ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดตัวหนังสือ “เฟมินิสต์แบบบ้านๆ” ใช้เวลากว่า 2 ปี เก็บข้อมูล รวมขบวนการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศ ย้ำ! สิทธิสตรีเป็นของทุกคน ทนายความประจำองค์การเฟมินิสต์ ชี้ข้อเรียกร้องหลายเรื่องประสบความสำเร็จ แต่ยังต้องทำงานต่อเนื่อง    

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เฟมินิสต์แบบบ้านๆ” เพื่อถ่ายทอดค่านิยมในครอบครัว สังคม การเข้าถึงวิถีชีวิตของคนงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ 

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ตนและทีมงานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลช่วยกันระดมสมอง 2 ปีกว่า ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาเพื่อสื่อสารให้ผู้คนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เข้าใจได้ง่ายและมองการต่อสู้ของสิทธิสตรีเป็นเรื่องของทุกคน ทั้งนี้ มี 3 เหตุผลที่ใช้ชื่อหนังสือ “เฟมินิสต์แบบบ้านๆ” คือ 

1.เพื่อต้องการให้เห็นว่า การต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีเป็นของทุกคนไม่ใช่ เรื่องขององค์กรผู้หญิง คนงานหญิง คนยากคนจน แต่ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ+ หรือใครก็ตามที่สนใจสามารถร่วมต่อสู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศก็ถือว่าเป็นเฟมินิสต์ 

2.การเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นเรื่องของทุกคน ส่วนคนทำงานด้านพัฒนาสังคมอย่างพวกเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สนับสนุนคนเหล่านี้ให้รวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง สร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น สิทธิการลาคลอด 90 วันของกฎหมายประกันสังคม และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งพวกเขาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนสำคัญ  

3.ในฐานะคนทำงานพัฒนาสังคมต้องลงไปเรียนรู้กับคนงานหญิง คนยากคนจน คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีสอนในตำรา ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและร่วมต่อสู้ไปกับเขา ในขบวนการเปลี่ยนแปลงไม่มีใครเป็นฮีโร่เพราะทุกคนมีความสำคัญที่เปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วยกัน

“หนังสือเล่มนี้อยากชี้ให้เห็นว่า ผมมีความเข้าใจเรื่องพื้นฐาน เรื่องผู้หญิงคนแรกมาจากแม่ที่สอนให้ทำงานบ้าน หุงข้าว ซักผ้า ถูบ้าน ล้างจานที่ผู้ชายต้องทำได้ ถึงเป็นลูกชายคนเดียวก็ต้องทำด้วยและช่วงวัยรุ่นผมก็ไม่ได้เป็นชายชาตรี ไม่กล้าหาญเวลาเพื่อนชกต่อยก็ไม่กล้าไปช่วยเพื่อนเพราะกลัว” นายจะเด็จ กล่าว

ด้าน นางสาวธารารัตน์  ปัญญา ทนายความประจำองค์การ Feminist Legal Support (FLS) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า เรื่องสิทธิความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ตื่นตัวและให้ความสำคัญ การขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ของคนรุ่นใหม่จึงมีการสอดแทรกเรื่องนี้เข้าไปด้วย ถือว่า ดีขึ้นกว่ายุคก่อน ๆ ที่คนเข้าใจเรื่องนี้มีไม่มาก จึงเป็นเพียงการรวมกลุ่มกันเล็ก ๆ และใช้เวลานานในการผลักดัน แต่สถานการณ์โดยรวมในปัจจุบันถือว่าดีขึ้น คนเข้าใจมากขึ้น อุปสรรคน้อยลง หลายเรื่องมีความก้าวหน้า แต่ไม่ได้สำเร็จทั้งหมดในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ อย่างสิ่งที่ได้มาแล้วคือกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ยังไม่ได้ คือ คำนำหน้านาม สิทธิของสามีที่จะสามารถลางานมาช่วยเลี้ยงดูบุตร ซึ่งต้องต่อสู้กันต่อ จึงยังมีเรื่องที่ต้องต่อสู้กันอีกนาน และคิดว่า ต่อให้การผลักดันกฎหมายเป็นผลสำเร็จแล้ว แต่ยังต้องมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับคนในสังคม 2 สิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน ถึงจะเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมอย่างแท้จริง 

นางสาวธารารัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับหนังสือ “เฟมินิสต์แบบบ้านๆ” นั้นตนได้ติดตามอ่านจากนายจะเด็จ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ ได้นำเอาหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ จึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดความห็นต่อประเด็นนั้นๆ มาตลอด ดังนั้น คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านแน่นอน เพราะเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องสิทธิความเสมอภาคของคนในสังคมในแต่ละช่วงเวลา บอกเล่าเรื่องราวสิทธิ และความเสมอภาคที่เริ่มต้นตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

ขณะที่นายชูวิทย์  จันทรส  เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า  ตนพึ่งเริ่มเข้าใจเรื่องนี้หลังจากที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับพี่จะเด็จ ผู้เขียนหนังสือ และน้องๆ ในมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  ในช่วงวัยสามสิบกลางๆ ด้วยความที่พี่จะเด็จเป็นคนที่ทำงานจัดตั้ง ทำงานความคิดกับคนและเชื่อในการรวมกลุ่มของผู้คน  ไม่ว่าจะสาขาอาชีพไหนก็ตาม  พี่จะเด็จจะชวนน้องคุยเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ การเมือง สังคมอยู่เสมอ ๆ เราจะถูกแนะนำให้อ่านหนังสือ ดูหนัง จัดกิจกรรมที่ต้องมีช่วงของการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดทางสังคม และสอดแทรกเรื่องปัญหาจากรากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ สำหรับการรวมกลุ่ม การตั้งวงจัดการศึกษา สมัยนี้มันอาจจะดูเชย ดูเอาท์ แต่สำหรับผมมีความสำคัญมาก  ที่หลอมรวมให้ผมมาอยู่จุดนี้ได้  แม้วันนี้รูปแบบในการรวมกลุ่มมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไป  แต่ความสำคัญยังคงอยู่ซึ่งรุ่นพี่ๆทั้งหลาย  คนที่ผ่านประสบการณ์มาก่อนควรสนับสนุน  และเข้ามามีส่วนร่วมกับน้อง ๆ ไม่ทำตัวเป็นคัมภีร์ เป็นไม้บรรทัดชี้ถูกผิด หรือเป็นคนตัดสินพิพากษา  พี่ก็ผิดได้  พลาดได้  ขอโทษ  ขออภัยได้  สร้างบรรยากาศที่เสมอภาคในทางความคิด ในการถกเถียง อย่าให้ความอาวุโสใดๆ มาบดบังความงดงามของพื้นที่ความคิด   

“ส่วนตัวมองว่า เนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มนี้ อยู่ที่ความคิดความเชื่อในสิทธิ ความเท่าเทียม  ความเสมอภาค  ปัญหาจากความคิดชายเป็นใหญ่  การต่อสู้ของผู้ด้อยโอกาสผู้ถูกกดทับในสังคม และงานรวมกลุ่ม  ซึ่งสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างง่ายๆได้  ไม่ต้องปีนบันไดขึ้นไปเรียนรู้   ด้วยความเรียบง่ายในการนำเสนอ  มันจึงคือแฟมินิสต์แบบบ้าน ๆ ที่ใคร ๆ ก็เป็นได้  เรียนรู้และใช้ประโยชน์จากมันได้จริงๆ แม้กระทั่งในเรื่องง่ายๆ เช่นงานบ้านที่ผู้ชายเองก็ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่มอบให้เป็นภาระของผู้หญิง  แล้วตัวเองก็ลอยนวล” นายชูวิทย์ กล่าว