จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าภายหลังปี 2564 จะไม่มีตำแหน่งข้าราชการให้แก่แพทย์จบใหม่ ซึ่งเป็นไปตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย (ดำเนินการเฉพาะระยะที่ 1 ปีพ.ศ.2560-2564) จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางนั้น

นพ.ฑิณกร โนรี

นพ.ฑิณกร โนรี นักวิจัย สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ภายใต้มูลนิธิสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กระแสข่าวดังกล่าวทำให้คนตกใจ ทั้งที่จริงแล้ว ปี 2564 คือปีสุดท้ายของการขอกรอบแผนอัตรากำลังคนรอบนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้เสนอแผนใหม่เพราะยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนระยะต่อไป ความเข้าใจว่าหลังปี 2564 จะไม่มีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการแก่แพทย์จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

“จริงๆ แล้ว ทุกวิชาชีพ ตอนนี้เราขาดหมด เพราะภาระงานเยอะเหลือเกิน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขขอกรอบอัตรากำลังแพทย์ปีละประมาณ 2,200-2,300 กว่าคน แต่ไม่ได้ขอเต็มตามกรอบอัตรา เพราะแต่ละปีมีการบริหารจัดการตำแหน่งภายในด้วยสำหรับแพทย์ที่ลาออกหรือเกษียณตกปีละ 200-300 คน โดยจะเก็บตำแหน่งนั้นไว้เพื่อบรรจุแพทย์ใหม่ ดังนั้น แต่ละปีการขอตำแหน่งก็จะหักลบกับตรงนี้” นพ.ฑิณกร กล่าว

นพ.ฑิณกร อธิบายต่อว่า ตามแผนกรอบอัตรากำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข ณ ปี 2564 ระบุตัวเลขว่า ไทยควรมีแพทย์ประมาณ 24,560 อัตรา ขณะที่ตัวเลขแพทย์อยู่ที่ 23,692 อัตรา ซึ่งใกล้เคียงกันมาก ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงเห็นว่า การอนุมัติตำแหน่งแพทย์ในรอบต่อไปน่าจะพอดีกับความต้องการแล้ว หลังปี 2564 ก็น่าจะไม่มีการขอตำแหน่งข้าราชการจากกระทรวงสาธารณสุขอีก แต่คนไปตีความว่า ไม่มีตำแหน่งข้าราชการของแพทย์อีกต่อไป จึงเกิดความโกลาหลขึ้น

“นักศึกษาแพทย์ที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจจุบัน ซึ่งใช้เวลาเรียน 6 ปี อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเป็นข้าราชการอยู่แล้ว เพราะถูกล็อกด้วยสัญญาผูกพันที่ทำกับรัฐบาลว่า จบมาแล้วต้องทำงานใช้ทุนกับรัฐ ถ้าเขาจบมาแล้วอยากรับราชการ รัฐบาลมีหน้าที่จัดให้เขา ดังนั้น หลังปี 2564 กระทรวงก็ยังต้องมีการขอตำแหน่งอยู่”

นพ.ฑิณกร ยังกล่าวด้วยว่า หลังมีกระแสข่าวทาง ก.พ. ก็มีเอกสารชี้แจง โดยระบุว่า ‘เมื่อคณะกรรมการบริหารอัตรากำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณาข้อมูลที่ ก.พ. นำเสนอมาแล้ว จึงเห็นว่าในปี 2564 จะมีอัตรากำลังนายแพทย์และทันตแพทย์ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จึงได้แจ้งกระทรวงสาธารณสุขทราบว่า ในปี 2564 จะจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อรองรับนักศึกษาแพทยศาสตร์และทันตแพทย์ศาสตร์ให้เป็นปีสุดท้าย เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดสรรตำแหน่งให้นักศึกษาแพทย์จบใหม่จากตำแหน่งที่ว่างจากการเกษียณได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กระทรวงสาธารณสุขอาจเสนอผลการวิเคราะห์อัตรากำลังให้ คปร. พิจารณาได้ เพื่อให้ข้อมูลอัตรากำลังแพทย์สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง’

“ข้อความในตอนท้ายของเอกสารชี้แจงของ ก.พ. หมายความว่า ถ้ายังมีความต้องการอยู่ก็สามารถทำแผนขอเหมือนปกติได้ ทางกระทรวงสาธารณสุขเองก็เข้าใจว่านี่เป็นกระบวนการปกติ รอบอีก 5 ปีถัดไปก็จะขอเหมือนเดิม แต่การให้ข่าวแบบนั้นในตอนแรก อาจเป็นเพราะขาดการสื่อสารต่อสังคมน้อยไป ทำให้สังคมตื่นตระหนกตกใจ”

นพ.มงคล ณ สงขลา

นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากนั่นเป็นเพียงแผนช่วงแรกของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพฯ ที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการศึกษาและนำเสนอแผนกำลังคนด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศในระยะ 10 ปี ยืนยันว่า ความต้องการและตำแหน่งจะสมดุลกันในอีก 10 ปีข้างหน้า

“เราดูในภาพรวมทั้งประเทศ ไม่เฉพาะสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะพบว่าแพทย์ที่เราผลิตเพิ่มโปรแกรมต่างๆ ปีหนึ่งประมาณเกือบ 4,000 คน หากเพิ่มในอัตรานี้เมื่อครบ 10 ปี จำนวนแพทย์จะเพียงพอกับความต้องการ หลังจาก 10 ปีข้างหน้า จำนวนแพทย์ที่เพิ่มกับแพทย์ที่จะออกจากระบบไม่ว่าด้วยวิธีไหน จะอยู่ในลักษณะที่ค่อนข้างสมดุล”

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ไม่ว่าทันตแพทย์ เภสัชกร หรือวิชาชีพอื่น เช่น นักกายภาพบำบัด ฯลฯ นั้น จำนวนการผลิตตอนนี้นับไปอีก 10 ปีข้างหน้าจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ ยกเว้นพยาบาลที่แม้ผลิตในอัตราเพิ่มเช่นปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอในอนาคต ทั้งนี้เพราะสถานพยาบาลปฐมภูมิต้องการพยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัดเพิ่มตามสภาพโครงสร้างประชากรและสถานการณ์ด้านสุขภาพในปัจจุบัน

“แต่ละหน่วยงานอาจจะคำนวณความต้องการกำลังคนของเขาเอง ส่วนคณะกรรมการกำลังคนฯ เป็นผู้กำกับตัวเลขในภาพรวม อีก 10 ปี บอกได้เลยว่า เฉพาะแพทย์บรรจุใหม่ปีละ 2,300-2,400 คน มันยังปริ่มๆ ไม่ใช่เหลือ ไม่ใช่ขาด ถ้าอัตราการเพิ่มของผู้สูงอายุมีมากขึ้น และมีนโยบายสนับสนุนให้เด็กเกิดมากขึ้น ความต้องการแพทย์และสาขาอื่นก็จะสูงขึ้น แปรผันตามปัจจัยหลายๆ อย่าง” นพ.มงคล กล่าวและเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แผนพัฒนากำลังคนฯ ระยะ 10 ปี ฉบับที่ 2 ได้จัดทำเสร็จแล้ว โดยอยู่ในขั้นการพิจารณากลั่นกรองของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนจะส่งต่อ ครม. ซึ่งเมื่ออนุมัติแล้วจึงจะสามารถส่งให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามแผนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.อนุมัติ ขรก.ตั้งใหม่ให้ สธ. 1,308 อัตรา 'แพทย์-หมอฟัน' ส่วนเภสัชไม่อนุมัติ ให้ใช้ตำแหน่งว่าง

สพศท.ชี้เลิกบรรจุหมอเป็นข้าราชการหลังปี 64 ต้องมีรูปแบบการจ้างอื่นที่ดึงดูดคนไว้ในระบบด้วย

ก.พ.แจงยกเลิกอัตราข้าราชการตั้งใหม่บรรจุหมอหลังปี 64 เหตุ สธ.ใช้ตำแหน่งว่างมาบรรจุได้

นายกแพทยสภาโนคอมเม้นต์ ก.พ.เลิกอัตราตั้งใหม่ ขรก.หลังปี 64