ข้อเขียนชวนคิดและให้ข้อมูลเพื่อนำไปขยายต่อจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ที่นำผลการศึกษาทบทวนข้อมูลวิชาการ เพื่อหาหนทางลดการใช้บริการห้องฉุกเฉินใน รพ.เพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง โดยระบุว่า “การออกแบบระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดูแลชีวิตประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญเหลือเกิน ควรที่จะสวมหมวกเป็นแต่ละฝ่าย และค่อยๆ พิจารณา เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมจะตามมาเอง...”

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ประสบปัญหาเรื่องประชาชนมาใช้บริการห้องฉุกเฉินมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่ระบบสุขภาพที่มีอยู่จะรองรับได้ โดยทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งเรื่องบุคลากรทำงานหนักมากจนทำงานไม่ไหว ปัญหาความผิดพลาดในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศที่มากขึ้น

เค้ามีการศึกษาวิจัยกันมานาน เพื่อหาหนทางในการควบคุม ป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการทดสอบมาตรการหรือนโยบายต่างๆ ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ และได้ผลที่แตกต่างกันพอสมควร จนเริ่มสงสัยว่ามาตรการใดล่ะที่ได้รับการพิสูจน์แล้วพบว่าได้ผลจริง

จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ได้มีการศึกษาทบทวนข้อมูลวิชาการทั้งหลายอย่างเป็นระบบ และคัดเลือกเฉพาะงานวิจัยที่มีคุณภาพมาประมวลผล พบว่ามีงานวิจัย 48 เรื่องจาก 2,348 เรื่องที่เข้าท่า และมีการศึกษาดังนี้

25 เรื่องทำการศึกษาผลของมาตรการจัดระบบบริการดูแลรักษา โดยเพิ่มจำนวนคุณหมอเพื่อตรวจรักษาระดับปฐมภูมิ รวมถึงสถานพยาบาล และการขยายชั่วโมงการดูแลรักษาประชาชนมากขึ้น

6 เรื่องทำการศึกษาผลของมาตรการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อหวังจะลดอัตราการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

และ 17 เรื่องทำการศึกษาผลของมาตรการเชิงลบ ได้แก่ การสร้างกฎระเบียบเพื่อป้องกันการมาใช้บริการฉุกเฉิน รวมถึงการมีมาตรการให้ร่วมจ่ายหากมารับบริการที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล

ผลสรุปของการศึกษาทั้งหลายคือ มาตรการการจัดระบบบริการดูแลรักษาโดยเพิ่มหมอและขยายชั่วโมงการตรวจรักษา และการให้ร่วมจ่ายหากมาใช้บริการ เป็น 2 เรื่องที่ทำให้สามารถลดอัตราการมาใช้บริการฉุกเฉินที่โรงพยาบาลได้

เล่าข้อมูลวิชาการนี้มาให้เพื่อนพ้องน้องพี่ฟัง...แต่ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร เพราะบริบทของแต่ละพื้นที่ต่างกัน ทั้งในเชิงประชากร สถานการณ์ด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐาน

การออกแบบระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดูแลชีวิตประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญเหลือเกิน ควรที่จะสวมหมวกเป็นแต่ละฝ่าย และค่อยๆ พิจารณา เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมจะตามมาเอง...

ด้วยรักจาก ‘ธีระ วรธนารัตน์

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แหล่งข้อมูล:
Gemma FM et al. Effectiveness of Organizational Interventions to Reduce Emergency Department Utilization: A Systematic Review.
PLoS One. 2012; 7(5): e35903.