นายกฯ มอบ “ภูมิธรรม” เป็นประธานกิจกรรมงานเลี้ยงรับรองแสดงความยินดี หลังสมาชิกวุฒิสภา(สว.) เห็นชอบกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ก่อนเสนอ ครม.พิจารณา ขณะที่ “สว.วัลลภ” แสดงความยินดีกลุ่ม LGBTI+
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 นับเป็นอีกวันแห่งความยินดีและการรอคอยมาแสนนานต่อการผลักดันประเด็น สมรสเท่าเทียม หลังจากเมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกันที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์(ฉบับที่..) พ.ศ.. หรือกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ด้วยผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 152 คน เห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้นจะจัดส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป และจะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา และหลังจาก 120 วัน ทุกคนก็สามารถไปที่อำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อจดทะเบียนสมรสได้
ด้านรัฐบาล เปิดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล จัดกิจกรรมฉลองการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีการตกแต่งถนนสายรุ้งแห่งความเท่าเทียมรอบๆสนามหญ้าบริเวณทำเนียบรัฐบาล และในเวลา 17.00 น.วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน
วันเดียวกัน เวลาประมาณ 15.30 น. ที่จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... พร้อมด้วย นายอนุพร อรุณรัตน์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่วมแสดงความยินดีกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTI+ นำโดย นางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง กรรมาธิการสัดส่วนภาคประชาชน หลังวุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว
ด้านนายวัลลภ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน และขอขอบคุณคณะกรรมาธิการฯ สัดส่วนภาคประชาชนที่เป็นหลักในการให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณามาโดยตลอด ทั้งนี้ ยอมรับว่าการทำความเข้าใจกับสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนนั้นมีความยากลำบาก แต่เมื่อทุกคนเข้าใจในหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว เสียงตอบรับส่วนใหญ่ก็ให้การสนับสนุน ขณะเดียวกันต้องขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่แก้ไขกฎหมายมาได้ด้วยดี เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาจึงสามารถผลักดันกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดกฎหมายสมรสเท่าเทียม เบื้องต้นกรณีการหมั้นจะทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และการสมรสจะกระทำได้เมื่อทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนของประเทศไทย
- 159 views