“มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” เปิดข้อมูล 5 ปี ช่วยผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง 1,136 กรณี พร้อมตีแผ่ชีวิตหัวอกคนเป็นแม่และเมีย แบกรับภาระจากผลกระทบน้ำเมาทำครอบครัวพัง ทั้งสูญเสียสามี แถมต้องดูแลลูกตามลำพัง และสามีผู้ป่วยติดเตียงเพราะฤทธิ์สุรา
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560) ในเวทีเสวนา “ความจริงของผู้หญิงกับสุรา...ผลกระทบที่ต้องแบกรับ” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในงานมีตัวแทนจากลูกได้นำพวงมาลัยมามอบให้คุณแม่ เพื่อแสดงความรักเนื่องในโอกาสวันแม่
นางสาวอังคณา อินทสา ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถิติการให้บริการผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ 5 ปี ย้อนหลังระหว่างปี 55-59 พบว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ กว่า 1,136 กรณี และลักษณะความรุนแรงที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นมีสูงถึง 333 กรณี หรือคิดเป็น 29.3%
นอกจากนี้ ยังพบปรากฏการณ์การดื่มของผู้หญิงในชุมชนเพิ่มมากขึ้น หากวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้หญิงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสังคมชายเป็นใหญ่
1.มาจากความเครียด ไม่มีพื้นที่ระบายทุกข์ จนต้องหันไปหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงถูกกระตุ้นจากการตลาดของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่งเสริมการขายในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานและวัยรุ่น ด้วยการลดแลกแจกแถม จัดแคมเปญจูงใจ
2.ในครอบครัวที่ผู้ชายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักพบว่า ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแสดงอำนาจ ทั้งในเรื่องของความรุนแรง และผู้ชายกลุ่มที่ดื่มบางส่วนไปก่อเหตุคุกคามทางเพศ ขมขืน หรือทำร้ายผู้อื่น
3.ผลกระทบทางสังคม เมื่อสามีกลายเป็นเหยื่อคนเมาแล้วขับ บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต หรือสามีต้องมีปัญหาสุขภาพ จะส่งผลให้ผู้หญิงต้องเป็นเสาหลักดูแลครอบครัว หรือดูแลสามีที่ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และดูแลลูกที่ประสบปัญหาต่างๆ ซึ่งต้องทำหน้าที่ทั้งสองสถานะคือเป็นทั้งเมียและแม่
นางสาวอังคณา กล่าวว่า สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่มูลนิธิฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ
1.ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศจากผลกระทบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรง ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูในชุมชนด้วยรูปแบบสมัครใจผ่านการมีส่วนร่วม และรณรงค์เลิกเหล้าเข้าพรรษาให้ต่อเนื่องไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
3.พัฒนากลไก กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งกำหนดเรื่องการเยียวยาฟื้นฟูไว้ชัดเจน และกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลหรือสถาบันธัญรักษ์ เครือข่ายชุมชน และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
4.ต้องมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการหรือคณะทำงานให้มากขึ้น เพื่อกำหนดแนวทาง ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาเฉพาะหน้า และต้องส่งเสริม สนับสนุนเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาชนในการทำงาน
ศ.พญ.สาวิตรี อัษฎางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า สถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้หญิง พบว่า 1 ใน 50 คน ดื่มเป็นประจำทุกสัปดาห์ สาเหตุการดื่มเพราะเข้าถึงง่าย อยากเข้าสังคมและสังสรรค์ มีการโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังพบว่า วัยรุ่นหญิงชั้นมัธยมมีการดื่มมากถึง 75% ดื่มหนักมากกว่า 5 แก้วต่อครั้ง ในขณะที่อัตราการดื่มของวัยรุ่นชายยังคงที่ สำหรับปัญหาจากสุราทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตนเองและคนอื่น เช่น อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ และการดื่มของผู้หญิงจะมีผลกระทบมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการดูดซึมทำได้ช้ากว่า มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า ส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ มีปัญหาต่อระบบเจริญพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มะเร็งเต้านม ยิ่งดื่มมากยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งมากขึ้น ส่วนในผู้หญิงที่ดื่มระหว่างตั้งครรภ์จะไม่มีช่วงเวลาที่ปลอดภัย และระหว่างให้นมลูก เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้เด็กพัฒนาการช้า หน้าตาผิดปกติ สติปัญญาบกพร่อง ไอคิวต่ำ สมาธิสั้น
นางกานต์รวี ซุ่นสั้น ภรรยาผู้สูญเสียสามีจากคนเมาแล้วขับ กล่าวว่า การจากไปของสามีถือเป็นการสูญเสียที่กระทบต่อสภาพจิตใจมากเหมือนครึ่งหนึ่งของชีวิตหายไป แม้ที่ผ่านมาจะพยายามบอกตัวเองและลูกว่าการตายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเผชิญ แต่เมื่อเจอเหตุการณ์นี้เหมือนชีวิตสะดุดแล้วล้มอย่างแรง แต่ต้องรีบลุกเพราะมีลูก 2 คนที่ต้องดูแลแม้เขาจะโตและเข้มแข็ง แต่ด้วยความเป็นแม่ก็อดห่วงไม่ได้ ทุกครั้งที่ร้องไห้จะไม่ให้ลูกเห็นไม่อยากอ่อนแอต่อหน้าลูก เนื่องจากที่บ้านจะเลี้ยงลูกแบบให้ช่วยเหลือตัวเอง และเตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์ ยิ่งมีพ่อเป็นตำรวจเราไม่รู้หรอกกว่าจะเกิดอะไรขึ้นตอนไหน ส่วนภาระค่าใช้จ่ายยอมรับว่าลำบากไม่แพ้กันเพราะต้องหาเงินคนเดียว ที่บ้านทำสวนปาล์มและค้าขายรายได้ก็ไม่พอประทัง ลูก 2 คนต้องเรียนหนังสือ ขณะนี้ต้องนำทรัพย์สินบางส่วนไปขายเพื่อจ่ายค่าเทอมให้ลูกไปก่อน ซึ่งทางตำรวจต้นสังกัดที่สามีทำงานแจ้งว่าต้องรอการตรวจสอบจากกรมบัญชีกลางก่อนจึงจะมีความชัดเจน เราเองก็ร้อนใจเพราะหน้าที่ความรับผิดชอบของคนเป็นแม่ไม่ว่าจะมีหรือไม่ต้องหาให้ลูกเรียนจนได้
“โชคดีที่ลูกๆ เป็นเด็กดีตั้งใจเรียน ทำให้คนเป็นแม่มีกำลังใจสู้ต่อ แม้ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกับสังคมรอบตัว ซึ่งพยายามทำจิตใจให้เข้มแข็ง ใช้หลักธรรมะเข้าช่วย ซึ่งการสูญเสียครั้งนี้ไม่อยากให้สูญเปล่า แต่อยากฝากเป็นบทเรียนให้กับคนเมาแล้วขับว่า อย่าคิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ไม่ถึงคราวซวย เพราะคิดกันแบบนี้จึงประมาท ความสูญเสียจึงเกิดขึ้นทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เจ็บ ตาย พิการ ชีวิตของผู้ที่เป็นเหยื่อ ครอบครัวเขาต้องล่มสลาย ถ้าคิดจะดื่มก็ไม่ควรขับรถ แต่ทางที่ดีไม่ดื่มจะดีที่สุด” นางกานต์รวี กล่าว
ด้าน นางปลา (นามสมมุติ) อายุ 35 ปี ภรรยาที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลสามีป่วยติดเตียง กล่าวว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สามีเกิดอุบัติเหตุเพราะเมาแล้วเกิดอุบัติเหตุ จนต้องกลายเป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พูดไม่ได้ ต้องนอนติดเตียง ทำให้ภาระทั้งหมดตกอยู่ที่ตนเองคนเดียว ส่วนเงินเก็บที่มีอยู่หมดไปกับค่ารักษาพยาบาล ลำพังเงินเดือนจากการซักรีด ทำความสะอาด 3-4 พันบาท แทบไม่พอใช้ ทุกคนในบ้านต้องใช้ชีวิตลำบากมาก เพราะจากที่สามีทำงานนอกบ้าน มีรายได้ 2 ทาง ตอนนี้ไม่มีรายได้ แถมลูกต้องเรียนหนังสือ
“แม้สามีเป็นแบบนี้ก็ไม่เคยคิดจะทอดทิ้ง สัญญากับลูกและสามีว่าจะดูแลกันไปแบบนี้ สิ่งที่ทำให้มีกำลังใจคือลูก และเราก็พยายามคิดบวก พยายามให้กำลังใจตัวเอง รวมถึงสามีเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปด้วยกัน คิดในเชิงบวก และอยากฝากถึงสังคมให้นำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียน เพื่อให้เห็นผลกระทบ หันมาลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเมื่อมีคนหนึ่งในครอบครัวที่ดื่มไม่ว่าจะเป็นสามีหรือลูกก็ตาม ภาระสารพัดก็จะตกอยู่กับผู้หญิงที่ต้องแบกรับเพียงลำพัง” นางปลา (นามสมมุติ) กล่าว
- 813 views