เห็นด้วยหรือไม่ว่า ... เราทุกคนต่างมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง ซึ่งก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะเป็นผู้เติมแต่งหรือโจษขานในแง่มุมใด
หากแต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ การตัดสินใจเมื่อ 12 ปีก่อนของชายผู้นี้ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในระดับโลก
หน้าประวัติศาสตร์จึงมิอาจไม่จารึกชื่อของเขา โดยเฉพาะในแวดวงสุขภาพด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลงลืมวีรกรรมในครั้งนั้น
ชายผู้นี้คือผู้ประกาศมาตรการ “บังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” หรือซีแอล
นพ.มงคล ณ สงขลา
ชื่อของเขาคือ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข (สธ.)
“You are the bad guy” คือเสียงสรรเสริญจากผู้เสียผลประโยชน์ที่แอบอิงอยู่ภายใต้ร่มเงาของบริษัทยายักษ์ใหญ่ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำ
ทว่าผลพวงจากความกล้าหาญทางจริยธรรมนั้น ได้ช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยอย่างน้อยๆ ปีละ 5 หมื่นชีวิต ซึ่งเสียชีวิตลงเนื่องด้วยยาต้านไวรัสมีราคาแพงได้
จากอดีตล่วงเลยสู่ปัจจุบัน ... ปี 2562 ประเทศไทยเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ณ วันที่การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่อึดใจ บรรดาพรรคการเมืองประโคมนโยบายให้ประชาชนเลือกสรรและตั้งความหวัง
หนึ่งในนั้นคือข้อเสนอ ... “โรงพยาบาลออกนอกระบบ”
หมายถึงการปรับเปลี่ยนการบริหาร ทำให้โรงพยาบาลรัฐออกจากระบบราชการ จัดตั้งเป็นองค์การมหาชนในลักษณะเดียวกับ “โรงพยาบาลบ้านแพ้ว” จ.สมุทรสาคร ซึ่งดำเนินการสำเร็จไปปี 2543
ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ สำนักข่าว Hfocus ได้พูดคุยกับ “นพ.มงคล” อีกครั้งหนึ่ง ด้วยเชื่อว่า “การตัดสินใจ” เชิงนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะนำไปสู่การบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการสาธารณสุขไทยอีกครั้ง
“เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้โรงพยาบาลออกนอกระบบ ... ไม่ว่าพรรคไหนทำก็ตาม ผมเห็นด้วยทั้งสิ้น” นพ.มงคล ประกาศจุดยืน
“แต่คนในกระทรวงคงจะไม่ค่อยจะเห็นด้วย” จากประสบการณ์เขา เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น
อาจารย์มงคล อธิบายว่า ทุกวันนี้ สธ.มีบทบาทในการกำกับดูแลหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) ระดับต่างๆ แต่ถ้าเอาโรงพยาบาลออกนอกระบบย่อมก็เท่ากับว่า สธ.จะถูกลอดทอนอำนาจลง
“ทุกวันนี้คนในกระทรวงไม่ค่อยเห็นด้วย เขาไม่อยากให้กระจายอำนาจเพราะกลัวว่าถ้าปล่อยออกไปหมดแล้วคงจะไม่มีใครเดินเข้ามาหาผู้บริหารในกระทรวง ดูเหมือนว่ามันจะทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นผู้ใหญ่น้อยลง”
“ผมเข้าใจว่าคนที่มีอัตตายังมีอยู่ตั้งแต่ในอดีตจวบจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งที่จริงแล้วในสมัยที่มีการทำเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อราวๆ ปี 2544-2545 หมอสงวน (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) เคยบอกว่า ถ้าเผื่อกระทรวงสาธารณสุขยอมปล่อยให้โรงพยาบาลเป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ในการควบคุมกำกับของตัวเองอีกต่อไป ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้น
“นั่นเพราะกระทรวงสาธารณสุขก็จะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ให้กระทรวงสาธารณสุขนั่นแหละมาทำหน้าที่บริหารงบประมาณของ สปสช.ในปัจจุบัน”
สำหรับแนวคิดโรงพยาบาลออกนอกระบบนั้น มีต้นแบบและรูปธรรมความสำเร็จจากการดำเนินการของ “โรงพยาบาลบ้านแพ้ว” (องค์การมหาชน) ซึ่งมี พ.ร.ฎ.จัดตั้งโรงพยาบาลของตัวเองโดยเฉพาะ มีคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลที่มาจากทุกภาคส่วน
จากเดิมที่เป็นโรงพยาบาลอำเภอขนาด 30 เตียง เมื่อปี 2543 ปัจจุบันกลายเป็นโรงพยาบาล 300 เตียง ที่อยู่ระหว่างขยายเป็น 500 เตียง โดยมีรายรับมากถึงปีละ 1,600 ล้านบาท
“เมื่อเขามีโอกาส มีความเป็นอิสระในการออกนอกระบบ การบริหารไม่ยึดติดกับราชการ ไม่มีกฎระเบียบ หรือ สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) คอยมาคุม ไม่มีคำสั่ง KPI ต่างๆ มากมาย การทำงานจึงสิ้นเปลืองน้อย แต่เกิดประสิทธิภาพสูง”
“ที่จริงเรามีโรงพยาบาลที่พร้อมออกนอกระบบจำนวนมาก ในสมัยที่ผมทำงานอยู่ ก็อยากให้โรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต ออกจากระบบ ขณะนั้นเขาพร้อมมากๆ แต่กลับเกิดข้อขัดข้องบางประการจนไม่สามารถออกนอกระบบได้ นั่นเพราะมีคนไม่เห็นด้วย”
“แต่แท้ที่จริงแล้ว หากเราลองไปศึกษารูปแบบของโรงพยาบาลบ้านแพ้วก็จะพบว่า แม้จะออกนอกระบบไปก็จริง แต่มันมีความยึดโยงกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่ ปลัดกระทรวงก็ไปเป็นกรรมการบริหารโรงพยาบาล”
เราถาม “นพ.มงคล” ว่า ถ้าผู้บริหารประเทศในอนาคตเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ จังหวะก้าวควรเป็นอย่างไร ?
“เราไม่ต้องเอาโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากหรอก โรงพยาบาลบ้านแพ้วก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่อะไร และพื้นที่ตรงนั้นก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ร่ำรวย หัวใจสำคัญของการออกนอกระบบคือวิธีการบริหาร”
อดีต รมว.สาธารณสุข เน้นย้ำว่า การบริหารโรงพยาบาลที่ออกนอกระบบ ต้องไม่เหมือนกับวิธีการบริหารโรงพยาบาลสังกัดรัฐบาล
“ผู้บริหารต้องมีหัวทางธุรกิจ แต่ก็ไม่ต้องถึงขั้นเป็นคนที่มีหัวธุรกิจเลิศเลออะไร คือเป็นนักธุรกิจที่อยากทำงานเพื่อสังคม ไม่ใช่จะเอาหมอคนหนึ่งคนใดมาเป็นผู้บริหารก็ได้ เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้รู้เรื่องการบริหารองค์กรให้อยู่รอด
“ผู้บริหารโรงพยาบาลในปัจจุบันนี้ เราตั้งกันโดยตามความพอใจของผู้ตั้ง ตั้งตามความอยากของผู้อยาก ไม่ได้ตั้งเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ฉะนั้นต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ คือผู้บริหารโรงพยาบาล “ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์” เลย
“ถ้าจะบอกว่าผู้อำนวยการต้องเป็นนายแพทย์เท่านั้น มันก็ไปไม่รอด เพราะแพทย์ไม่ได้เรียนมาหรือถูกสอนมาให้เป็นผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ใช้เงินหลวงมาตลอด ใช้หมดปีนี้ปีหน้าก็ได้ใหม่ เขาจะไม่เคยรู้จักคำว่าเจ๊ง เพราะเขาใช้แต่เงินภาษีจากคนอื่น
“แต่ถ้าออกนอกระบบ มัน do or die เลยนะ คือถ้าบริหารไม่ดีก็เจ๊ง แล้วคนที่บริหารจนเจ๊งก็คงอยู่ไม่รอด ชาวบ้านเขาก็จะไม่เอาด้วย ถ้าเราเอาคนในพื้นที่ช่วยบริหารด้วย ถ้าผู้บริหารบริหารไม่ดีเขาก็ขอให้เปลี่ยน ตรงนี้จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงสำหรับผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถในการบริหารธุรกิจ”
อาจารย์มงคล ชี้ประเด็นอีกว่า หนึ่งในความสำเร็จของโรงพยาบาลบ้านแพ้วก็คือคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลที่มีทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม มีการชักชวนชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เข้ามาบริหาร นั่นทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ มีส่วนได้ส่วนเสีย
ที่สุดแล้ว ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ก็เป็นคนช่วยหาเงินให้โรงพยาบาล คือแทนที่จะไปสร้างศาลาวัด ก็ไปสร้างอาคารให้กับโรงพยาบาล หรือซื้ออุปกรณ์ให้กับโรงพยาบาลแทน
“ผมไม่เห็นว่าแนวทางนี้จะเป็นความเสี่ยงเลย เพียงแต่เราต้องกล้าเปลี่ยนแปลง มันไม่ได้เสี่ยงหรอก เพราะโรงพยาบาลเนี่ยลูกค้าก็ชัดเจน ใครเป็นคนจ่ายเงินก็ชัดเจน รายรับ-รายจ่ายเราสามารถบริหารได้ ฉะนั้นไม่จริงหรอกที่พูดกันว่าเงินไม่พอ งบประมาณไม่พอ”
“ที่ไม่พอก็เพราะว่ามองกันแต่ในแง่ของการไม่ได้หา มองในแง่การใช้อย่างเดียว ประเด็นคือต้องมีการบริหารจัดการตรงนี้ด้วย มองในแง่ของการหาเข้ามาด้วย คือมันจะต้องเปลี่ยนการบริหารงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร มาเป็นการบริหารเงินเพื่อบริหารธุรกิจให้องค์กรตัวเองอยู่ได้”
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข พูดตรงไปตรงมาว่า คนที่มีวิธีคิดแบบ “ข้าราชการ” คงไม่สามารถบริหารโรงพยาบาลได้อย่างแน่นอน
“คนในราชการแบบเก่า เขารอเงินภาษีแล้วก็ใช้ไป เช้าตื่นมาทำราชการ เย็นไปทำคลินิก แบบนี้มันไม่เหนื่อย แต่ถ้าออกนอกระบบจริงๆ เขาจะทำแบบนั้นต่อไปไม่ได้ มันจะต้องจริงจังกับองค์กรมากขึ้น เพราะถ้าทำไม่ดีมันจะไม่รอด ดังนั้นเขาจะเหนื่อยเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งแน่นอนว่าคนที่มีวิธีคิดแบบนั้นคงไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร”
“ข้าราชการปกติที่ไม่เคยคิดถึงเรื่องการเอาตัวรอด ความอยู่รอด ย่อมไม่มีทางที่จะมาทำตรงนี้ได้ และคนเหล่านี้นี่แหละที่ไม่อยากให้เอาโรงพยาบาลออกจากระบบ เพราะความตั้งใจในการเอาใจใส่ระหว่างการทำธุรกิจกับการทำราชการไม่เหมือนกัน ดังนั้นจะเอาราชการมาทำธุรกิจก็คงไม่ง่าย”
นพ.มงคล ย้ำว่า โรงพยาบาลขนาดเล็กหรือใหญ่ก็สามารถออกนอกระบบได้ ถ้าโรงพยาบาลใดพร้อมก่อนก็สามารถทำได้ทันที แต่พร้อมในที่นี้หมายถึงความพร้อมของ “คน”
“ความพร้อมนี้ไม่ใช่พร้อมด้วยเงิน พร้อมด้วยจำนวนเตียง แต่มันต้องพร้อมที่คน เพราะทุกวันนี้เรายังมีคนอยากเป็นข้าราชการ อยากเป็นผู้อำนวยการ อยากเป็นหัวหน้าส่วนราชการ หรืออะไรต่างๆ แต่ในการบริหารโรงพยาบาลนอกระบบนั้นเป็นการบริหารแบบองค์กรธุรกิจ ซึ่งแตกต่างกับหน่วยงานรัฐ”
“ดังนั้น มันจะไม่มีท่านผู้อำนวยการ ไม่มีท่านรอง คือทุกอย่างมันจะเปลี่ยนไป ฉะนั้นถามว่าใจของคนทำงานพร้อมหรือไม่ แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยน ไม่ปฏิรูป ถามต่อว่าแล้วจะอยู่กันได้อย่างไร จะอยู่กันแบบกินภาษีไปเรื่อยๆ แบบนี้หรือ ถ้าทำแบบนี้ต่อไปประสิทธิภาพย่อมไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
“มันทำไม่ยาก แล้วก็ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว”
- 1368 views