โรงพยาบาลชุมชนศักยภาพไม่ถึงฝั่ง คนไข้รอคิวนานครึ่งวัน ผ่าไส้ติ่ง-ผ่าคลอดไม่ได้ต้องส่งต่อโรงพยาบาลศูนย์ ผู้ป่วยแบกรับความเสี่ยงในการเคลื่อนย้าย สาธารณสุขรับ ขาดบุคลากร-งบประมาณ แต่ยืนยันมุ่งพัฒนาระบบให้เขตสุขภาพทั่วประเทศเข้มแข็ง

เว็บไซต์ประชาชาติรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ หนังสือพิมพ์คณะไอซีที มหาวิทยาลัยศิลปากรว่า โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั่วประเทศกว่า 798 แห่ง ใน 12 เขตบริการสุขภาพที่ดูแลสุขภาพประชาชนประมาณ 60 ล้านคน มีแพทย์เพียง 7,086 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อผู้ป่วย 8,467 คน ห่างเกณฑ์มาตรฐาน 5 เท่า หรือ 1 ต่อ 1,500 คน เป็นเหตุให้คนไข้ต้องรอคิวนาน บางรายอาการหนักเกินขีดความสามารถของ รพช.ต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลประจำประจังหวัด

ด้านรายงานแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 ระบุปัญหาระหว่างดำเนินนโยบายว่า โรงพยาบาลชุมชนยังคงขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญ ได้แก่ บุคลากร เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงพยาบาล และเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นในการให้บริการ ตลอดจนการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ให้เป็นแม่ข่ายของโรงพยาบาลชุมชนขนาดรองลงมายังมีไม่ครบทุกเขตบริการสุขภาพ

ผู้สื่อข่าว นสพ.ลูกศิลป์สุ่มลงพื้นที่ตรวจสอบ รพช. 3 แห่ง ในจังหวัดพิจิตร 2 แห่ง และจังหวัดเพชรบุรี 1 แห่ง พบว่า โรงพยาบาลดงเจริญ จังหวัดพิจิตร ขนาด 10 เตียง มีแพทย์ประจำ 2 คน มีจำนวนประชากรในพื้นที่กว่า 20,000 คน แพทย์ต้องรักษาผู้ป่วยเฉลี่ย 60 รายต่อวัน ขณะที่โรงพยาบาลวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ขนาด 30 เตียง มีแพทย์ประจำ 4 คนต่อประชากร 30,000 คน รักษาผู้ป่วยเฉลี่ย 180 รายต่อวัน ด้านโรงพยาบาลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ขนาด 60 เตียง มีแพทย์ 13 คนต่อประชากร 68,000 คน รักษาผู้ป่วยเฉลี่ย 623 รายต่อวัน ซึ่ง รพช.ทั้ง 3 ขนาด หากมีผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดเล็ก หรือกรณี ผ่าคลอด ยังต้องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด

คนไข้โรคหัวใจรอพบหมอนาน 3-4 ชม.

นางสาวเทียม เสวกวิหารี อายุ 66 ปี ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลค่ายบางระจัน ขนาด 30 เตียง จังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยว่า การไปพบแพทย์แต่ละครั้งใช้เวลารออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง ไปรักษาแล้ว 2 ครั้ง อาการยังไม่ดีขึ้น จึงต้องขอใบส่งตัวไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพราะที่นี่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง

พญ.จุฑามาส ราโช แพทย์ทั่วไปโรงพยาบาลดงเจริญ กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของ รพช.ว่า ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงพยาบาล ศักยภาพ และเงินทุนสำหรับการเปิดรับสมัครแพทย์เฉพาะทาง หากเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีขนาดใหญ่ หรือมีจำนวนเตียงมาก โอกาสที่จะมีแพทย์เฉพาะทางก็จะมีมากตามไปด้วย

รพ.ชะอำจัดระบบหมุนเวียนหมอ

ด้าน นพ.ประกาศิต ชมชื่น รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลชะอำ กล่าวว่า โรงพยาบาลได้จัดคลินิกรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ในขณะเดียวกันได้จัดตั้งระบบการหมุนเวียนแพทย์เพื่อแบ่งเบาภาระการทำงาน

“ปัจจุบันโรงพยาบาลมีแพทย์เฉพาะทางจำนวน 6 คน แพทย์อาวุโส 4 คน แพทย์ใช้ทุนอีก 3 คน และแพทย์ที่หมุนเวียนใช้ทุนระยะสั้น 1 ปี โดยจะสลับหมุนเวียนกันอยู่เวร ตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.ประกาศิต กล่าว

พญ.ผกามาศ เพชรพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิรบารมี เปิดเผยว่า ได้ทำตาม นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้ รพช.เป็นหน่วยพยาบาลขั้นต้น ในการดูแล รักษา ป้องกัน และฟื้นฟู โดยศักยภาพ รพช.ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยวิกฤติสูงได้อยู่แล้ว เพราะไม่มีแพทย์เฉพาะทางสำหรับ รพช.ขนาด 30 เตียง

ไม่มีศักยภาพ “ผ่าไส้ติ่ง-ผ่าคลอด”

สำหรับการผ่าคลอด หรือผ่าไส้ติ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขผลักดันให้ รพช.ทำให้ได้นั้น พญ.ผกามาศ กล่าวยอมรับว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีแพทย์เฉพาะทาง สุดท้ายต้องพึ่งพาระบบการดูแลส่งต่อ

ขณะเดียวกัน ผญ.ผกามาศ ยอมรับว่าการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก็มีความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง รวมทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะอาการของคนไข้เอง ดังนั้น ด้วยขีดความสามารถที่จำกัด รพช.จึงทำได้แค่การรักษาเบื้องต้น ก่อนส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง

นพ.อัครพล คุรุศาสตรา นายแพทย์ชำนาญการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แพทย์ทุกคนที่จบหลักสูตรแพทยศาสตร์สามารถทำการผ่าตัดได้ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทีมผ่าตัดและอุปกรณ์ด้วย แต่ในระดับ รพช. ความพร้อมขึ้นอยู่กับขนาดของโรงพยาบาล ประกอบกับปัจจุบันมีการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น อีกทั้งความต้องการของผู้ป่วยที่จะรักษากับแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากไม่มั่นใจในระบบ ทำให้แนวโน้มการผ่าคลอดและผ่าไส้ติ่งใน รพช.ยังคงมีน้อยหากเทียบกับขีดความสามารถของแพทย์ที่สามารถทำได้

รองปลัด สธ.ยันมุ่งพัฒนา-เพิ่มงบฯ

นพ.อัครพลยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบท แต่เป็นโครงการที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก เพราะการผลิตแพทย์หนึ่งคนในระยะเวลา 6 ปี รัฐต้องใช้งบประมาณสูงถึง 1.8 ล้านบาท ซึ่งเมื่อแพทย์จบใหม่สำเร็จการศึกษา จะต้องไปทำงานในชนบทให้ครบตามเงื่อนไขสัญญา โดยได้รับค่าตอบแทนเพิ่มตามสมควรสำหรับการปฎิบัติงานในพื้นที่ห่างไกลด้วย

พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า กระทรวงกำลังปรับปรุงเรื่องการยกระดับ รพช.ให้รองรับการรักษาได้ดียิ่งขึ้นเพราะถือว่า รพช.เป็นหน่วยพยาบาลที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน

ด้านการจูงใจให้บุคลากรทางแพทย์ไม่ลาออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน พญ.ประนอม เปิดเผยว่า ล่าสุดปรับโครงสร้างข้าราชการ สธ.ใหม่ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากร เช่น ตำแหน่งผู้อำนวยการ รพช. ขยับเป็นข้าราชการระดับ ซี 9 ส่วนงบประมาณที่หลายฝ่ายระบุว่า ไม่ได้รับเพียงพอ กระทรวงฯ ได้จัดสรรงบประมาณให้ รพช.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณ นสพ.ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559และเว็บไซต์ประชาชาติ