หลายวันก่อนผมมีโอกาสได้เจอกับคนที่คุ้นเคยคนหนึ่ง คือพยาบาลวิสัญญีที่เคยเข้ามารับการฝึกอบรมวิสัญญีพยาบาลตอนที่ตัวผมเองก็กำลังฝึกอบรมเป็นวิสัญญีแพทย์ แม้ว่าฝ่ายหนึ่งจะเป็นพยาบาลและอีกคนหนึ่งจะเป็นแพทย์ แต่ด้วยลักษณะการฝึกอบรมของวิชาวิสัญญีก็ทำให้เราทั้ง 2 กลุ่มทำงานไปด้วยกัน ในห้องผ่าตัดแต่ละห้องก็จะมีทั้งแพทย์ประจำบ้านและผู้เข้าอบรมวิสัญญีพยาบาล เราดูแลผู้ป่วยคนเดียวกัน แบ่งหัตถการกัน แต่บางทีก็แย่งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเรามีกัน 2 คนในขณะที่ผู้ป่วยมีหลอดลมให้เราใส่ท่อช่วยหายใจได้แค่หลอดเดียว

ในตอนนั้นเราก็เป็นเหมือนสหายร่วมศึก เตรียมอุปกรณ์ก็ทำด้วยกัน ดูแลผู้ป่วยก็ทำด้วยกัน อยู่เวรก็อยู่ด้วยกัน เวลาเคสมีปัญหาแล้วต้องขึ้น MM Conference เราก็ไปขึ้นเวทีด้วยกัน ด้วยเหตุนี้แพทย์ประจำบ้านจึงมักจะเรียกผู้เข้าอบรมวิสัญญีพยาบาลว่า "พี่" ตามด้วยชื่อเล่น (ส่วนใหญ่พยาบาลที่มาฝึกอบรมจะอายุมากกว่า) และผู้เข้าอบรมวิสัญญีพยาบาลก็มักจะเรียกแพทย์ประจำบ้านว่า "หมอ" ตามด้วยชื่อเล่น เรียกกันอย่างนี้จนบางทีจำไม่ได้ว่าอีกคนหนึ่งชื่อจริงว่าอะไรงั้นเอาอย่างนั้นเถอะ

9 ปีต่อมาเราได้มาเจอกันเป็นครั้งแรกหลังจากที่แยกย้ายกันไปตอนฝึกอบรมเสร็จ (พี่คนนี้จบก่อนผมจะจบเพราะการฝึกอบรมวิสัญญีพยาบาลใช้เวลาแค่ 1 ปี) และประโยคแรกที่ผมได้ยินจากพี่เขาก็คือ "สวัสดีค่ะอาจารย์"

คำพูดนี้จะว่ากันจริงๆ ก็ไม่ได้ผิดเพราะผมอยู่ในตำแหน่งอาจารย์จริงๆ แต่สำหรับพี่คนนี้ผมไม่เคยเป็น "อาจารย์" เลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมเป็น "หมอเต่า" มาตลอด แต่เมื่อเรามาเจอกันอีกครั้งเขากลับเลือกที่จะเรียกผมว่าอาจารย์ และเมื่อผมถามว่าทำไมถึงต้องเรียกผมว่าอาจารย์ผมก็ได้คำตอบกลับมาว่าเพราะผมอยู่ในตำแหน่งอาจารย์แล้ว ถ้าไม่เรียกว่าอาจารย์มันก็ดูจะไม่ให้เกียรติ ผมก็ถามกลับไปว่าแต่ตอนที่เราเจอกันพี่ก็เรียกผมว่าหมอเต่าตลอด ทำไมจะเรียกอย่างนั้นต่อไปไม่ได้ล่ะ ซึ่งพี่เขาก็ไม่ได้มีคำตอบมากไปกว่าการที่คนทั่วไปเขาคาดหวังอย่างนั้น และมันเป็นสิ่งที่ทำกันทั่วไปในสังคม

ผมมีปัญหากับการที่พี่เขาเปลี่ยนวิธีเรียกเพราะวิธีเรียกของคนเรานั้นมันก็สื่อถึงรูปแบบความสัมพันธ์ ลองนึกดูถึงเวลาที่เราเรียกใครสักคน ถ้าเป็นคนที่อายุน้อยกว่าเราเราก็เรียกแบบหนึ่ง ถ้าอายุมากกว่าเราเราก็เรียกอีกแบบหนึ่ง ถ้าตำแหน่งสูงกว่าเราเราก็เรียกแบบหนึ่ง ถ้าตำแหน่งต่ำกว่าเราเราก็เรียกอีกแบบหนึ่ง ในภาษาไทยนั้นคำที่เลือกใช้เวลาเรียกกันก็บอกได้ทั้งระยะห่างและลำดับชั้นระหว่างคนสองคน การถูกเรียกว่า "หมอเต่า" กับ "อาจารย์" ให้ความรู้สึกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และแน่นอนเมื่อเราเปลี่ยนวิธีเรียกใครแล้วการปฏิบัติตัวของเราก็จะเปลี่ยนตามไปด้วยเป็นเรื่องธรรมดา

จากคนที่เคยใกล้ชิดอยู่ข้างๆ กันจู่ๆ ก็กลายเป็นอยู่ห่างกันและอยู่คนละระดับได้ในพริบตา แล้วนี่ก็ไม่ใช่เพราะความต้องการของผมหรือของพี่คนนี้ด้วย แต่เป็นความคาดหวังจากสังคมภายนอกว่ารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเราจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น

แล้วเราอยู่กันแบบไหนถึงต้องเอาความคาดหวังของสังคมมาครอบทับความสัมพันธ์ส่วนตัว?

ถ้าเราอยู่ในโอกาสที่เป็นทางการอย่างเช่นระหว่างปฏิบัติงานก็คงเป็นเรื่องธรรมดาที่พี่เขาจะเรียกผมว่าอาจารย์ แต่นอกเหนือจากเรื่องงานแล้วในฐานะมนุษย์ด้วยกันมันไม่ได้มีความจำเป็นที่ใครจะต้องสูงกว่าใคร ในเรื่องงานผมคืออาจารย์อธิพงศ์และมีอำนาจสั่งการพยาบาลวิสัญญี แต่พอพ้นเรื่องงานแล้วสังคมกลับไม่ยอมให้ผมสลัดตำแหน่งออกแล้วไปอยู่ในระดับเดียวกันกับคนที่เป็นพยาบาลวิสัญญี ยังคงบังคับให้ผมอยู่สูงกว่าต่อไป

ตัวอย่างของสถานการณ์ที่แตกต่างก็คือตอนที่ผมไปเรียนหนังสือที่อเมริกา คนที่เป็นประธานหลักสูตรของผมชื่อเจนนิเฟอร์ เมื่ออยู่ในห้องเรียนเจนนิเฟอร์ก็เป็นอาจารย์ของผม มีหน้าที่สอนผม มีอำนาจประเมินผลการเรียนของผม ผมต้องเคารพเขาในฐานะประธานหลักสูตร แต่นอกห้องเรียนเจนนิเฟอร์เป็นเพื่อนของผม ผมไปเที่ยวบ้านเขา ผมพาเขาไปทานอาหารไทย เรารักและเคารพกันและกันในฐานะเพื่อน เราพูดคุยกันเหมือนคนที่เท่ากัน หน้าที่ตามตำแหน่งก็คือหน้าที่ ความสัมพันธ์ส่วนตัวก็คือความสัมพันธ์ส่วนตัว เราเรียนรู้ที่จะแยกแยะว่าเวลาไหนเราควรให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากกว่า

จะว่ากันจริงๆ แล้วมันไม่ได้แยกกันชัดเจนขนาดนั้นด้วยซ้ำ เจนนิเฟอร์กับผมเหมือนเป็นอาจารย์กับศิษย์ที่เป็นเพื่อนกันไปด้วย เพราะในขณะที่ผมเรียกอาจารย์คนที่ไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วยว่า Professor ต่อด้วยนามสกุล ผมก็เรียกเจนนิเฟอร์ว่าเจนนิเฟอร์เสมอแม้ว่าจะอยู่ในห้องเรียนหรือแม้กระทั่งในระหว่างงานสัมนาวิชาการ ความสัมพันธ์ของคนเราไม่ได้จำเป็นต้องแบนราบขนาดนั้น มนุษย์เราไม่ได้ขาดความซับซ้อนถึงขนาดที่คนสองคนจะมีความสัมพันธ์หลายรูปแบบไปพร้อมๆ กันไม่ได้

แต่สิ่งที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ ในประเทศไทยคือโครงสร้างและความคาดหวังของสังคมที่บีบบังคับให้มีลักษณะความสัมพันธ์ได้เพียงแค่แบบเดียว สังคมไทยมักจะเอาระยะห่างและลำดับชั้นในการทำงานมาขยายถึงนอกเวลางานด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือผู้ใต้บังคับบัญชาในการทำงานก็ต้องอยู่ต่ำกว่าเรื่อยไป คนที่อยู่ข้างบนบางทีก็ไม่อยากปิดช่องว่างเพราะมันเป็นประโยชน์ของตัวเอง หรือบางทีอาจอยากปิดช่องว่างแต่คนข้างล่างก็ไม่ยอมเพราะกลัวจะโดนกล่าวหาว่าลามปาม จึงกลายเป็นสถานการณ์แบบเดียวกับที่ผมเจอนี้

บ่อยสักแค่ไหนที่เราเห็นคนที่อายุต่างกันเป็นเพื่อนกัน? หรืออาจารย์กับศิษย์เป็นเพื่อนกัน? หรืออย่างในกรณีนี้ที่คน 2 คนซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่การงานไม่เท่ากันจะอยู่ในสถานะเสมอกันนอกเวลางาน? เรื่องพวกนี้แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเพราะมันผิดจากค่าตั้งต้นที่สังคมไทยคาดหวัง

มีพี่พยาบาลคนอื่นอีกหลายคนที่ฝึกอบรมมาพร้อมๆ กับผม เราก็เป็นสหายร่วมศึกกันแบบที่เล่าไป เราสนิทกัน ร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน หยอกเล่นหัวกันได้ แต่พอผมจบเป็นวิสัญญีแพทย์เท่านั้นแหละพี่เขาก็เริ่มเรียกผมว่าอาจารย์ ไม่ได้เรียกว่าหมอเต่าอีกต่อไป แล้วรูปแบบความสัมพันธ์ของเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย โดยที่ไม่ได้มีเหตุผลอื่นเลยนอกไปจากการที่ผมอยู่ในตำแหน่งอาจารย์แล้ว ผมบอกว่าให้เรียกว่าหมอเต่าเหมือนเดิมก็ไม่มีใครยอมทำ ถึงจะผ่านมาหลายปีจนผมก็ชินกับการถูกเรียกว่าอาจารย์แล้ว แต่ลึกๆ ในใจทุกวันนี้ผมก็ยังอยากให้เขาเรียกผมว่าหมอเต่าเหมือนในวันที่เรายังผจญภัยไปในแดนวิสัญญีด้วยกัน

ผมขอร้องล่ะ อย่าปล่อยให้โครงสร้างและความเชื่อในสังคมมาเปลี่ยนความสัมพันธ์ส่วนตัวของเรา คนที่อยู่ต่อหน้าเรามีความสำคัญกว่าเรื่องนามธรรมไกลตัวอย่างวัฒนธรรมหรือประเพณีมากนัก ให้ความสำคัญกับเขา รักษาความสัมพันธ์ที่เรามีกับเขาไว้ให้ทรงคุณค่า เมื่อเวลาเปลี่ยนไปและสถานการณ์เปลี่ยนไปเราย่อมมีความสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับเขาได้ แต่การมีความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องละทิ้งรูปแบบความสัมพันธ์เดิม เหมือนกับที่ผมไม่จำเป็นต้องเลื่อนระดับมาอยู่เหนือพี่คนนี้เพื่อที่จะเป็นอาจารย์

คนอายุห่างกัน 20 ปีก็เป็นเพื่อนกันได้ เป็นพี่น้องกันก็ได้

อาจารย์กับศิษย์ก็เป็นเพื่อนกันได้ เป็นพี่น้องกันก็ได้ ในบางเวลาจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่เท่าเทียมกันก็ยังได้

หมอกับพยาบาลก็เป็นเพื่อนกันได้ เป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาก็ได้ เป็นเพื่อนร่วมงานที่เท่าเทียมกันก็ได้

ทุกคนเป็นทุกอย่างไปพร้อมๆ กันได้ ชีวิตมนุษย์เราไม่ได้แบนราบขนาดนั้น อย่าปล่อยให้มุมมองที่จำกัดในสังคมมาครอบทับความสัมพันธ์ส่วนตัวของเรา

(หมายเหตุ หลังจากที่ผมยืนยันเป็นครั้งที่ 3 พี่คนนี้ก็ยอมเรียกผมว่าหมอเต่าจนได้ ผมมีโอกาสได้ยินเขาเรียกผมเต็มๆ ปากว่าหมอเต่าหนึ่งครั้งก่อนที่เราจะโบกมือลากันในวันนั้น)

ผู้เขียน : นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์