รองเลขาฯ สพฉ. แนะ ผนึกโรงพยาบาลเอกชนดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน หนุน อปท.ตั้งหน่วยบริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อประชาชนในพื้นที่
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ถกแถลง : ระบบอุบัติเหตุฉุกเฉินที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลและในห้องฉุกเฉิน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ที่ไม่สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ ในแง่ของ demand หรือปริมาณคนไข้ที่เข้ามานั้น มีโจทย์อยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนหรือคนไข้เข้าใจได้ว่าหากป่วยในระดับสีเหลืองกับเขียวจำเป็นต้องรอหน่อย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาภาครัฐต้องการเรื่องประชานิยม ไม่อยากเสียคะแนนเสียง จึงพยายามจะให้บริการดูแลครบทุกสี นั่นกลับกลายเป็นภาระและส่งผลกระทบต่อสิ่งที่จำเป็นกว่าคือผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดง
นพ.ภูมินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มากขึ้น นำมาซึ่งการใช้บริการที่มากขึ้น ฉะนั้นจำเป็นต้องลด demand ในส่วนนี้ ขณะเดียวกันด้าน supply แม้ว่ารัฐจะพยายามพัฒนาอย่างไรก็ยากที่จะเพียงพอหรือสอดคล้องกับ demand
อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมจะพบว่า supply ของหน่วยบริการเอกชนยังมีเหลืออยู่ คำถามก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะไปใช้ supply ตรงนั้นได้
“อย่างในกรุงเทพมหานครเรามีโรงพยาบาลรัฐน้อยมากเมื่อเทียบกับเอกชน ถามว่าเช่นนั้นต้องสร้างโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้นหรือไม่ คำตอบคงไม่ใช่ ฉะนั้นโจทย์ก็คือจะทำอย่างไรถึงจะไปใช้ supply ที่เหลือให้ได้ นั่นก็คือโรงพยาบาลเอกชน” นพ.ภูมินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ แนวโน้มในอนาคตที่พยายามให้เกิดขึ้นก็คือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนบุคลากร รถพยาบาล คือตั้งหน่วยขึ้นมาเพื่อดูแลคนในพื้นที่ตัวเอง ขณะที่ฟากเอกชนก็มารับคนไข้ไปรักษา สถานการณ์ก็คงจะดีขึ้น แต่ที่สุดแล้วประชาชนก็ต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
อนึ่ง ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปี 2560 ของ สพฉ.ได้แก่
1.พัฒนาคุณภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดย สพฉ.จะสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกๆ ที่ให้สามารถให้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ของตนเองได้
2.พัฒนาระบบบริหารจัดการบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่ใช่เฉพาะแพทย์หรือพยาบาล แต่ลงไปถึงผู้ปฏิบัติการหน่วยอื่นๆ อาทิ เจ้าหน้าที่กู้ชีพ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (PARAMEDIC)
3.พัฒนากลไกการอภิบาลระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งการสนับสนุนในเรื่องทุนทรัพย์ เรื่องของกฎหมายข้อมูลและงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนางานการแพทย์ฉุกเฉิน
4.พัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยจะทำให้เกิดการหลอมรวมการทำงานทั้งท้องถิ่น ราชการ เอกชน โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน เพื่อทำให้เกิดการร่วมมือกันทำงานเพื่อผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน
5.พัฒนาการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างกระแสการสนับสนุนและให้ความรู้ประชาชน โดยโจทย์ในการพัฒนาคือทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาฝึกฝนและป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ และเรียกใช้ระบบ 1669 ได้อย่างถูกต้องและเป็นกำลังสำคัญให้กับเราในการพัฒนางานด้านการแพทย์ฉุกเฉินต่อไปในอนาคต
- 23 views