ความเห็นจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ต่อประเด็นร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในวงการสาธารณสุขที่ศาลตัดสินให้รัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ป่วยและญาติ ที่ นพ.ธีระระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เล่นๆ ประชาชนจำเป็นต้องทราบว่า การบั่นทอนจิตใจคนในระบบผ่านวิวาทะดังที่เห็นอยู่นี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนคนที่เต็มใจมาช่วยดูแลประชาชน กระบวนการดูแลรักษาที่จะมากเกินจำเป็นเพื่อหวังจะลดโอกาสฟ้องร้องจนนำมาสู่การที่ประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มากขึ้นอย่างคาดไม่ถึง รวมไปถึงระยะเวลารอคอยคิวตรวจวินิจฉัย และการรักษาพยาบาล ฯลฯ
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
มีฝรั่งเขียนวิจารณ์ระบบการดูแลรักษาสุขภาพของเมืองไทยเมื่อสักห้าหรือหกปีก่อน ใจความสำคัญระบุถึงความประหลาดใจว่าเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ๆ ที่มีหมอเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากมาย หาหมอทั่วไปที่จะดูแลอาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยๆ ในประชาชนได้ยากเย็นเหลือเกิน
นอกจากนี้เจ็บป่วยไม่ว่าจะเล็กน้อยอย่างไร พอไปหาหมอที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะภาคเอกชน ก็มักเจอแต่หมอเฉพาะทางที่โดยแท้จริงแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องไปหา จนสุดท้ายแล้วก็จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงตามมา และทำให้จบบทความด้วยวลีที่ว่า "Money is Important" หรือ "เงินนั้นสำคัญต่อชีวิตของคุณมาก หากอยากอยู่รอดจากการรักษาพยาบาลในกรุงเทพ" (1)
ตลกไหมล่ะครับ...เมื่อเปรียบเทียบมาตรวัดของชาวต่างชาติที่มองเมืองไทย กับมาตรวัดของชาวไทยจำนวนหนึ่ง(?) ที่กำลังเรียกร้องให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาทั้งหลายต้องไปอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหมอเฉพาะทางเป็นส่วนๆ เพื่อไม่ให้เกิดโอกาสผิดพลาดใดๆ
กระแสกระหน่ำหักหาญจิตใจแพทย์ภาครัฐในวันสองวันที่ผ่านมาจากกรณีที่รัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ป่วยและญาติ โดยยกเอาเหตุผลที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติของการแพทย์มาเป็นตัวนำ ยิ่งทำให้บั่นทอนความศรัทธาของแพทย์จำนวนไม่น้อยในภาครัฐต่อผู้ป่วย...ไม่ใช่เรื่องศรัทธาของผู้ป่วยต่อแพทย์
Ozawa S และคณะ (2) เพิ่งตีพิมพ์ผลงานวิจัยในกัมพูชาเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว โดยมีใจความสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนในกัมพูชานั้นไปรับการดูแลรักษาพยาบาลจากหมอจากทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยเหตุผลหลักที่ต่างกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อหมอภาครัฐเกิดจากเหตุผลที่ว่าภาครัฐนั้นตรงไปตรงมาและจริงใจในการดูแลรักษาพยาบาล รวมถึงมั่นใจในการที่มีทักษะดูแลรักษาต่างๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐาน
ประเด็นของความตรงไปตรงมา และจริงใจนั้นคือเรื่องหลักที่หลายๆ ประเทศน่าจะเป็นไปในแนวเดียวกัน ด้วยเหตุผลหลักคือ ภาครัฐนั้นงานเยอะ เงินน้อย ทำงานหนักเกินตัว แต่หมอและบุคลากรต่างๆ ที่ทำงานในภาครัฐนั้นยังยืนหยัดที่จะทำด้วยจิตกุศล ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย ด้วยความศรัทธาต่อประชาชน และความเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากไม่สามารถมีเงินทองที่จะไปรับบริการในเอกชนได้ และต้องการที่พึ่งยามเจ็บไข้ โดยเรื่องที่กล่าวมาก็ได้รับการตอกย้ำอีกหลายงานวิจัย ยกตัวอย่างเช่นของ Ashmore J (3) ที่ทำการศึกษาในประเทศแอฟริกาใต้ ที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีสถานการณ์การดึงดูดหมอจากภาครัฐไปเอกชนด้วยค่าตอบแทนที่สูงลิ่วเช่นกัน
หัวใจของระบบสุขภาพภาครัฐคือ คนที่ทำงานด้วยจิตใจกุศลเป็นพื้นฐาน คนดีมีมากกว่าคนไม่ดี นี่คือสัจธรรมที่ประชาชนควรคำนึงถึงก่อนจะตัดสินใจใช้อารมณ์ไปตัดสินเรื่องที่อ่อนไหว
สังคมปัจจุบัน นักเลงคีย์บอร์ดมีเยอะ ปากเก่ง วาจาเชือดเฉือน แต่เอาเข้าจริงก็มักจะไม่กล้าเหมือนที่ทำหน้าจอ ดังจะเห็นได้จากเรื่องอื่นๆ ในสื่อออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ
แต่พอมาถึงเรื่องของระบบสุขภาพภาครัฐ เรื่องนี้ไม่ใช่เล่นๆ ประชาชนจำเป็นต้องทราบว่า การบั่นทอนจิตใจคนในระบบผ่านวิวาทะดังที่เห็นอยู่นี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนคนที่เต็มใจมาช่วยดูแลประชาชน กระบวนการดูแลรักษาที่จะมากเกินจำเป็นเพื่อหวังจะลดโอกาสฟ้องร้องจนนำมาสู่การที่ประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มากขึ้นอย่างคาดไม่ถึง รวมไปถึงระยะเวลาในการรอคอยคิวการตรวจวินิจฉัย และการรักษาพยาบาล ฯลฯ
หยุดวิวาทะทำร้ายจิตใจหมอและบุคลากรภาครัฐเถิดครับ ไม่มีใครอยากทำร้ายคนให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่การดูแลรักษาพยาบาลโรคใดๆ ไม่สามารถทำให้ถูกต้องได้ 100% และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดได้
ประชาชนควรให้กำลังใจ ทั้งต่อผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ และต่อหมอหรือบุคลากรที่ดูแลรักษา
หมอและบุคลากรก็ควรที่จะสื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์ให้ดี บันทึกข้อมูลที่จำเป็นให้ครบถ้วน และทำการดูแลรักษาให้เต็มที่ตามทรัพยากรที่มีในแต่ละสถานะ
หากประชาชนในสังคมไทยยังไม่เลิกทำร้ายจิตใจ...เมื่อถึงคราวไม่มีใครดูแลรักษาอย่างเพียงพอ เมื่อนั้นถึงสำนึกก็คงยากที่จะฟื้นคืนให้กลับมา
ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
1. Jose Marc Castro. Health Care in Thailand. http://www.expatforum.com/articles/health/health-care-in-thailand.html
2. Ozawa S et al. Comparison of trust in public vs private health care providers in rural Cambodia. Health Policy Plan. (2011) 26 (suppl 1): i20-i29.
3. Ashmore J. ‘Going private’: a qualitative comparison of medical specialists’ job satisfaction in the public and private sectors of South Africa. Human Resources for Health. (2013) 11:1.
- 18 views