุณภาพ การมองว่าแต่ละองค์กรทำงานสวนทางกันนั้นเป็นแค่การมองที่รายละเอียดปลีกย่อยโดยไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด ความจริงคือภายใต้แนวคิดนี้สององค์กรจะทำงานที่แตกต่างกันแต่เสริมสร้างซึ่งกันและกัน
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเหมาะสมที่แพทยสมาคมจะก้าวเข้ามารับบทบาทที่สำคัญในฐานะคุณย่าผู้ช่วยเหลือ และให้แพทยสภารับบทบาทคุณปู่ผู้เข้มงวดและคอยรักษามาตรฐานวิชาชีพเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงนี้จะยุติบทบาททับซ้อนของแพทยสภา นำมาซึ่งความเชื่อถือจากสาธารณชนที่มากขึ้น แล้วยังทำให้ทั้งสององค์กรปฏิบัติงานได้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
หากท่านสนใจอ่านความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแยกแยะบทบาทของแพทยสภาให้ชัดเจน ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความของศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส เรื่อง ปัญหาฟ้องร้องทางการแพทย์และแนวทางแก้ไข ตีพิมพ์ลงในจุลนิติ ฉบับ พ.ค. - มิ.ย. 2554 (ดู ที่นี่)
ผู้เขียน: นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์
นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์
- 105 views