องค์กรผู้หญิงชูเดือนยุติความรุนแรงต่อสตรี พบเหยื่อเกือบครึ่ง 40%เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เหตุต้นทางถูกปิดตาย เลือกปฏิบัติ อัด สตช.ไร้การเหลียวแล เสนอรัฐบาลปฏิรูประบบกลไก ให้ผู้เสียหายเข้าถึงสิทธิ แนะสังคมเปลี่ยนทัศนคติ ร่วมปกป้องคุ้มครองผู้ถูกละเมิดทางเพศ
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.60 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเวทีเสวนาเนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรี ในหัวข้อ “ปัญหา ความต้องการและข้อเสนอแนะของผู้หญิงต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม”
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรรมการสิทธิฯได้ตรวจสอบปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง พบว่า ในชั้นพนักงานสอบสวนมีปัญหา ความล่าช้า ทัศนคติที่มองความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ พิการ ทางสายตา ทางการได้ยิน กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัย คนกลุ่มนี้เมื่อถูกข่มขืน หากไปแจ้งความที่โรงพัก จะไม่มีล่ามภาษามือ ไม่มีคนช่วยสื่อสาร อีกทั้งยังพบปัญหาผู้เสียหาย ต้องนำใบตรวจร่างกายไปตรวจร่องรอยการข่มขืนที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง คือ ต้องไปแจ้งโรงพยาบาลว่า ฉันถูกข่มขืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเป็นอย่างมาก แม้ตำรวจไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ แต่ควรติดต่อทีมสหวิชาชีพ หน่วยงานที่ทำงานด้านผู้หญิงให้เข้าไปช่วยตรงนี้ และยิ่งเป็นผู้หญิงมุสลิมที่ภาคใต้ ตำรวจแทบไม่ต้องทำคดีล่วงละเมิดทางเพศเลย เพราะมองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาวัฒนธรรมประเพณี มักจะส่งไปให้ผู้นำองค์กรศาสนาตัดสิน บางรายถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่ข่มขืนตัวเอง
“ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติร่วมปกป้องคุ้มครองผู้หญิง ให้ได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข้อเสนอแนะของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ที่ให้ไว้กับไทยล่าสุด มีประโยชน์ ครอบคลุมผู้หญิงทุกกลุ่ม รัฐบาล สตช.สนช. พม.ควรนำมาพิจารณาปรับใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ ปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับผู้ได้รับความเสียหาย เยียวยาให้ได้รับความยุติธรรม สร้างหลักประกันว่าผู้เสียหายจะไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอีก เพราะหากเรามีกฎหมายที่ก้าวหน้า แต่ถูกซ่อนไว้ไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สังคมก็จะเกิดการเลือกปฏิบัติไม่มีวันจบสิ้น” นางอังคณา กล่าว
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ช่วงที่มีการผลักดันให้มีตำรวจนายร้อยผู้หญิง เราหวังมาตลอดว่าพนักงานสอบสวนหญิงจะเป็นกลไก เป็นนวัตกรรมของกระบวนการยุติธรรม แต่เรากลับผิดหวัง เพราะจนถึงปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ ไม่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง ขาดความละเอียดอ่อน ขาดความเข้าใจปัญหา
“ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศ เหยื่อความรุนแรง เขามีความเจ็บปวด เกิดความต้อยต่ำ หากกระบวนการต้นน้ำ มีทัศนคติมองไม่ออกว่ามันเป็นเรื่องที่อ่อนไหวอ่อนโยน หรือมองไม่เห็นปัญหา การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เกิดขึ้น เช่น ล่าสุดคดีที่จ.พังงา พนักงานสอบสวนนำบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในห้องสอบสวนด้วย จากนั้นถ่ายภาพลงโซเชียล ซึ่งไม่เหมาะสมและเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เสียหายอย่างร้ายแรง มันสะท้อนระบบการจัดการของตำรวจที่ยังไปไม่ถึงไหน และเนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อสตรีนี้ อยากฝากการบ้านถึงรัฐบาล สตช. ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ขับเคลื่อนยกระดับกลไกอย่างเป็นรูปธรรม เกิดนโยบายที่สำคัญนำไปบังคับใช้ได้จริง” นางทิชา กล่าว
นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า เดือนนี้เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ทางมูลนิธิฯ จึงร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดทำรายงานเพื่อรวบรวมปัญหาความต้องการของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต้นทาง โดยทำการศึกษาจากผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ บ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง และผู้ที่มาขอรับบริการจากมูลนิธิฯ พบว่า กว่า 60% เป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีเอาผิด
แต่ที่น่าห่วงคือ เกือบครึ่งหรือ 40% ไม่พบว่ามีการดำเนินคดี เพราะต้นทางคือ ตำรวจ ให้ไกล่เกลี่ยยอมความ พบหลายรายถูกข่มขู่คุกคามจากคู่กรณี เช่น กรณีถูกข่มขืน การโทรมหญิง ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ที่น่าเศร้าใจ เด็ก3ขวบถูกล่วงละเมิดจากคนข้างบ้าน เมื่อพ่อแม่ไปขอตรวจร่างกาย โรงพยาบาล2แห่งกลับปฏิเสธ ไล่ให้เอาใบแจ้งความมาก่อน ซึ่งเป็นอุปสรรคเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เวลาไปแจ้งความ พนักงานสอบสวนมักพูดจาไม่เป็นมิตร ไม่มีความละเอียดอ่อน
“ปัญหาคือ เมื่อกระบวนการต้นทางถูกปิดตาย ผู้เสียหายจึงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งการไกล่เกลี่ยยอมความ ผู้ทำผิดไม่ต้องถูกดำเนินคดี ทำผิดแล้วกฎหมายไม่ลงโทษ จะย่ามใจทำซ้ำ ยิ่งคนมีชื่อเสียง มีสถานะทางสังคม ก็วิ่งเต้นมีคนมาช่วยเหลือให้พ้นผิดได้ง่าย ขณะเดียวกันผู้เสียหายเขาอยากเห็นหน่วยบริการที่เป็นมิตรเป็นธรรม มีห้องสอบสวนเฉพาะ มีพนักงานสอบสวนหญิงที่มีศักยภาพ อำนวยความสะดวกให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จึงถึงเวลาที่ต้องมีการปฏิรูปมาตรการกลไกเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น และลดข้อจำกัดที่ทำให้ผู้เสียหายเข้าไม่ถึง นางสาวสุเพ็ญศรี กล่าวและว่า ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯยินดีช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิไม่ว่าคดีความรุนแรงทางเพศ หรือความรุนแรงในครอบครัว ให้ได้รับความยุติธรรม หรือโทร 1300 ขอความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม(OSCC) ได้ตลอดเวลา”
- 144 views