เมื่อเดือนกรกฎาคมของปี 2016 เบทซี เดวิส ซึ่งเป็นจิตรกรและนักศิลปะการแสดง ได้เชิญเพื่อนสนิทและสมาชิกครอบครัวไปที่บ้านของเธอในเมืองโอไจ รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อที่จะจัดการปาร์ตี้กันเป็นเวลา 2 วันเต็มๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ ทุกคนได้รับอนุญาตให้ทำอะไรอะไรก็ได้ อยากแต่งตัวยังไงก็ได้ อยากจะร้องเพลง เต้นรำ เล่นเกม หรืออะไรก็ทำได้หมด ยกเว้นอยู่แค่อย่างเดียว

ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ร้องไห้ ยกเว้นตัวเธอเองเท่านั้น

ฟังดูเป็นเรื่องแปลกที่จะต้องมีกฎนี้อยู่ เพราะใครที่ไหนเล่าจะมาร้องไห้ในงานปาร์ตี้? แล้วทำไมเจ้าของงานปาร์ตี้จะต้องร้องไห้ด้วย? แต่งานปาร์ตี้นี้มีฉากจบที่ไม่เหมือนกับงานปาร์ตี้ทั่วไป

ขอบคุณภาพจาก www.the-star.co.ke

เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนหน้านั้นเบทซีถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค ALS หรือชื่อเต็มๆ คือ amyotrophic lateral sclerosis หรือ Lou Gehrig Disease ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับการเสื่อมของระบบประสาท โรคนี้จะทำให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อชิ้นใดๆ ในร่างกายได้เลย ผู้ป่วยโรคนี้นั้นมักจะเสียชีวิตจากการที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนหายใจได้ไม่เพียงพอ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเจาะคอและใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยก็จะไม่เสียชีวิตจากโรคนี้และอยู่ต่อไปได้นานขึ้นด้วยอุปกรณ์พยุงชีพ แต่ในท้ายที่สุดก็จะเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ เช่นการติดเชื้อ หัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดอุดตันในปอด ฯลฯ

เบทซีไม่ได้มีความปรารถนาที่จะจากโลกนี้ไปด้วยวิธีเหล่านั้น เธอมีความรู้สึกว่าชีวิตที่ต้องดำเนินไปในร่างกายที่ขยับไม่ได้ทั้งที่สติสัมปชัญญะยังครบถ้วนนั้นไม่ต่างอะไรกับการถูกจองจำอยู่ในร่างของตัวเอง และเป็นสภาวะที่ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เธอไม่ต้องการจะจากโลกนี้ไปในสภาพที่น่าเวทนา แต่ต้องการจะจากไปท่ามกลางเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของคนที่เธอรัก

แต่กฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนียไม่ได้อนุญาตให้เธอทำเช่นนั้น การุณยฆาต หรือ euthanasia นั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายนัก ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะยอมรับการุณยฆาตเชิงรับ (passive euthanasia) ด้วยการอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถปฏิเสธการรักษาได้ หรืออนุญาตให้หยุดการรักษาได้ในบางกรณี แต่การการุณยฆาตเชิงรุก (active euthanasia) ซึ่งเป็นการที่แพทย์ช่วยผู้ป่วยที่ยังมีสติสัมปชัญญะดีให้ฆ่าตัวตายนั้นก็มีน้อยประเทศนักที่จะอนุญาต

ความกังวลที่ทำให้การุณยฆาตทางตรงยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายนั้นใ นมุมมองของผมคิดว่ามี 2 ส่วนด้วยกัน นั่นคือในแง่ของศีลธรรม และในแง่ของผลเสียต่อสังคม

ในแง่ของศีลธรรมนั้นพูดง่ายๆ ก็คือเป็นความกังวลจากความเชื่อทางศาสนา อย่างเช่นในความเชื่อทางคริสต์ก็อาจจะบอกว่ามนุษย์ไม่มีอำนาจเหนือชีวิตและความเป็นความตายของตนเอง มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะมีสิทธิควบคุม ดังนั้นการฆ่าตัวตายจึงเป็นบาปเพราเป็นการขัดพระประสงค์ของพระเจ้า หรือในแนวคิดทางพุทธก็อาจบอกว่าการทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตเป็นบาป ดังนั้นการที่แพทย์ให้ยากับผู้ป่วยทั้งที่รู้ว่าจะนำไปฆ่าตัวตายจึงถือเป็นการทำบาปเช่นกัน

เหตุผลในแง่ศีลธรรมนี้ในมุมมองของผมนั้นดูจะไม่เป็นประเด็นในการนำมาใช้เป็นกฎหมายสักเท่าไหร่ ทั้งนี้เพราะสุดท้ายแล้วแต่ละคนก็มีกฎทางศีลธรรมของตัวเอง และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของใครของมัน แม้ว่าคนอื่นจะทำผิดกฎทางศีลธรรมที่เรายึดถือ นั่นก็ไม่ได้ทำให้ตัวเราหรือกฎทางศีลธรรมของเราเสื่อมลงไปแต่อย่างใด ผู้อื่นลักขโมยแล้วไม่ได้ทำให้เราเป็นคนเลวลงฉันใด การที่ผู้อื่นกระทำการุณยฆาตก็ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนเลวลงฉันนั้น ดังนั้นถ้าบุคคลหนึ่งกระทำการุณยฆาตแล้วไม่ได้สร้างผลเสียอะไรกับใครอื่น ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องของคนอื่นที่จะไปบอกว่าคนนั้นไม่มีสิทธิทำ ในกรณีนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำศาสนา ศีลธรรม หรือความเชื่อส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องเลย

ผลเสียต่อสังคมที่สำคัญในกรณีนี้มีอยู่ 2 อย่างที่สำคัญคือการที่ผู้คนอาจต้องการจบชีวิตตัวเองก่อนเวลาอันควร และการที่บางคนอาจจะถูกบังคับให้ตายเพื่อลดภาระในการดูแล นี่เป็นผลเสียที่จับต้องได้ชัดเจน และทั้ง 2 อย่างสามารถป้องกันได้ด้วยเงื่อนไขที่เข้มงวดก่อนที่จะอนุญาตให้ทำการุณยฆาต

และนั่นเป็นสิ่งที่รัฐแคลิฟอร์เนียทำ ประมาณ 2 ปีหลังจากการวินิจฉัยของเบทซี รัฐแคลิฟอร์เนียได้ออกกฎหมายอนุญาตในสิ่งที่เรียกว่า อัตวินิบาตกรรมด้วยความช่วยเหลือจากแพทย์ (physician-assisted suicide) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2016 (ดู ที่นี่) และมีเงื่อนไขสำคัญเพื่อป้องกันข้อกังวล 2 ข้อทางด้านบน เงื่อนไขส่วนที่ 1 คือผู้ป่วยจะต้องถูกประเมินว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน เงื่อนไขส่วนนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้ป่วยระยะสุดท้ายและยังสามารถมีชีวิตยืนยาวเลือกจบชีวิตก่อนเวลาอันควร

เงื่อนไขในส่วนที่ 2 นั้นคืออายุและภาวะทุพลภาพจะไม่ถูกนำมาเป็นเหตุผลให้ทำการอัตวินิบาตกรรมด้วยวิธีนี้ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสจากกฎหมายเพื่อลดภาระในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้พิการ และที่สำคัญในส่วนสุดท้ายยังระบุว่าต้องให้แพทย์ 2 คนเห็นตรงกันว่าผู้ป่วยเข้าได้กับเงื่อนไขทั้งหมด

กฎหมายนี้ทำให้เบทซีมีโอกาสที่จะจบชีวิตของเธอในรูปแบบที่เธอหวังได้ แต่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับตัวผู้ป่วยอีกข้อหนึ่งที่บังคับให้เธอต้องรีบตัดสินใจดำเนินการภายในเวลาเพียงแค่ 1 เดือนหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ เงื่อนไขข้อนี้กำหนดไว้ว่าผู้ป่วยจะต้องสามารถลงมือให้ยากับตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เบทซีในเวลานั้นไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มากแล้วและเมื่อจะไปไหนก็ต้องนั่งรถเข็นไฟฟ้า เธอพูดได้ลำบากและคำพูดของเธอก็อู้อี้ฟังยาก เมื่อไหร่ที่เธอจะสื่อสารด้วยการพิมพ์เธอก็จะทำได้ด้วยการใช้นิ้วก้อยกดลงบนไอแพดของตัวเองที่ละตัวๆ หากเธอรอนานเกินไปและไม่สามารถที่จะให้ยากับตัวเองได้เธอก็จะเสียโอกาสนี้ไปตลอดกาล

เบทซีจึงเริ่มเขียนอีเมล์เชิญเพื่อนสนิทและครอบครัวของเธอมาร่วมงานปาร์ตี้ครั้งสุดท้ายก่อนจากโลกนี้ไป เธอใช้เวลานี้ในการเตรียมตัวเกี่ยวกับเรื่องทรัยพ์สินต่างๆ จัดการเรื่องมรดกและพินัยกรรม แจ้งข่าวให้ทุกคนได้รู้ เบทซีถึงขนาดเตรียมสิ่งของที่เธอจะส่งต่อให้ผู้อื่น ของแต่ละชิ้นที่เธอตั้งใจว่าจะส่งต่อให้ผู้อื่นจะมีกระดาษเล็กๆ เขียนชื่อของผู้รับแปะเอาไว้ เธอส่งข้อความหาทุกคนที่จะรับช่วงของจากเธอต่อว่า "ขอให้ฉันมีชีวิตอยู่ต่อไปผ่านทางคุณ"

นี่เป็นข้อดีอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งของการการุณยฆาต นั่นคือการที่ผู้ตายและคนอื่นๆ ในครอบครัวรู้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นเมื่อใด ทำให้ทุกคนสามารถเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเวลานั้นได้ ใครที่เคยมีความสูญเสียในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ก็คงจะรู้ได้ดีถึงความโกลาหลที่เกิดขึ้น คุณปู่ของผมเองจากไปอย่างกะทันหันด้วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และสภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือความโกลาหลย่อมๆ ความวุ่นวายในการจัดการข้าวของส่วนตัว การติดตามทรัพย์สินทั้งหมด การแบ่งกองมรดกที่ไม่ได้ถูกแบ่งไว้ก่อน จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังมีของบางอย่างที่เราไม่รู้ว่าปู่อยากให้เราเก็บไว้ไหม หรืออยากให้ใครเป็นคนรับต่อไป เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปู่มีทรัพย์สินอะไรที่เราไม่รู้อยู่ที่ไหนอีกหรือเปล่า ในกรณีของคุณปู่ผมนั้นกะทันหันมากจนเราไม่มีโอกาสเตรียมตัวเลย แต่ในคนที่สามารถเลือกที่จะเตรียมตัวได้นั้นการมีโอกาสได้เตรียมตัวไม่ใช่เรื่องแย่เลย

เมื่อเบทซีตระเตรียมทุกอย่างพร้มแล้ว วันนั้นก็มาถึง ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั้นเบทซีเปิดบ้านของเธอให้เพื่อนๆ และญาติๆ ได้มาร่วมงานปาร์ตี้กัน เธอสั่งพิซซ่ามาจากร้านโปรดของเธอ เตรียมเครื่องดื่มและอุปกรณ์สันทนาการต่างๆ ไว้พร้อม แขกบางคนนำเครื่องเล่นหรือเครื่องดนตรีมา กิจกรรมตลอดช่วงเวลา 2 วัน 1 คืนเป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่มีใครร้องไห้ให้เบทซีเห็น ใครที่รู้สึกอยากร้องไห้ก็จะออกไปยังบริเวณที่เบทซีเตรียมไว้ให้ร้องไห้ มันเป็นงานรื่นเริงที่แปลกประหลาด เพราะในขณะที่ทุกคนสนุกสนานไปกับงาน พวกเขาก็รู้ดีว่าเมื่องานจบแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ในตอนเย็นของวันอาทิตย์ช่วงก่อนที่พระอาทิตย์จะตก เบทซีได้ขึ้นรถเทสลาคันใหม่เอี่ยมอ่องของเพื่อนของเธอ รถคันนั้นพาเธอไปถึงยอดเขา บนยอดเขานั้นมีการตระเตรียมเก้าอี้นอนเอาไว้เพื่อให้เบทซีนอนดูพระอาทิตย์ตกได้ เมื่อเธอนอนลงบนเตียงแล้วเพื่อนๆ ของเธอก็มาบอกลาเธอทีละคน และเมื่อเพื่อนๆ ของเธอไปหมดแล้วก็มีแค่เธออยู่กับครอบครัว เบทซีใช้ 2 มือที่อ่อนแรงค่อยๆ หยิบแก้วที่ผสมยาเอาไว้ขึ้นมาดื่ม ในแก้วนั้นผสมยาไว้หลายประเภทร่วมกับน้ำมะพร้าวเพื่อกลบรส หลังจากดื่มหมดได้ไม่นานเธอก็หมดสติไปและอยู่ในสภาพโคมา ระหว่างที่เธออยู่ในสภาพโคมานั้นแพทย์ประจำตัวและสมาชิกครอบครัวของเธอก็อยู่ข้างๆ เธอตลอดเวลา แต่ไม่ได้มีความพยายามที่จะช่วยเหลือเธอแต่อย่างใด ทุกคนคอยดูอยู่อย่างสงบ

ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อมา เบทซี เดวิสจากโลกนี้ไปท่ามกลางผู้ที่เธอรักและรักเธอ เธอเสียชีวิตในวันที่ 24 กรกฎาคม 2016 วันที่เธอเลือกเองว่าจะเป็นวันสุดท้ายของชีวิต

ผมขอแสดงความเคารพให้กับความกล้าของเธอที่ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง

มนุษย์เราทุกคนนั้นย่อมมีความต้องการที่จะกำหนดสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่าอัตตาณัติ (autonomy) เราเลือกอาหารที่จะทานเอง เราเลือกเสื้อผ้าที่จะใส่เอง และเราต่างก็ต้องการกำหนดวิธีที่เราจะจากโลกนี้ไปเช่นกัน ไม่มีใครต้องการจากไปแบบที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ถ้าเราเลือกได้ล่ะก็เราทุกคนล้วนมีภาพของวันสุดท้ายในชีวิตที่เราอยากจะให้เป็นกันทั้งนั้น ผมได้ยินคนพูดมานับครั้งไม่ถ้วนว่า "ถ้าจะตายก็อยากจะตายแบบ..." หรือ "ถ้าจะตายก็ไม่อยากตายแบบ..." ถ้าท่านผู้อ่านเคยมีความคิดแบบนี้ก็หมายความว่าท่านมีความประสงค์จะเลือกวิธีจากไปแบบที่ท่านต้องการเช่นกัน

ในปัจจุบันนั้นประเทศไทยมีกฎหมายที่รับรองการทำหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (ดู ที่นี่) ดังนี้

"มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้"

เราจะเห็นจากถ้อยคำในกฎหมายข้อนี้ว่านี่เป็นการุณยฆาตเชิงรับ นั่นคือเป็นการที่ผู้ป่วยปฏิเสธไม่รับการรักษา เพื่อไม่ยืดชีวิตตนเอง แต่ประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการุณยฆาตเชิงรุก อาจเป็นเพราะความเชื่อบางอย่างของคนในสังคมหรือเพราะการเข้าใจผิดเกี่ยวกับกระบวนการ แต่เรื่องราวที่ได้นำมาแบ่งปันกันในครั้งนี้น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่าการุณยฆาตเชิงรุกนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่โหดร้ายหรือสุ่มเสี่ยงเลย กลับกันมันสามารถสร้างให้วาระสุดท้ายของคนคนหนึ่งกลายเป็นช่วงเวลาที่สวยงามและเต็มไปด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ โดยมีตัวบทกฎหมายที่เหมาะสมไว้คอยป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด

ผมไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่าการุณยฆาตเชิงรุกเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี นั่นเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องเลือกให้กับตัวเอง แต่สิ่งสำคัญที่ผมต้องการจะสื่อคือเราทุกคนควรมีโอกาสได้เลือกว่าจะทำอย่างไรกับวาระสุดท้ายของตัวเอง ที่ผ่านมานั้นสังคมไทยยังไม่มีการพูดคุยกับถึงการการุณยฆาตเชิงรุกอย่างเป็นจริงเป็นจังเลย ถึงเวลาที่เราควรเริ่มคุยเรื่องนี้ได้แล้ว

ผู้เขียน : นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์

ผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีของเบทซี เดวิส สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้

https://www.washingtonpost.com/news/inspired-life/wp/2016/08/16/a-terminally-ill-woman-had-one-rule-at-her-end-of-life-party-no-crying/?utm_term=.d20be69393f3

https://www.theguardian.com/us-news/2016/aug/11/assisted-dying-california-law-betsy-davis