ข้อเขียนจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ที่ตั้งคำถามถึงนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศชัดเจนล่าสุดว่า (ดู ที่นี่) จะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ เป็นการตั้งคำถามท่ามกลางสภาพระบบสาธารณสุขของไทยที่ยังประสบปัญหา รพ.รัฐคิวแน่น บุคลากรให้บริการในระบบรัฐที่ไม่เพียงพอ แต่ยังหาญกล้าที่จะประกาศให้ไทยเป็น Medical Hub ขณะที่การแก้ปัญหาระบบบริการสาธารณสุขของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน และเรียกได้ว่ายังมองไม่เห็นว่าจะทำได้สำเร็จในเร็ววัน ดังนั้นการนำทรัพยากรที่ยังมีไม่พอไปรองรับเพื่อต้องการหารายได้เข้าประเทศน่าจะเป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย

ก่อนเดินหน้า Medical Hub ปรับระบบสุขภาพรัฐ คน เงิน ของ ให้เพียงพอก่อนดีกว่า

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

จากสถิติปี ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วใน OECD

ปรากฏการณ์ "ไม่มีเงิน...รักษาไม่ได้"

 1 ใน 3 ของคนอเมริกันจะเคยประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จนทำให้ไม่สามารถรับการดูแลรักษาได้ ในขณะที่ประชากรของนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์จะเจอปัญหานี้ราว 1 ใน 5 คน

ปรากฏการณ์ "อยากผ่าเหรอ...รอคิวไปสิ"

ในประเทศแคนาดาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉิน ราว 1 ใน 4 จะต้องรอคิวผ่าตัดตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ในขณะที่ออสเตรเลีย นอร์เวย์ สวีเดน และสหราชอาณาจักรจะพบปรากฏการณ์เช่นนี้ราว 1 ใน 5

ปรากฏการณ์ "พึ่งกระเป๋าตนเอง"

อเมริกันนำโด่งเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องควักจ่ายเองในเรื่องสุขภาพราว 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ตามมาด้วยชาวนอร์เวย์ ออสเตรเลีย และแคนาดา ไม่ห่างกันมากนัก ส่วนสหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์จ่ายกันราว 300 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

ปรากฏการณ์ "เจ้ามือหลักเรื่องรายจ่ายด้านสุขภาพ"

มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่พบว่า รัฐบาลรับผิดชอบเพียงครึ่งเดียวของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ในขณะที่ออสเตรเลียและแคนาดา รัฐบาลรับผิดชอบราว 70% ส่วนประเทศอื่นๆ นั้นรัฐดูแลไปเกินกว่า 80% ทั้งนั้น

ที่น่าสนใจมากคือ ประเทศที่มีปัญหาด้านระบบสุขภาพมากๆ อย่างอเมริกา ดูจะเป็นประเทศเดียวที่มีสัดส่วนของรายจ่ายด้านสุขภาพที่รับผิดชอบอยู่ในมือของระบบประกันเอกชนมากที่สุด ราว 35% ทิ้งห่างประเทศอื่นๆ เกินกว่า 2 เท่าขึ้นไปแทบทั้งสิ้น

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD นี้คิดเป็นราว 9% ของ GDP โดยมีอเมริกาที่นำโด่งถลุงไปถึง 17% ของ GDP ต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างมาก

ในขณะที่อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรในกลุ่มประเทศนี้คือ 80 ปี โดยมีจ้าวแห่งรายจ่ายด้านสุขภาพอย่างอเมริกาที่มีอายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 ปี แถมนำโด่งเรื่องอัตราการตายที่น่าจะป้องกันได้หากประชาชนสามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที และอัตราประชากรที่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

..................................................................................................

ดูเค้าเหล่านั้นผ่านทางสถิติข้างต้นแล้วลองหวนมาดูประเทศสารขันธ์

...ที่คนในกลุ่มอำนาจกำลังปรับประเทศให้เดินตามแบบอเมริกา

...ที่กำลังมีแนวโน้มลดทอนพลังของประชาชน ทั้งระดับบุคคลและชุมชน

...ที่กำลังทำให้กลไกประชาสังคมลดน้อยถอยลง

...ที่ส่งเสริมทุกกระบวนท่าให้แก่เอกชนกลุ่มนายทุนไม่กี่กลุ่ม

...ที่ออกข่าวว่าจะขายบริการสุขภาพให้ต่างชาติเพื่อหาเม็ดเงินเข้าประเทศโดยหลับตาไม่ยอมมองความเสี่ยงและผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้น

...ที่เห็นแนวโน้มว่า อาจกำลังเข็นให้คนในประเทศต้องควักกระเป๋าร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล จะจ่ายเอง หรือซื้อประกันเอกชน

...ที่เห็นแนวโน้มว่า นักวิชาเกินด้านประกันตีปีกพรึ่บพรั่บ เพราะเห็นหนทางเรืองรองของอาชีพประกัน และประโยชน์ที่ได้จากระบบประกันเอกชนที่จะเฟื่องฟูรองรับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในสังคม

...ที่เรารู้ว่าข้อมูลไม่ลึกแบบต่างประเทศ แต่ได้ยินมาจนชินว่า จะผ่าตัดทีนึงอาจต้องรอถึง 2 ปี

มีทางออกบ้างไหม สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งมนุษย์เงินเดือน และคนฐานะยากจน?

มีทางออกบ้างไหม สำหรับบุคลากรสุขภาพที่ตั้งใจมุ่งมั่นอยู่ในระบบสุขภาพภาครัฐ เพื่อดูแลสุขภาวะของประชาชน?

ในเมื่อเห็นอยู่แล้วว่า ทางที่กำลังโดนบังคับให้ก้าวเดินไปนั้น คือหุบเหวลึกอันมืดมิด

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แหล่งอ้างอิง

1. https://theconversation.com/

2. http://www.oecd.org/