“หมอมงคล” ชี้ ปัญหาหลักระบบสุขภาพประเทศ อยู่ที่การบริหารจัดการด้านบริการ หลัง 40 ปียังบริหารรูปแบบเดิม ส่งผลบริการยังจำกัด ทั้งสถานที่ ห้องตรวจวินิจฉัย เครื่องมือแพทย์ ไม่สมดุลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้น ทำผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาเหมือนเดิม แนะทางออกต้องกระจายอำนาจ เปิดชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมพัฒนาหน่วยบริการ ยอมรับเป็นเรื่องยาก เหตุ สธ.หวงอำนาจ ต้องรอระดับนโยบายฟันธง
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า เท่าที่มองเรื่องระบบการเงินการคลังในการดำเนินนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังเป็นปัญหารอง แต่ปัญหาหลักขณะนี้อยู่ที่การบริหารจัดการด้านบริการที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถรองรับต่อระบบได้ เห็นได้ชัดเจนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวนที่มีอยู่ตอนนี้ต้องบอกว่าเพียงพอ แต่สถานที่บริการในโรงพยาบาลกลับไม่มีความพร้อมรองรับได้ ไม่ว่าจะเป็นห้องตรวจวินิจฉัย ห้องผ่าตัด อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ รวมไปถึงทีมแพทย์ ทั้งพยาบาลและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งโรงพยาบาลศูนย์ส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์นี้ กลายเป็นการจำกัดบริการของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในที่สุด ไม่สามารถบริการได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้ปัญหา คือการจัดสถานที่เพื่อให้เพียงพอต่อบริการคนไข้
“ตอนนี้ไม่ใช่ยุคสมัยขาดบุคลากรขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างในอดีต แต่เป็นยุคสมัยของความไม่เพียงพอของสถานที่บริการที่ไม่สมดุลกับแพทย์และผู้รับบริการ ขาดห้องตรวจวินิจฉัยและเครื่องมือรักษาผู้ป่วยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งขาดทีมงาน สาเหตุหลักมาจากการขาดการบริหาร เพื่อทำให้เกิดการบริการที่ดี โดยใช้คนที่มีอยู่อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด” นพ.มงคล กล่าวและว่า รพ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการบริหารจัดการ ที่ผ่านมา รพ.มีข้อจำกัดไม่สามารถรักษาผู้ป่วยหัวใจฉุกเฉินในช่วงเวลานอกเวลาราชการได้ ทั้งยังมีปัญหาส่งต่อ จึงจับมือกับ รพ.เอกชน เปิดรักษาผู้ป่วยในพื้นที่โรงพยาบาลแทน ส่งผลให้ผู้ป่วยหัวใจฉุกเฉินรอดชีวิตเพิ่มขึ้น
นพ.มงคล กล่าวว่า ทางออกของปัญหาระบบบริการขณะนี้ คือต้องบริหารจัดการให้โรงพยาบาลศูนย์มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันต้องกระจายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสู่โรงพยาบาลชุมชนและต้องจัดให้มีบริการเพิ่มขึ้น วันนี้ต้องยอมรับว่าระบบมีปัญหาในด้านการบริการและการจัดการ ไม่ใช่ระบบจัดการเงินการคลังบริหารกองทุน เพราะที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้วางระบบไว้ดีแล้ว ในการบริหารงบประมาณที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อย่างระบบการจัดซื้อยารวมระดับบประเทศ ที่ผ่านมาไม่เคยมีประเทศไหนหรือหน่วยงานใดซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ได้ในราคาถูกเท่า สปสช. ทั้งยังเป็นราคาที่หน่วยงานอื่นนำไปใช้อ้างอิง ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาให้ถูกจุด
ต่อข้อซักถามว่า เมื่อการบริหารจัดการบริการของ รพ.เป็นปัญหาจะแก้ปัญหาอย่างไร นพ.มงคล กล่าวว่า ต้องมีการพัฒนาตั้งแต่ส่วนบนลงไป วันนี้ต้องถามว่าส่วนกลางดูแลหน่วยบริการ ไม่แต่เฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งหมดเป็นไปได้หรือไม่ แล้วทำไมจึงไม่กระจายอำนาจเพื่อเปิดให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในการบริหารและพัฒนาหน่วยบริการเหล่านี้ เพราะหลายพื้นที่มีศักยภาพเพียงพอ ซึ่งต้องบอกว่าบ้านเรายังมีปัญหาการหวงอำนาจ
“การกระจายอำนาจเป็นคำตอบของเรื่องนี้ เพราะไม่มีทางที่จะทำให้คนที่อยู่ กทม.ดูแลหน่วยบริการใน 9 พันตำบลได้อย่างทั่วถึง ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจะบริหารด้วยวิธีสั่งการ โดยการเรียกประชุมหน่วยบริการทั้งประเทศ และหลังจากนั้นชาวบ้านก็ยังอยู่เหมือนเดิม มีปัญหาการเข้าถึงบริการเหมือนเดิม จึงควรเปิดให้ชาวบ้านเข้ามาส่วนร่วม วันนี้ประเทศได้พัฒนาและก้าวหน้ามาถึงขนาดนี้แล้ว แต่การบริหารจัดการบริการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการยังเหมือนกับ 40 ปีแล้ว ซึ่งการคงไว้แบบนี้ต่อไปคงไม่ได้แล้ว”
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกระจายอำนาจสำเร็จจะถือว่าเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพรอบ 2 หรือไม่ นพ.มงคล กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพความจริงได้มีการทำมาแล้วแล้ว โดยเฉพาะการกระจายอำนาจให้กับหน่วยบริการ แต่ที่ผ่านมาได้ถูกต่อต้านจากส่วนกลาง เพราะกลัวว่าอำนาจการบริหารจะลดลง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คิดว่าอำนาจคือการต้องมีคนเดินเข้ามาหาก แต่อำนาจที่แท้จริงคือสุขภาพที่ดีของประชาชน ซึ่งจะได้รับยกย่องและชื่นชมถือเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่า
“การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะแม้แต่ในช่วงที่ผมเป็น รมว.สาธารณสุขเอง ยังไม่สามารถกระจายอำนาจได้เช่นกัน เพราะติดปัญหาการหวงอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข และยังมีอำนาจที่อยู่เหนืออำนาจมากมาย แม้ว่าที่ผ่านมามี รพ.ที่พร้อมออกนอกระบบ อย่าง รพ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต แต่ต้องล้มไปในที่สุด เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้ รพ.ในสังกัดไหลออกนอกระบบหมด ดังนั้นความสำเร็จในการกระจายอำนาจวันนี้ จึงต้องฟันธงจากข้างบนในระดับนโยบายลงไป ขณะเดียวกันต้องหาวิธีทำอย่างไรไม่ให้ถูกขัดขวางจากส่วนกลาง” อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ทั้งนี้หากลงไปดู รพ.สต.ที่ได้มีการถ่ายโอนสู่ท้องถิ่น ไม่แต่เฉพาะชาวบ้าน แต่ผู้ให้บริการเองต่างมีความสุขและมีความพร้อมในการบริการผู้ป่วยมากขึ้น
- 6 views