มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัว ปี 2561 พบสูงกว่าปี 2559 ถึงร้อยละ33.7 เฉพาะคดีฆ่ากันตายสูงขึ้นร้อยละ70 กรุงเทพฯครองแชมป์ฆ่ากันตาย ชี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปัจจัยกระตุ้นสำคัญ ระบุปัญหาใหญ่เกินกว่าทำงานตั้งรับ แนะทำงานเชิงรุก หนุนกลไกชุมชน
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมแมนดาริน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ “ฆ่าซ้ำ เจ็บซ้อน ความรุนแรงในครอบครัวพุ่ง เกินตั้งรับ”
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยรวบรวมจากข่าวหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม ในรอบปี 61 พบว่า เกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัว สูงถึง 623 ข่าว สูงกว่าปี 2559 ร้อยละ 35.4 ในจำนวนนี้มีปัจจัยกระตุ้นที่เชื่อมโยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 108 ข่าว หรือประมาณร้อยละ 17.3 ทั้งนี้หากแบ่งตามประเภทข่าว พบว่า อันดับ1เป็นข่าวฆ่ากันตาย 384 ข่าว รองลงมา ฆ่าตัวตาย 93 ข่าว การทำร้ายกัน 90 ข่าว ตั้งครรภ์ไม่พร้อม 33 ข่าว และความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 23 ข่าว
นางสาวจรีย์ กล่าวว่าหากจำแนกความสัมพันธ์ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 73.3 เป็นข่าวสามีฆ่าภรรยา ร้อยละ 58.2 ข่าวระหว่างคู่รักฝ่ายชายฆ่าฝ่ายหญิง ส่วนกรณีลูกฆ่าพ่อแม่ พบร้อยละ 46.5 และการฆ่ากันระหว่างญาติ 45.3 ที่น่าเป็นห่วงที่สุด ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 443 คน ซึ่งสูงขึ้นถึง 173 คน เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตในข่าวปี 2559 (270 คน) คิดเป็นร้อยละ 64
นางสาวจรีย์ กล่าวว่า สำหรับประเภทข่าวการฆ่าตัวตาย พบว่า ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง คือ ผู้ชายฆ่าตัวตาย 54 ข่าว (ร้อยละ 58.1) เพศหญิงฆ่าตัวตาย 34 ข่าว (ร้อยละ 36.5) ประเภทข่าวการทำร้ายกัน พบว่า กรณีคู่รักแบบแฟนทำร้ายกันสูงที่สุด 40 ข่าว (ร้อยละ 44.5) รองลงมาสามีทำร้ายภรรยา 24 ข่าว (ร้อยละ 26.7) พ่อแม่ทำร้ายลูก 17 ข่าว (ร้อยละ 18.8) ประเภทข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว พบว่า เกิดขึ้นในระหว่างเครือญาติสูงที่สุด 11 ข่าว (ร้อยละ 47.8) รองลงมาพ่อเลี้ยงกระทำลูกเลี้ยง 9 ข่าว (ร้อยละ 39.1) พ่อกระทำลูก 3 ข่าว (ร้อยละ13.1) ส่วนจังหวัดที่มีการฆ่ากันตายมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ รองลงมา พิจิตร และฉะเชิงเทรา ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวฆ่ากันตายต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะกระจุกตัวอยู่เป็นบางจังหวัดเท่านั้น แต่ในปี 2561 พบว่า ข่าวฆ่ากันตาย ได้ขยายไปเกือบครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯได้รวบรวมข้อมูลปี 2561 ที่มีผู้ใช้บริการเฉพาะปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 32 คน อายุ 31-40 ปี ส่วนใหญ่ระดับการศึกษาปริญญาตรี สำหรับการดำเนินการทางกฎหมาย พบว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 จำนวน 14 กรณี รองลงมา คือ คดีแพ่งและพาณิชย์ จำนวน 11 กรณี และคดีอาญา จำนวน 7 กรณี ซึ่งผู้ใช้บริการทุกคนถูกกระทำความรุนแรงด้านจิตใจก่อน และด้านร่างกายจะตามมา เช่น ทุบตี ใช้ไม้ ใช้ค้อน เตะ ชก และใช้เชือกมัดกับต้นไม้ เป็นต้น
“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของไทยมาถึงจุดเปราะบาง เราไม่สามารถทำงานตั้งรับกันแบบเดิมได้อีกต่อไป เพราะเกินกว่าที่จะรับมือแบบปกติได้ อยากฝากข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ 1.สร้างความตระหนักให้สังคมเข้าใจในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว รณรงค์อย่างต่อเนื่องให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญ ปรับทัศนคติ ความคิด ความเชื่อว่าเรื่องครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทุกคนต้องเคารพในสิทธิเนื้อตัวของกันและกัน 2.ใช้กลไกชุมชนเป็นฐานลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยผู้นำชุมชนจะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้คนในชุมชนไม่นิ่งเฉย ได้รับการส่งเสริมพัฒนารู้วิธีการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับชุมชนได้ 3.ควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกระตุ้น ทั้งอาวุธปืน และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 4.การแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ต้องกลับไปตั้งหลักกันใหม่โดยมุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำเป็นหลักก่อน เพราะการมุ่งรักษาสถาบันครอบครัวในขณะที่มีการกระทำความรุนแรงนั้น อาจนำมาซึ่งความสูญเสียเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าและบานปลายได้” นางสาวอังคณา กล่าว
นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น สะท้อนการจัดการของรัฐว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่ถูกชะลอไว้ ควรจะยกเลิกไปโดยปริยาย แล้วปรับเนื้อหาพ.ร.บ.ที่กำลังจะแก้ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรง โดยเน้นการคุ้มครองเยียวยา เพื่อหยุดความรุนแรง เนื่องจากเนื้อหาพ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ดังกล่าวให้โอกาสผู้กระทำได้กลับตัว กลายเป็นผู้หญิงต้องรองรับการถูกกระทำซ้ำ จนกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย เกิดความรุนแรงฆ่าสามี เพราะรัฐไม่ยอมใช้กระบวนการทางอาญามาจัดการ เน้นคุ้มครองไกล่เกลี่ย มองเป็นปัญหาลิ้นกับฟัน
“ทางออกคือ ตำรวจต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องทำให้ผู้กระทำรู้ว่าตัวเองละเมิดสิทธิมีความผิดทางอาญา สื่อสารให้ชัดเจน ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายคุ้มครอง เมื่อผู้หญิงประสบปัญหาต้องขอความช่วยเหลือได้ ควรปรับปรุงระบบศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นส่วนงานฉุกเฉิน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสถานีอนามัยตรวจสอบให้ชัดเจน แล้วค่อยส่งต่อโรงพยาบาลระดับจังหวัด อยากฝากถึงรัฐบาลที่กำลังพิจารณาการจัดสรรงบประมาณปี63 ให้ลงลึกแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีการทำงานอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ เกิดมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน” นางอุษา กล่าว
ขณะที่ นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า จากข้อมูลบ้านพักเด็กฉุกเฉิน ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า คนใกล้ชิด คนรู้จัก หรือคนในครอบครัว มักเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงมากที่สุด สำหรับแนวทางแก้ปัญหา เรามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ปี 46 รวมถึงพยายามให้เกิดตำบลคุ้มครองเด็ก โดยการคัดกรองความเสี่ยงของเด็กในชุมชน เก็บเป็นฐานข้อมูลระดับความเสี่ยง เขียว เหลือง แดง มีทีมนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เข้าไปพูดคุยคอยให้คำปรึกษา ซึ่งเราพยายามให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด นอกจากนี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ จะเป็นเครื่องมือ เพื่อให้เกิดกลไก โดยสภาเด็กและเยาวชนจะมีส่วนร่วม เกิดเป็นจิตอาสา นำมาสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับพฤติกรรม เคารพสิทธิผู้อื่น ซื่อสัตย์ มีวินัย ซึ่งเป็นการปลูกต้นกล้าระยะยาว เพราะ พม.ทำงานเพียงลำพังไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน สำคัญที่สุดคือประชาชน ชุมชน ต้องลุกขึ้นมาเอาธุระ ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ควรระลึกอยู่เสมอว่าการนิ่งเฉยปล่อยผ่าน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวจะยิ่งซ้ำเติมเพิ่มความรุนแรงของปัญหา
- 2240 views