รองเลขา สพฉ. ชี้ปมดราม่า รพ.เอกชนโขกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยเกินจริง ให้รอฟังคำชี้แจงจากทุกฝ่าย ระบุ สบส.มีมาตรการข้อกำหนดที่ชัดเจนในการดูแล รพ.เอกชน แนะประชาชนหมั่นเช็คสิทธิรักษาพยาบาล ติดตามข้อมูลสิทธิรักษาสม่ำเสมอ ย้ำหากเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องโทรสายด่วน 1669 พร้อมเตรียมวางระบบรับการดำเนินการตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์
ภายหลังจากที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์กรณีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยจำนวนเงินที่มากจนต้องถอดทองจำนำไว้ที่โรงพยาบาลนั้น ล่าสุด นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อันดับแรกตนขอแนะนำประชาชนก่อนเลยว่าหากเราพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินทุกกรณีให้โทรสายด่วน 1669 เพราะในระบบสายด่วน 1669 ของเราจะช่วยประเมินอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้ป่วยและจัดรถพยาบาลที่เหมาะสมกับอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อรีบนำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเครื่องมือพร้อมที่สุดให้ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีได้ ดังนั้นหากประชาชนท่านใดเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือพบผู้ป่วยฉุกเฉินควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทั้งนี้เท่าที่ตนติดตามข่าวทราบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวนั้นมีสิทธิในกองทุนของประกันสังคม ซึ่งหากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้นั้นเมื่อเรานำผู้ป่วยส่งไปรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้แต่ไม่ใช่โรงพยาบาลในสิทธิกองทุนที่ผู้ป่วยเป็นสมาชิกอยู่ หากผู้ป่วยไม่รู้สติญาติสามารถแจ้งเรื่องไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยขึ้นทะเบียนตามสิทธิแต่ละกองทุนเพื่อให้โรงพยาบาลเจ้าของสิทธิส่งรถพยาบาลมารับไปทำการรักษายังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิได้ โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายและกระบวนการต่างๆ ในการส่งตัวโรงพยาบาลที่เราขึ้นทะเบียนสิทธิไว้จะเข้ามาดูแลและอำนวยความสะดวกให้
รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกประชาชนร้องเรียนนั้นก็ต้องรอการชี้แจงจากโรงพยาบาลว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนบ้างและราคาเหมาะสมกับการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นหรือไม่ และหากประชาชนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมหรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากโรงพยาบาลเอกชนกรม็มีสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุขซึ่งทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะออกกฏออกระเบียบให้ประชาชนได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรมจากโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลทุกๆ แห่งก็พร้อมที่จะเข้ามาดูและประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมได้
นอกจากนี้แล้วเท่าที่ตนทราบมาในร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาลฉบับปรับปรุงใหม่นั้น ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆและสิทธิของผู้ป่วย ไว้อย่างชัดเจน จะเรียกเก็บเกินอัตราที่แสดงไว้ไม่ได้ และต้องให้บริการผู้ป่วยตามสิทธิที่ได้แสดงไว้ และต้องเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งอยู่ในสภาพอันตราย จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลให้พ้นจากอันตรายก่อนส่งต่อไปสถานพยาบาลอื่นด้วย ซึ่งหากโรงพยาบาลเอกชนแห่งใดไม่ทำตามก็ถือว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.ฉบับนี้
นพ.ภูมินทร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนแนวทางในการดำเนินงานตามนโนบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ ucep นั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินั้นกำลังเร่งจัดทำตารางราคาและอัตราจ่าย (Fee Schedule) เพื่อเป็นราคาการบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่โรงพยาบาลจะเรียกเก็บจากกองทุนสุขภาพ และวางระบบการดำเนินการเพื่อให้ทันใช้ก่อนสงกรานต์เหมือนที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ไว้
ทั้งนี้ประชาชนทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิในการรักษาฟรีจาก 3 กองทุนดังนี้
1.กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง
2.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือที่เราเรียกว่าบัตรทอง
และ 3.กองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม
ซึ่งประชาชนทุกคนจะต้องเข้าสู่ระบบทั้ง 3 กองทุนนี้ตามหน้าที่การงานของตนเอง และสำหรับประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระก็ต้องอย่าลืมไปขึ้นทะเบียนบัตรทองเพื่อให้มีสิทธิในการรักษาพยาบาลไว้ด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและเรามีสิทธิตามรายละเอียดของ 3 กองทุนนี้ระบบของ 3 กองทุนจะทำงานทันที ซึ่งเราจะต้องหมั่นศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของตนเองไว้ด้วย และอย่าลืมที่สำคัญที่สุดคือหากเราเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินทุกกรณีให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เราพร้อมที่จะดูและทุกคนตลอด 24ชั่วโมง
- 25 views