ชำแหละปมโศกนาฏกรรมแม่ฆ่าลูก 2 ขวบ สัญญาณเตือนสังคมให้ร่วมตั้งสติ หยุดตีตรา พบสถิติแม่ก่อเหตุกระทำกับลูก 14.3% จวกโครงสร้างเชิงระบบล้มเหลว ปล่อยครอบครัวผู้เปราะบางที่ต้องดูแลเด็กไร้ทางออก จี้ทำงานเชิงรุก ผลักดันกลไกช่วยเหลือระดับชุมชน
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 เวลา13.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในเวทีเสวนา “โศกนาฎกรรมแม่ลูก...บทเรียนและทางออกสังคมไทย” จัดโดย โครงการปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก
นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากกรณีแม่อายุ 21 ปี ก่อเหตุผลักลูกชายวัย 2 ขวบจมน้ำเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ตามที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น ขอยืนยันไม่ใช่ข่าวฆาตกรรม แต่เป็นสัญญาณเตือน เป็นภัยสังคมซ้ำซาก ว่า ความคาดหวังต่อเพศหญิง ต่อแม่ ต่อใครก็ตามที่ต้องแบกรับภาระตามลำพัง มันคือแรงกดดัน คือภาวะที่เกินแบกรับไหว และการไม่คาดหวังต่อเพศชาย ต่อผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ จึงเป็นแรงส่งทำให้เกิดเหตุขึ้น อีกปัจจัยที่ลืมไม่ได้คือ เงื่อนไขในการเติบโต การถูกหล่อหลอม การเรียนรู้ที่ต่างกัน และความเข้มแข็งของคนเราไม่ใช่เครื่องมือในการตัดสินผู้อื่น
“คำถามคือ สังคมเรียนรู้อะไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งราชการ เอ็นจีโอ สถาบันการศึกษาสายสังคม ฯลฯ ทำอะไรกันอยู่ในนาทีนี้ มันส่งสัญญาณเตือนภัยแรงเข้มขนาดนี้ แต่กลับไร้แนวทางรองรับผู้เปราะบาง การทำงานไม่ตอบโจทย์ หรือจะเงียบต่อไป จนเสียงด่าทอจางหายและรอการผลิตซ้ำอีกครั้ง” นางทิชา กล่าว
นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ นักพัฒนาสังคมอิสระ กล่าวว่า เวลาเกิดเหตุสะเทือนใจลักษณะนี้ สิ่งแรกที่เข้ามาในความคิดคนเรา คือ ต้องหาคนทำผิด เพื่อมารับโทษ และรับผิดชอบต่อความรู้สึกสะเทือนใจ โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงอายุ 21 ปี ที่ก่อเหตุ จากนั้นจะรุมประนามพฤติกรรมที่โหดร้ายเกินคนปกติทั่วไป ซึ่งการมองปัญหาระดับปัจเจกบุคคลแบบนี้ อาจทำให้เราสบายใจขึ้น แต่จะไม่ถูกนำไปจัดการแก้ไขเชิงระบบ เนื่องจากเตุการณ์มันมีความซับซ้อน มีปัญหาเชิงโครงสร้าง เงื่อนไขของตายาย และแม่เด็ก ที่ต้องออกไปทำมาหากินไม่มีคนดูแลเด็ก อีกทั้งเกิดความกดดันจากการถูกตัดสินของสังคมรอบข้าง ต่อการเป็นแม่วัยรุ่นและเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว
“เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนสังคมไทยว่า ขาดระบบการดูแลช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น สถานฝากเลี้ยงและดูแลเด็ก รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสนับสนุนเกื้อกูลครอบครัวพ่อแม่วัยรุ่น เพราะก่อนเกิดเหตุรุนแรง เชื่อว่าต้องมีสัญญาณอันตรายมาก่อน แต่คนรอบข้างคงเฝ้ามองและคิดตัดสินว่าผู้หญิงเป็นคนไม่ดี ไม่ดูลูก แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ คำถามสำคัญ คือ ทำไมเราปล่อยให้ครอบครัวที่ต้องดูแลเด็กไร้ทางเลือก เพราะมีฐานคิดเพียงแค่ว่า ลูกหลานใครก็เลี้ยงก็ดูแลกันเอง ซึ่งมันเกิดขึ้นกับพ่อแม่วัยรุ่นหลายครอบครัว ประกอบกับสังคมไทยไม่จริงจังกับการสร้างระบบ เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนรอบข้าง มีทักษะที่ดี ช่วยดูแลสนับสนุนครอบครัวที่ประสบปัญหาอย่างจริงจัง” นางสาวจิตติมา กล่าว
นางสาวอังคณา อินทสา ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ในรอบ 3 ได้แก่ ปี 2555 ปี 2557 และปี 2559 พบ เกือบ 600 ข่าว เป็นข่าวที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัว กรณีข่าวการฆ่ากันของคนในครอบครัว และร้อยละ 85.7 เป็นข่าวสามีกระทำต่อภรรยา มีเพียงร้อยละ14.3 เท่านั้น ที่เกิดจากแม่กระทำต่อลูก เช่น แม่แขวนคอลูก ให้กินยาล้างห้องน้ำ ใช้ปืนยิง ฆ่าฝังศพ หากวิเคราะห์สาเหตุเกิดจากภาวะที่ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างยาวนาน จึงพัฒนาไปสู่ภาวะทางจิต เกิดความเครียด ซึมเศร้า รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ หนี้สิน ภาระที่ต้องแบกรับ ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ที่สามีทำร้ายภรรยา สังคมมักตั้งคำถามน้อยมาก
“จะเห็นว่าหน้าที่ผู้หญิงต้องแบกรับมีมาก ต้องเสียสละอดทน รับผิดชอบครอบครัว แต่พอผู้หญิงผิดพลาดแบบนี้ จึงถูกสังคมตัดสินตำหนิตีตรา ดังนั้นทางออกของปัญหา คือ ครอบครัวต้องรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตีตรา ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นปัญหา อีกทั้งสังคมที่มีลูกเล็กต้องเลี้ยงลูกแบบใหม่ ผู้ชายต้องไม่อยู่เหนือกว่า ต้องเข้าใจความละเอียดอ่อนของผู้หญิง ส่วนกลไกรัฐต้องเข้าถึงกลุ่มผู้หญิง ทำงานเชิงรุก ประชาสัมพันธ์สื่อสารให้มากขึ้น และควรผลักดันให้เกิดช่องทางช่วยเหลือ เช่น ศูนย์ให้คำปรึกษาในชุมชน และสังคม ชุมชน คนรอบข้าง ต้องไม่มองปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนตัวนิ่งเฉยดูดาย” นางสาวอังคณา กล่าว
ด้านนางเอ นามสมมติ แม่เลี้ยงเดี่ยว อายุ 48 ปี กล่าวว่า ตนเองก็เป็นอีกคนที่ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูลูกโดยลำพัง จนเกือบเลือกทางผิดเช่นกัน จริงๆ เรื่องที่เกิดขึ้น อยากให้มองว่าผู้หญิงมีภาวะความเครียด และส่งผลให้ตัดสินใจแก้ปัญหาโดยไม่ได้คิดแบบรอบคอบ และอยากให้สังคมเข้าใจผู้หญิงที่เป็นแม่หรือเมีย ไม่อยากให้มองปัญหาเพียงด้านเดียว แต่ควรรับฟังเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยสติ เพื่อนำมาสู่แนวทางแก้ปัญหาที่ยังยืน และควรมีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ เพราะเท่าที่มีอยู่เข้าถึงยากมาก ผู้ที่ประสบปัญหาน้อยคนที่จะรับรู้และเข้าถึงการช่วยเหลือ
"ส่วนใหญ่ผู้หญิงเลือกที่จะหาทางออกด้วยการทำร้ายตัวเอง ก็ไม่ต่างจากตน ที่เคยมีปัญหาในครอบครัวอย่างรุนแรง ถูกอดีตสามีทำร้ายทุบตีมาตลอด สภาพจิตใจย่ำแย่ หวาดระแวง มีภาวะความเครียด แต่ตัวเองยังตั้งหลักได้ไม่เคยคิดทำร้ายลูกทั้ง 2 คน แต่กลับมองว่า ต้องให้ความรักกับเขามากๆ ดูแลเท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้ และแลกเปลี่ยนพูดคุยกับลูกตลอด เพื่อให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้เราจะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ตาม" นางสาวเอ กล่าว
- 66 views