เปิดความรุนแรงทางเพศรอบปี พบข่มขืนรุมโทรมสูงถึง 73.2% ผู้ถูกกระทำเกินครึ่งเสียชีวิต อายุน้อยสุด 1 ขวบ มากสุด 86 ปี ปัจจัยกระตุ้นหลักมาจากแอลกอฮอล์ ตามด้วยปัญหาการยับยั้งอารณ์เพศ พื้นที่ กทม.ยังครองแชมป์ความรุนแรง ด้านผู้ปกครอง ร้องทุกข์ ลูกสาวโดนกระทำ แต่คดีความไม่คืบหน้า หนำซ้ำผู้ก่อเหตุเป็นเพื่อนร่วมงาน
วันที่ 16 มิ.ย.59 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีรายงานสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศ ในหัวข้อ “ข่มขืน ไกล่เกลี่ย ยอมความ: เราจะออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร?” ภายในงานมีการร่วมแลกเปลี่ยนจากผู้ประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศ และการแสดงละคร สะท้อนปัญหาสังคม ชุด“วังวนข่มขืน ไกล่เกลี่ย ยอมความ”
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศในรอบปี2558 จากหนังสือพิมพ์14 ฉบับ ได้แก่ คมชัดลึก, ข่าวสด, มติชน, เดลินิวส์, แนวหน้า, ไทยโพสต์, กรุงเทพธุรกิจ, บ้านเมือง, ไทยรัฐ, สยามรัฐ, ผู้จัดการรายวัน, สยามกีฬา, พิมพ์ไทย, โพสต์ทูเดย์ พบว่า มีข่าวความรุนแรงทางเพศ ทั้งหมด 306 ข่าว มากที่สุดคือข่าวข่มขืนรุมโทรม 224 ข่าว คิดเป็น 73.2% และมีผู้ที่เสียชีวิตถึง 20 ราย คิดเป็น 60% อาชีพของผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา 53.5% สำหรับปัจจัยกระตุ้นมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 30% รองลงมามีปัญหาการยับยั้งอารมณ์ทางเพศ 23.3% ที่น่าห่วงคือ อายุผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 1-20 ปี และน้อยที่สุดคือ 1 ปี 8 เดือน สูงสุดคือ 86 ปี ทั้งนี้ ผู้กระทำ 46% เน้นที่คนใกล้ชิดและรู้จัก ขณะที่จังหวัดหรือพื้นที่ที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี และสมุทรปราการ
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำ มีทั้งทางด้านจิตใจ หวาดผวา ระแวง ซึมเศร้า รองลงมาคือ สูญเสียทรัพย์ ถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง ถูกทำร้ายร่างกายสาหัส สถานที่ใช้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นที่พักของผู้ถูกกระทำ 21.4% และที่พักผู้กระทำ 19.9% ผู้ที่ก่อเหตุ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขาย หรือมีแม้กระทั่งเป็นนักเรียนนักศึกษา ครู/อาจารย์ อาจกล่าวได้ว่า การกระทำความรุนแรงทางเพศถือเป็นปัญหาที่สะท้อนวิธีคิดจากระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นรากเหตุแห่งปัญหา คือผู้กระทำใช้อำนาจเหนือบังคับให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย โดยเฉพาะเรื่องเพศที่ผู้ชายไม่ได้ถูกปลูกฝังให้มีการควบคุม ผู้ชายจึงมักแสดงพฤติกรรมทางเพศแบบไหนก็ได้ ผู้ชายส่วนหนึ่งจึงใช้อำนาจกับผู้หญิงในเรื่องเพศ ดังนั้นในการแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด มนุษย์ทุกคนต้องเคารพเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น” นางสาวจรีย์ กล่าว
นางสาวอังคณา อินทสา
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูลการให้คำปรึกษาผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศของมูลนิธิฯ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุไม่เกิน 20 ปีที่ถูกกระทำจากคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัว ที่สำคัญคือผู้ประสบปัญหาส่วนใหญ่ไม่ทราบขั้นตอนการดำเนินคดีความ จึงทำให้คดีขาดอายุความ พยานหลักฐานไม่พร้อม เกิดความท้อและอายที่ต้องเล่าเหตุการณ์ซ้ำหลายครั้ง ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และกลไกการคุ้มครองของหน่วยงานรัฐอาจไม่สามารถคุ้มครองสิทธิ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางเพศที่ต้องไม่บัญญัติให้มีการยอมความในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ
“ส่วนใหญ่แล้วผู้ถูกกระทำมีภาวะความกลัวอาย และมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่รุนแรง นอกจากนี้การรวบรวมสถิติข่าวยังได้สะท้อนภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้มีกระบวนการหรือกลไกป้องกันแก้ไขปัญหา เยียวยาผู้ถูกกระทำแบบรอบด้าน ทั้งกระบวนการเสริมพลังให้กล้าออกมาขอความช่วยเหลือ รวมถึงระบบช่วยเหลือที่เป็นมิตร ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนรับแจ้งความดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับเพศโดยไม่อาศัยช่องว่างกฎหมายในความผิดข่มขืนสามารถยอมความได้ นอกจากนี้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิขั้นตอนและระยะเวลาในชั้นสอบสวนที่สำคัญต้องมีการตรวจร่างกายเพื่อบันทึกหลักฐานอย่างครบถ้วนและเป็นระบบ เคารพสิทธิ คุ้มครองสิทธิ
ด้าน นายเอ (นามสมมติ) อายุ 53 ปี ผู้ปกครองที่มีลูกสาวเป็นคนพิการแล้วถูกข่มขืนกระทำชำเรา เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า ลูกสาวของตนอายุ 21 ปี มีปัญหาบกพร่องทางการเรียนรู้ ถูกเพื่อนร่วมงานของตนข่มขืน เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ย.58 ผู้ก่อเหตุได้ปีนเข้ามาทางหลังคาบ้าน ขึ้นมาที่ชั้นสอง ซึ่งลูกสาวกำลังนอนอยู่ในบ้าน จากนั้นได้ชวนให้ออกไปข้างนอก แล้วพาขึ้นรถออกไปเพื่อข่มขืน หลังจากนั้นผู้ก่อเหตุได้พาลูกสาวของตนกลับมาส่งที่หน้าปากซอยบ้านแล้วให้เดินกลับเข้าบ้านเพียงลำพัง หลังจากตนได้ทราบเรื่องจึงพาลูกสาวไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน สน. ใกล้บ้านในวันที่เกิดเหตุทันที และให้ลูกสาวตรวจร่ายกายที่โรงพยาบาลตำรวจ และเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนได้นัดสอบปากคำ 2 ครั้ง หลังจากนั้นไม่ได้รับการติดต่อกลับจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกเลย เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน จึงได้เข้าไปปรึกษามูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเพื่อให้ช่วยติดตามคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดี ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
“ผมไม่สบายใจและกังวลมาก เนื่องจากต้องพบหน้าผู้ที่ข่มขืนลูกสาวผมทุกวัน เพราะทำงานที่เดียวกัน สภาพจิตใจตอนนี้แย่มาก โดนขู่ในที่ทำงาน อีกทั้งคดีล่าช้าไม่มีความคืบหน้าและกลัวว่าคดีจะเงียบและหมดอายุความในอีก 6 เดือน เวลาที่โทรติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยากมากไม่อยากที่จะรับโทรศัพท์ อ้างว่าออกไปศาล ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุข้างนอก หรือติดต่อเจ้าของคดีไม่ได้ ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือ ขอให้ตำรวจเร่งทำคดีให้เร็วขึ้น โดยออกหมายจับให้ผู้ก่อเหตุมารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากผ่านมานาน ขอให้เอาตัวคนผิดมารับโทษ” นายเอ กล่าว
ขณะที่นางสาวบี (นามสมมติ) อายุ 42 ปี ผู้ที่ถูกอดีตสามีบังคับให้มีเพศสัมพันธ์และบังคับให้ขายบริการทางเพศ กล่าวว่า ตนแต่งงานอยู่กินกับอดีตสามีมากว่า 20 ปี มีลูกชายด้วยกัน 2 คน กระทั่งสามีมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เริ่มเสพสื่อลามกมากขึ้น และบังคับให้ตนมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง แม้กระทั่งบังคับข่มขู่ให้ขายบริการทางเพศกับชายแปลกหน้า หากไม่ทำก็ถูกทำร้าย ทุบตี และไม่ให้เจอหน้าลูก ตนจึงต้องจำใจทำและตลอดเวลากว่า 1 ปี ต้องถูกอดีตสามีบังคับให้มีเพศสัมพันธ์และบังคับให้ขายบริการทางเพศ
“ชีวิตตอนนั้นย่ำแย่ อยากฆ่าตัวตาย แม้พยายามร้องขอความเห็นใจ และเล่าเหตุการณ์ให้ญาติอดีตสามีรับรู้แต่กลับถูกต่อว่าไปมีความสัมพันธ์กับชายอื่นเอง จึงต้องฝืนใจอดทน เพราะนึกถึงหน้าลูกทั้ง 2 คน เมื่อสภาพร่างกายจิตใจบอบช้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายทนไม่ไหวหนีออกมาอยู่กับน้าสาว และติดต่อมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลให้เข้ามาช่วยเหลือ ร่วมกับหลายฝ่ายช่วยต่อสู้ทางคดีความ จนล่าสุดอดีตสามีถูกศาลตัดสินจำคุก 7 ปี และได้รับเงินชดเชยเยียวยา ซึ่งถือว่าเราได้หลุดพ้นทุกข์มาทั้งชีวิต เริ่มมีชีวิตใหม่ได้ แม้ตอนนี้จะไม่ได้อยู่กับลูกเพราะฝ่ายนั้นเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก หลังจากนี้จะเดินหน้าต่อเพื่อฟ้องหย่า และขอให้ผู้ที่ได้รับความรุนแรงทางเพศ หรือผู้เสียหาย อย่าอายที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง ไม่มีคำว่าสาย” นางสาวบี กล่าว
- 1263 views