มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นำกลุ่มผู้ชาย บุกสภา ชวน ส.ส.ชายช่วยทำงานบ้าน ภายใต้แนวคิด “งานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล หวังช่วยลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัว สร้างความเสมอภาค ลดความรุนแรงในครอบครัว เลิกคิดว่างานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิง พร้อมยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสังคมฯ สภาผู้แทนราษฎร ให้ศึกษาเนื้อหาการเรียนการสอนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเสมอภาคระหว่างเพศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ อาคารรัฐสภานางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นำตัวแทนกลุ่มผู้ชาย นักเรียนนักศึกษา กว่า 30 คน เดินเข้ารัฐสภา เพื่อเชิญชวน ส.ส.ชาย ในสภาร่วมรณรงค์ในแคมเปญ “งานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” House work challenge เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ตามมติสหประชาชาติ พร้อมยื่นข้อเสนอต่อ นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ผ่านทาง ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ เพื่อขอให้มีผลักดันการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พร้อมทั้งศึกษาเนื้อหาการเรียนการสอนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเสมอภาคระหว่างเพศ

นางสาวอังคณา กล่าวว่า มูลนิธิฯขอเชิญชวน ส.ส.ร่วมรณรงค์กิจกรรมเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ปีนี้มูลนิธิฯใช้แนวคิดที่ว่า งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ อย่าไปมองว่างานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น ดังนั้นผู้ชายควรช่วยทำงานบ้าน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแฟนหรือภรรยาฝ่ายเดียว เพราะที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า จะช่วยลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเสมอภาค ลดความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งกลุ่มผู้ชายที่มาวันนี้เขาได้เปลี่ยนแปลงพิสูจน์ตัวเอง หยุดทำร้ายคนในครอบครัว ไม่ใช้ความรุนแรง ช่วยคนรักทำงานบ้าน หันหลังให้เหล้าและอบายมุขทุกชนิด

นางสาวอังคณา กล่าวว่า จากข้อมูลที่มูลนิธิฯลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้ชายต่องานบ้าน อายุ18-50 ปีในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 1,995 ชุด พบว่า ทัศนคติ/ความคิดเห็นต่องานบ้านของกลุ่มผู้ชายอันดับ 1 เห็นด้วยการที่ผู้ชายช่วยงานบ้านเป็นเรื่องที่ควรภาคภูมิใจ ไม่ใช้เรื่องน่าอับอาย อันดับที่ 2 ผู้หญิงที่ดีต้องเป็นแม่บ้าน แม่ศรีเรือน (งานบ้านงานเรือนอย่าให้บกพร่อง) และอันดับที่ 3 ผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงมีหน้าที่ทำงานบ้านเลี้ยงลูก

ส่วนข้อเสนอแนะต่องานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ พบว่า อันดับ 1 ครอบครัวมีส่วนช่วยในการปลูกฝังเรื่องการทำงานบ้าน และสร้างทัศนคติที่ดีเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศตั้งแต่เด็ก อันดับ 2 ถึงเวลาในการเปลี่ยนแปลงให้งานบ้านเป็นงานของทุกคนและสามารถทำได้ทุกเพศอย่างจริงจัง อันดับ 3 ควรปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ ว่าเรื่องงานบ้านเป็นของทุกคนทำได้ทุกเพศทั้งในครอบครัวและในระบบการศึกษา และลำดับสุดท้าย คือ ควรยกเลิกเนื้อหา หลักสูตรการสอน รูปภาพ รูปแบบกระบวนสอนที่ผลิตซ้ำรวมถึงทัศนคติของอาจารย์เรื่องบทบาทตามกรอบเพศและควรส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในหลักสูตรทางการศึกษา

“จากมุมมองความเชื่อของกลุ่มผู้ชายส่วนใหญ่ในสังคมไทย สะท้อนถึงรากเหง้าแห่งปัญหาจากทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ โดยการใช้อำนาจเหนือผ่านการแสดงออก พฤติกรรมความเป็นเจ้าของ มองว่าอีกฝ่ายเป็นสมบัติ ครอบครอง ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ จนถึงการทำร้ายร่างกาย” นางสาวอังคณา กล่าว

นางสาวอังคณา กล่าวว่า ในฐานะคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีอำนาจหน้าที่ศึกษา ตรวจสอบดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี มูลนิธิฯและเครือข่าย ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ขอให้ติดตามการดำเนินการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหา ได้แก่ สร้างความตระหนักให้สังคมในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เพื่อปรับทัศนคติ ความเชื่อว่าเรื่องครอบครัวไม่ใช้เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนในครอบครัวต้องเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายกันและกัน โดยเฉพาะการรณรงค์ปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ และแนวทางการใช้กลไกชุมชนเป็นฐานลดปัญหาความรุนแรง โดยกระตุ้นให้ผู้นำ คนในชุมชน ประชาชนเกิดจิตสำนึกมีส่วนร่วมวางแผน ปฏิบัติ ประเมินผลร่วมกัน

2.ขอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นอุปสรรคในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ส่งเสริมเรื่องเจนเดอร์ (Gender) หรือความเสมอภาคระหว่างเพศ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ควรเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ สร้างความเป็นพลเมืองที่เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น และยกเลิกเนื้อหาที่กดทับ ตอกย้ำความคิด ความเชื่อในการมองเพศว่าเพศชายเหนือว่าเพศอื่น ๆ เช่น ผู้ชายเป็นผู้นำ เข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงเป็นแม่บ้าน ต้องเลี้ยงลูก ดูแลบ้านเท่านั้น โดยมีการเตรียมความพร้อมครูและผู้บริหารโรงเรียน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายตนเองและผู้อื่น มีแนวทางการสอนที่ให้สอดคล้องกับช่วงวัย

3.ผลักดันให้สถานศึกษา มีช่องทางรับแจ้งเหตุการณ์คุกคามทางเพศหรือมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ในโรงเรียน โดยต้องเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย ตอบสนองต่อปัญหา รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และติดตามผลได้ หากแจ้งเหตุครูและผู้บริหารต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำอย่างเหมาะสม รับฟังปราศจากอคติ เสาะหาหลักฐาน เอาผิดอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการกระทำซ้ำ ตลอดจนผลักดันให้ทุกสถานศึกษา ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องงานบ้านตั้งแต่ระดับประถม และไม่ควรจำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง และให้มีการจัดกิจกรรมยุติความรุนแรง ต่อผู้หญิง และเด็ก ในเดือน พ.ย.ของทุก ๆ ปี