จากประเด็นร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในวงการสาธารณสุขที่ศาลตัดสินให้รัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ป่วยและญาติ ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ มีข้อเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ สธ. แพทยสภา หมอ สปสช. กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และประชาชน ว่าจากสถานการณ์นี้จะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพื่อช่วยจัดการดูแลและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ในระบบอย่างครบวงจร เพราะหากไม่ช่วยกันอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้...วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะหนักหนาเกินกว่าที่เยียวยาได้
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
“กระทรวงสาธารณสุขครับ... โปรดช่วยจัดการค่าเสียหาย อย่าไล่เบี้ยคุณหมอ อย่างน้อยเพื่อแสดงออกซึ่งการห่วงใยและปกป้องคนทำงานของเรา ที่ทำงานอย่างบริสุทธิ์ใจ
แพทยสภาครับ... โปรดสร้างกลไกที่มีผู้เชี่ยวชาญในการจัดการคดีฟ้องร้องอย่างครบวงจร เพราะตอนนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ
คุณหมอครับ... เต็มที่กับการดูแลรักษาตามทรัพยากรที่มีจริง เต็มที่กับการสื่อสาร หากไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจ กรุณาส่งต่อหรือปรึกษาตามขั้นตอนเลย ไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณงานและคิวการรอ เพราะแรงกระเพื่อมจากกรณีวัณโรคกำลังจะมาถึงอย่างรุนแรง จากการเลียนแบบคดี ในขณะที่ระบบสนับสนุนเพื่อปกป้องคนทำงานยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สปสช. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคมครับ... ช่วยกำหนดเกณฑ์การสนับสนุนและเบิกจ่ายสำหรับการตรวจรักษาให้ชัดเจน เบิกจ่ายให้ทันท่วงที และหากเป็นไปได้อยากให้ช่วยพิจารณาร่วมกันจัดตั้งกองทุนสำหรับจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพื่อช่วยจัดการดูแลและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ในระบบอย่างครบวงจร
ท่านตุลาการและระบบอำนวยความยุติธรรมครับ... จำเป็นต้องพิจารณายอมรับแล้วครับว่า การดูแลรักษาชีวิตนั้นไม่ควรได้รับการจัดอยู่ในประเภทสินค้าหรือบริการ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานมากกว่าสินค้าหรือบริการจากโรงงานการผลิต ถึงเวลาต้องจัดตั้งกลไกพิจารณาเฉพาะทางการแพทย์แล้วครับ
ผู้บริหารโรงพยาบาลภาครัฐทุกท่านครับ... จำเป็นมากเลยครับที่ท่านจะแสดงบทบาทช่วยบุคลากรที่รักของเรา คนดีมีมากกว่าคนบกพร่อง ต้องรีบปรับระบบให้เป็นบ้านที่คนอยู่อย่างมีความสุข และปลอดภัย ทำอย่างไร นี่คือคำตอบเบื้องต้นครับ
1. ยอมรับสัจธรรมว่า ทรัพยากรจำกัดทั้งคน เงิน ของ ดังนั้นหันมาช่วยกันกำหนดว่าเราจะดูแลประชาชนได้แค่ไหน จึงจะมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และคนทำงานมีความสุขและคุณภาพชีวิต
2. เลิกหลอกหลอนตัวเองว่าจะช่วยคนได้ทั้งโลกอย่างไม่มีการจำกัด เพราะเป็นไปไม่ได้จริง หากฝืนทำเกินกำลังของระบบที่จะรับไหว คุณภาพก็จะแย่ลง ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ ปัญหาฟ้องร้องก็จะตามมาเป็นทวีคูณ
3. ขอเถอะ...เลิกลุ่มหลงกับการเอานักรีดผลผลิต และพวกที่เอาคณิตศาสตร์มาจัดระบบการทำงานเพื่อหวังเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะตัวเลขที่เก็บมาในช่วงเวลาใดก็ตาม ไม่ได้สะท้อนระบบสุขภาพเลย..."ตัวเลขนั้นไม่มีชีวิตนะครับ แต่คนในระบบของเราสิมีชีวิตจริง"
4. เตียงเต็มจนล้น...คิวยาวเป็นปี...สองเรื่องนี้คือสัจธรรม เพราะทรัพยากรที่มีนั้นน้อยเกินกว่าที่จะดูแลอุปสงค์ทั้งหมดที่มีมากเกินกว่าจะคาดประมาณได้ ดังนั้นต้องยอมให้เป็นเช่นนั้นไปโดยไม่ฝืนธรรมชาติ จากนั้นเราจะเห็นการปรับตัวของประชาชน เพื่อเรียกร้อง แสวงหา และยอมรับในสิ่งที่มีตามอัตภาพ และเข้าสู่"ภาวะพอเพียง"ได้จริง
ตอนนี้กระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม และลุ่มหลงแต่กิเลสส่วนตนนั้น มันแรงเกินกว่าจะหยุดยั้ง เราจึงเห็นกระแสเรียกร้องสิทธิ โดยไม่คำนึงถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงมี และไม่สามารถรณรงค์ให้เกิดความพอเพียงได้ในสังคม
ประชาชนทุกท่านที่ดีและเห็นอกเห็นใจหมอและบุคลากรทางการแพทย์ครับ... พวกท่านเป็นพลังที่สำคัญที่สุดครับ ต้องเลิกเงียบ และหันมาช่วยกันครับ เริ่มที่ตัวท่านและครอบครัว หากเชื่อผม ได้โปรดมองซ้ายมองขวา และเริ่มทำดังนี้
1. หาคุณหมอที่ท่านคุ้นเคยใกล้ชิด หรือไว้ใจ และทาบทามเป็นหมอประจำตัวและประจำครอบครัวของท่าน ดีทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นหมอทั่วไปหรือเฉพาะทางด้านใดก็ตาม
2. ทุกครั้งที่สงสัยเรื่องสุขภาพ หรือเจ็บป่วยไม่สบาย ให้ปรึกษาหรือเริ่มกระบวนการดูแลรักษากับคุณหมอที่ท่านทาบทามก่อนที่จะไปยังคุณหมอท่านอื่น กระบวนการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบหมอประจำตัวและช่วยจัดระเบียบระบบดูแลรักษาระยะยาว แถมจะช่วยพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจกับการสื่อสารในสังคมด้วยครับ เครือข่ายเล็กๆ อย่างตัวท่านหรือครอบครัวท่านจะสร้างผลกระทบเชิงบวกมหาศาล อาจใช้เวลาหน่อยแต่จะค่อยๆ ขยายตัวขึ้นอย่างแน่นอน
เหล่านี้คือข้อเสนอจากผมถึงทุกท่านครับ รู้ทั้งรู้ว่าหลายข้ออาจทำให้ไม่ถูกใจท่าน แต่หากเปิดใจ ดูสถานการณ์จริงตอนนี้ และคุยกับคนทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน จะเห็นชัดเจนว่าที่กล่าวมาคือความจริง หากไม่ช่วยกันอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้...วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะหนักหนาเกินกว่าที่เยียวยาได้จริงๆ ครับ
ด้วยความจริงใจต่อทุกคน ธีระ”
หมายเหตุ : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 3 views