ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยงานส่งเสริมสุขภาพ LGBTQIA+ ก้าวแรกสู่การกำหนดแนวนโยบายและสวัสดิการ ดูแลกลุ่มความหลากหลายอย่างเป็นรูปธรรม 

ในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งเป็น Pride Month มีข่าวดีที่รอคอยมาแสนนาน เมื่อที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา(สว.)  มีมติเห็นชอบพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์(ฉบับที่..) พ.ศ.. หรือกฎหมาย สมรสเท่าเทียม

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข  ยังจัดตั้ง “หน่วยงานส่งเสริมสุขภาพดูแลกลุ่มเปราะบางและกลุ่มความหลากหลาย LGBTQIA+” อย่างเป็นรูปธรรมขึ้น  โดยมีกรมอนามัย เป็นเจ้าภาพ เพื่อดูแลสุขภาพคนไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงสถานการณ์ LGBTQIA+ ในประเทศไทย ว่า สังคมไทยก็มีความเปิดกว้างมากขึ้น จากการประมาณการของ LGBTQIA+ Capital ในปี 2562 พบว่ามีประชากร LGBTQIA+ ในไทยประมาณ 3.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งหากรวมชาวต่างชาติกลุ่ม LGBTQIA+ ที่อาศัยอยู่ในไทยด้วยแล้ว ก็เป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในสังคม 

ในมุมมองด้านสุขภาพ กลุ่ม LGBTQIA+ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสี่ยงทางสุขภาพได้หลายประการ เช่น ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจากการใช้ยา ฮอร์โมน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร และความเสี่ยงที่จะเกิดโรคบางอย่าง รวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจากการผ่าตัดแปลงเพศ หรือการทำศัลยกรรม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็น LGBTQIA+ เนื่องจากจะมีร่างกายอ่อนแอและระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง

การจัดตั้งหน่วยงาน “ส่งเสริมสุขภาพดูแลกลุ่มเปราะบางและกลุ่มความหลากหลาย LGBTQIA+” ขึ้น จะช่วยส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง รวมถึงสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยนายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus เพิ่มเติมว่า

LGBTQIA+ ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจน และด้วยจำนวนที่มีมากถึงร้อยละ 5 จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลคนกลุ่มนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งให้มีการจัดทำแผนงาน โครงการเพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพกลุ่มดังกล่าวในระยะยาวต่อไป

"LGBTQIA+ ที่ผ่านมาจะไปมุ่งเน้นในกลุ่มวัยทำงาน หรือวัยผู้ใหญ่ แต่กลุ่มนี้จริง ๆ จะพบเจอได้ตั้งแต่วัยประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งจะเริ่มใช้ฮอร์โมน จึงจำเป็นต้องดูแลตั้งแต่เด็ก การใช้ฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ สร้างความรอบรู้อย่างถูกต้อง"

นพ.ปกรณ์ ให้ข้อมูลด้วยว่า การส่งเสริมสุขภาพผ่านทางโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็มีส่วนสำคัญ ที่จะให้ความรู้ คำแนะนำกับกลุ่ม LGBTQIA+ ทั้งการป้องกันตนจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี ซิฟิลิส และ HIV ที่ติดเชื้อจากสารคัดหลั่งและติดเชื้อทางเลือดได้ รวมทั้งจัดห้องน้ำสีรุ้ง ให้กลุ่มนี้รู้สึกสะดวกใจในการเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ การให้ข้อมูลและให้คนกลุ่มนี้ได้ค้นหาตัวตน ศึกษาข้อมูลก่อนการผ่าตัดแปลงเพศได้เร็ว ก็มีส่วนสำคัญในการเตรียมตัวและตัดสินใจของคนกลุ่มนี้

"ขณะนี้กำลังเตรียมจัดทำกลุ่มงานขึ้นมาก่อน นโยบายนี้เกิดจากว่า ยังไม่มีคนเก็บรวบรวมข้อมูลของคนกลุ่มนี้ทั้งเรื่องสถานการณ์ ข้อมูลทางสุขภาพ นี่เป็นวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา รวมทั้งผลักดันให้ภาคีเครือข่ายที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานร่วมกัน ส่งเสริมในมิติสุขภาพของกลุ่ม LGBTQIA+ คาดว่า จะมีแผนงานโครงการที่ชัดเจนภายในปีงบประมาณ 2568-2569" นพ.ปกรณ์ กล่าว

นพ.ปกรณ์ ย้ำด้วยว่า การจัดตั้งหน่วยงานนี้จะช่วยให้ทราบตัวเลขที่แท้จริงของกลุ่ม LGBTQIA+ ทราบถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพ โดยกรมอนามัยมีศูนย์อนามัยที่ 1-12 อยู่แล้ว คนในกลุ่มที่ต้องการข้อมูลด้านการส่งเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง มีชุดข้อมูลความรู้ที่ตรงตามหลักวิชาการ คำแนะนำเรื่องยา ฮอร์โมน และข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ สามารถเข้ารับคำปรึกษาที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ได้ เมื่อทราบจำนวนที่แท้จริงของกลุ่มนี้แล้วจะแยกเป็นกลุ่มย่อย เพื่อนำมาจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงเตรียมจัดทำงานวิจัย นำสู่นโยบายส่งเสริมสุขภาพต่อไป

"กรมอนามัยจะเป็นโซ่ข้อกลางในการเชิญภาคีเครือข่ายมาทำงานส่งเสริมสุขภาพกลุ่ม LGBTQIA+ เมื่อมีแผนงานที่ชัดเจนจะชี้เป้าให้รัฐบาลนำไปทำงบประมาณในการดำเนินงาน เพื่อกำหนดแนวนโยบายและสวัสดิการให้กับคนกลุ่มนี้ในอนาคต ให้เกิดความเท่าเทียม ทั่วถึง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" นพ.ปกรณ์ ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สธ.ตั้งหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มเปราะบาง-กลุ่มความหลากหลาย LGBTQIA+

บรรยากาศทำเนียบรัฐบาล เปิดพื้นที่ฉลองความยินดี หลัง สว. เห็นชอบกฎหมาย สมรสเท่าเทียม