สพฉ.เผย UCEP เริ่มเข้าที่ มีปัญหาน้อยกว่าที่คาด แต่ยังพบปัญหาเข้ารักษา รพ.เอกชนที่อยู่ไกลกว่า รพ.รัฐใกล้บ้าน พร้อมแนะประชาชนขอผลตรวจประเมินเป็นหลักฐาน หาก รพ.ยืนยันไม่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ และเมื่อใช้สิทธิแล้วไม่จำเป็นต้องอยู่ครบ 72 ชม. ยึดความเห็นแพทย์เป็นหลัก ไม่เช่นนั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวถึงสถิติการประสานงานของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ศูนย์นเรนทร สพฉ.ประจำเดือนพฤษภาคม 2560 มีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) 72 ชั่วโมง” สะสม 2,841 คน เข้าเกณฑ์ 1,132 คน ไม่เข้าเกณฑ์ 1,709 คน ในจำนวนที่เข้าเกณฑ์ แบ่งเป็น เข้าเกณฑ์สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 744 คน สิทธิประกันสังคม 126 คน สิทธิข้าราชการ 209 คน และสิทธิกองทุนอื่นๆ 52 คน ขณะที่เรื่องร้องเรียน สะสมมีจำนวน 3 ราย ร้องเรียนทางโทรศัพท์ 1 ราย ทางอีเมล์ 2 ราย โดยในเดือนพฤษภาคมมีการคอนเฟอเรนซ์ 3 สาย ปรึกษาแพทย์เวร สพฉ.จำนวน 16 กรณี
นพ.ภูมินทร์ กล่าวถึงภาพรวมการใช้สิทธิ UCEP ว่า ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการประสานงานระหว่างฝ่ายต่างๆ สำหรับปัญหาอุปสรรคที่ยังมีอยู่นั้น พบว่ามีความไม่เข้าใจกันระหว่างโรงพยาบาลเอกชน และประชาชน ในประเด็นว่าเข้าเงื่อนไขที่จะใช้สิทธิได้หรือไม่ อีกทั้งเกิดแง่มุมของการพิจารณาขึ้นใหม่ที่ยังไม่อยู่ในกรอบของการประเมินมาก่อน เช่น การที่ผู้ป่วยเรียกรถฉุกเฉินจากโรงพยาบาลเอกชนไปรับที่บ้าน หรือการที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เดินทางไปพบแพทย์ โดยผ่านโรงพยาบาลรัฐ แต่ไม่รักษา และไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ที่อยู่ในระยะทางที่ไกลกว่าแทน
นพ.ภูมินทร์ กล่าวว่า ฝากถึงประชาชนว่าหากพบผู้ป่วย หรือรู้สึกว่าตนเองเจ็บป่วย ถ้าไม่แน่ใจว่าเข้าข่ายวิกฤติฉุกเฉินหรือไม่ ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ก่อน เมื่อเข้าไปในห้องฉุกเฉินแล้วโรงพยาบาลก็จะประเมินอาการตามโปรแกรมว่า เข้าข่ายที่จะใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินมีสิทธิทุกที่ 72 ชั่วโมงหรือไม่ ในกรณีที่โรงพยาบาลบอกว่าไม่เข้าข่าย ให้ผู้ป่วยขอผลตรวจประเมินด้วย เพื่อที่จะได้การันตีว่าได้เข้าระบบประเมินแล้ว เพราะส่วนใหญ่ที่มีการร้องเรียน คือ โรงพยาบาลไม่เข้าระบบ ไม่คีย์ข้อมูลให้ผู้ป่วย บอกแต่เพียงว่าไม่เข้าข่ายที่จะสามารถใช้สิทธิได้ ขณะเดียวกันหากโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยตามสิทธิแล้ว แพทย์เจ้าของไข้ลงความเห็นว่าพ้นวิกฤต และสามารถย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาได้อย่างปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 72 ชั่วโมง แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ขอย้ายไปรักษาตามสิทธิ จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
- 94 views